โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

9/11แห่งโลกน้ำมัน?

สยามรัฐ

อัพเดต 17 ก.ย 2562 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
9/11แห่งโลกน้ำมัน?

ตื่นตระหนก ช็อกโลก กันอีกคำรบ

สำหรับ เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามรายงานที่ปรากฏในหน้าข่าว ก็ระบุว่า ผู้ลงมือใช้ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ขนาดเล็ก จำนวน 10 ลำ เป็น “อาวุธ” บินมาถล่มพุ่งชน “โรงกลั่นน้ำมันระดับชั้นนำ 2 แห่ง” ของ “ซาอุดีอาระเบีย” หรืออาจจะกล่าวได้ว่า “ชั้นนำระดับโลก” