โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จริงหรือ อยากรวยให้บวชพระ! เปิดรายได้ ร่มกาสาวพัสตร์ ใช้ “จีวร” ตั้งตัว

TheHippoThai.com

อัพเดต 02 ต.ค. 2561 เวลา 07.02 น. • เผยแพร่ 02 ต.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

จริงหรือ อยากรวยให้บวชพระ! เปิดรายได้ ร่มกาสาวพัสตร์ ใช้ “จีวร” ตั้งตัว

ในวันที่ค่าครองชีพทุกอย่างในชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 มีจำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศมากถึง 382,000 คน (แน่นอนว่ามีที่ตกสำรวจมากกว่านี้) และยังไม่นับรวมคนที่มีงานประจำ แต่ไม่มีความสุขกับการทำงาน รวมทั้งรายได้ที่สวนทางกับความเหนื่อยที่ทุ่มเทลงไป ทำให้หลายคนกำลังมองหา ‘อาชีพใหม่’ เพื่อหวังสร้างตัว สร้างฐานะ ที่ดีขึ้นในอนาคต

ไม่แน่ว่าอาชีพใกล้ตัวอย่าง  ‘พระสงฆ์’  ที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจเป็นคำตอบที่ตรงโจทย์ที่สุดในสถานการณ์แบบนี้ เพราะกระบวนการบวชนั้นแสนง่าย ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ เพียงแค่ท่องบทคำขอบวชให้ได้ก็พอแล้ว (ต่อให้ท่องไม่ได้ ก็จะมีพระผู้ใหญ่คอยท่องนำให้อยู่ดี) 

และวันนี้ เราจะมาเปิดรายได้จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนจากการบวชในฐานะ  ‘พระใหม่’  เป็นเวลา 1 เดือน รวมกับการสำรวจข้อมูลเพิ่มจากคนใกล้ตัวที่ผ่านการบวชมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีพื้นที่การสำรวจตัวอย่าง เป็นวัดใหญ่ย่านชานเมืองหลายวัดในเขตกรุงเทพมหานคร 

วันอุปสมบท

เริ่มต้นตั้งแต่วันทำพิธีบวช ในกรณีนี้จะพูดถึงเฉพาะคนที่มีการจัดงานเชิญญาติโยมและแขกเหรื่อ มาร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อย่างเป็นทางการ 

แน่นอนว่าวิธีนี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงสักหน่อย แต่ผลประกอบการถือว่าคุ้มค่า เพราะค่าใช้จ่ายหลักๆ มีแค่ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าดำเนินการ ค่าสถานที่และปัจจัยถวายทีมสงฆ์ ในส่วนค่าดำเนินการมักใช้วิธีใส่ซองบริจาคตามกำลังศรัทธา ทำให้ต้นทุนส่วนนี้ค่อนข้างยืดหยุ่น เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5,000 - 10,000 บาท 

เมื่อถึงเวลาคำนวนรายรับ ก็มาจากที่เราได้รับได้จากซองบริจาคอีกเช่นกัน ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนและกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธาของผู้ที่มาร่วมงาน ซึ่งถ้านับจากประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนเคยผ่านพิธีอุปสมบทแบบนี้มาเช่นกัน รายได้สุทธิจากซองของคนที่มาร่วมงาน นั้นจบลงที่ประมาณ 25,000 บาท (ค่าเฉลี่ยแต่ละซองอยู่ที่ 300-1,000 บาท บางคนให้ค่าเงินตรงนี้มากกว่าเงินที่ใส่ซองในงานแต่งงาน) 

เมื่อหักต้นทุน 10,000 บาทออกไป เท่ากับว่าเราสามารถทำเงินไปได้ตั้งแต่วันแรกแล้วอย่างน้อย 15,000 บาทเต็มๆ (จากการสอบถามค่าเฉลี่ยของคนอื่นอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อาจมีบ้างในบางรายที่ลงทุนจัดงานใหญ่โต มีขบวนแห่ วงดนตรี โต๊ะจีนเต็มสูบ ที่อาจถึงขั้นขาดทุนไปเลยก็มี)

ยามเช้าออกบิณฑบาต

ต้นทุนของภารกิจนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากความเหนื่อยกับเท้าของเราที่อาจจะเจ็บและพองสักหน่อยในช่วงแรก แต่รายรับที่กลับมานี่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการตื่นเช้าและเดินทางไกลเป็นอย่างมาก แต่จุดนี้อาจจะต้องใช้ดวงสักหน่อย เพราะรายได้ของเราจะแปรผันตรงกับเส้นทางที่เราเดินสายบิณฑบาตเป็นสำคัญ

ตัวผู้เขียนได้เส้นทางที่จัดว่าอยู่ในระดับกลาง ในระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีผู้มีจิตศรัทธา (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ที่รอใส่บาตร (พร้อมปัจจัย) ทุกวันประมาณ 10 บ้าน ซึ่งค่าเฉลี่ยของปัจจัยแต่ละบ้านจะอยู่ 20-50 บาท รวมๆ แล้วหนึ่งวันจะมีรายได้ค่อนข้างแน่นอนประมาณ 300 บาท (มีพระสงฆ์บางรูปที่โชคดี ผ่านเส้นทางที่มีผู้มีฐานะและใจบุญออกมารอใส่บาตรพร้อมกับปัจจัยใส่ซองอีก 500 บาท! เป็นประจำทุกวัน)

ที่เหลือคือผู้มีจิตศรัทธาขาจร ที่มักจะออกมารอใส่บาตรในโอกาสสำคัญต่างๆ เมื่อรวมกับส่วนของขาประจำเข้าไป ทำให้รายได้เฉลี่ยของการออกบิณฑบาตช่วงเช้า ที่ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 2-3 ชั่วโมงจะตกอยู่ที่วันละ 500 บาท

ทำบุญเลี้ยงพระนอกสถานที่ 

หลังจากบิณฑบาตกลับมาเสร็จ ก็จะเข้าสู่ช่วงออกงานนอกสถานที่ เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ ขึ้นบ้านใหม่ รถใหม่ ทำบุญครบรอบโอกาสสำคัญ นับว่าเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญที่ปัจจัยจากบางงาน อาจเท่ากับหรือมากกว่าปัจจัยที่ได้รับจากการบิณฑบาตตลอดเช้าเลยก็ได้ ยิ่งคนจัดงานมีฐานะ หรือเป็นโอกาสสำคัญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับปัจจัยสูงขึ้นตามไปด้วย ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 200-500 บาท แต่ส่วนมากเท่าที่ผู้เขียนเคยผ่านมาจะมากกว่า 500 บาททุกครั้ง

สวดพระอภิธรรม

อีกหนึ่งโอกาสทองของพระบวชใหม่ โดยเฉพาะในวัดใหญ่ประจำเขต หรือประจำจังหวัด ที่เรียกได้ว่าแทบจะมีผู้เสียชีวิต มาทำพิธีที่วัดแทบทุกวัน จนจำนวนพระสงฆ์อาวุโสไม่พอให้บริการ 

แต่รายได้ตรงนี้อาจจะต้องพึ่งโชคอีกสักหน่อย เพราะความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับ เพราะฉะนั้นปัจจัยในซองแต่ละงานก็จะแปรผันตามฐานะครอบครัวของผู้เสียชีวิตไปด้วย 

ส่วนตัวผู้เขียน เคยผ่านทั้งงานสวดที่ไม่มีปัจจัยใส่ซองสักบาท ไปจนถึงงานที่การันตี ‘แบงค์สีเทา’ ตลอดไปจนถึงวันงานฌาปนกิจศพมาแล้ว 

สรุปผลประกอบการ

เริ่มต้นที่ตัวผู้เขียนเอง ในฐานะพระใหม่ที่ใช้เวลาบวชทั้งหมด 1 เดือนเต็ม มีรายได้ตั้งต้นคือ 15,000 บาท จากวันอุปสมบท รายได้จากการบิณฑบาตรวันละ 500 x 25 (หักวันพระใหญ่ที่ไม่ออกบิณฑบาต แต่จะรอญาติโยมมาทำบุญที่วัด) = 12,500 บาท รายได้จากการ ทำบุญเลี้ยงพระนอกสถานที่ ที่ได้ออกงานประมาณ 10 ครั้ง x 500 บาท = 5000 บาท รายได้จากสวดพระอภิธรรม ประมาณ 10 ครั้ง ประมาณ 7,500 บาท รวมทั้งอยู่ที่ 40,000 บาท โดยประมาณ! 

ทีนี้ลองคิดถึงพระสงฆ์ที่ครองพรรษามาก่อนผู้เขียน ที่คิดว่ามีงานทำบุญเลี้ยงพระนอกสถานที่ กับสวดพระอภิธรรม งานละ 20 วัน ต่อเดือน เฉลี่ยปัจจัยในซองงานละ 500 บาท เท่ากับว่า พระสงฆ์รูปนั้นจะมีรายได้เพิ่มจากพระบวชใหม่อย่างผู้เขียนอีก 20,000 บาท! 

นอกจากนี้ยังมีในส่วนงานถวายเพลและสังฆทานประจำวัด ที่สงวนไว้ให้ ‘พระผู้ใหญ่’ ที่ครองพรรษามานาน หรือต้องเป็นระดับเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาสเท่านั้น เรียกว่าเป็นงานที่สบายที่สุด เพราะไม่ต้องทำอะไรมาก แค่นั่งรอเฉยๆ ก็มีญาติโยม จำนวนมาก มารอเข้าคิวถวายอาหารเพล สังฆทาน และเงินปัจจัยเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 ครอบครัวในทุกๆ วัน (คิดภาพในวันที่คนเยอะมาก จนเราต้องล้อมวงถวายเพลพร้อมกับครอบครัวอื่นที่มาพร้อมกัน) 

ผู้เขียนเคยนับเล่นๆ ระหว่างที่บวชได้ว่ามีจำนวนคนมารอใช้บริการบุญด่วนตรงนี้มากสุดถึง 50 คนในหนึ่งวัน! โดยเฉพาะวันมงคล วันฤกษ์ดี วันสำคัญทางศาสนา ที่จะมีคนเข้ามารอต่อคิวรับ ‘บุญด่วน’ กันแบบไม่หยุด จนกลายเป็นรายได้ที่ไม่อาจคำนวนออกมาได้จริงๆ 

ยังไม่พูดถึงพระสงฆ์ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการดูดวง ปลุกเสกของขลัง วัตถุมงคง ฯลฯ ที่จะยกระดับรายได้จากพระทั่วไปได้อีกเป็นจำนวนมหาศาล ตามดีกรีชื่อเสียงสร้างสมกันมา จนนับเงินกันไม่หวาดไหว 

เรียกว่าเป็นงานสบาย รายได้ดี ไม่ต้องเสียภาษี  มี Passive Income ที่ไม่ต้องไปเข้าคอร์ส อบรมราคาแพงที่ไหน และทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ทันที! เพราะกระบวนการบวชนั้นแสนง่าย ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ เพียงแค่ท่องบทคำขอบวชให้ได้ก็พอแล้ว (ต่อให้ท่องไม่ได้ ก็จะมีพระผู้ใหญ่คอยท่องนำให้อยู่ดี) 

ข้อย้ำว่า บทความไม่ได้มีเจตนาในการทำลายคนในองค์กรพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพราะยังมีพระสงฆ์อีกเป็นจำนวนมาก ที่มุ่งเผยแพร่พระธรรมคำสอน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจึดใจของคนในสังคมด้วยวัตรปฏิบัติอันเป็นเลิศ

แต่อย่างน้อย การ ‘รู้เท่าทัน’ ถึงรายได้ของคนที่เข้ามาหวังตั้งตัวจากการเป็นพระสงฆ์ และนำปัจจัยแห่งความศรัทธา ไปบริจาคให้กับวัดเล็กๆ หรือกลุ่มองค์กรเด็กยากไร้ และผู้ขาดโอกาสอีกมากมาย  ก็น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ใจบุญทั้งหลาย ได้ทั้ง ‘บุญ’ และ ‘สร้างประโยชน์’ ให้กับสังคมได้อย่างตรงจุดจริงๆ มากขึ้น 

 

อ้างอิง

https://workpointnews.com/2018/08/07/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%81-%E0%B8%84-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80/

รูปภาพจากhttp://108resources.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3-%E0%B8%97/

3minutesfood

www.kasavapat.com/product/537

www.lewreath.com/ข้อปฏิบัติเวลาไปงานศพ/

โพสต์ทูเดย์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0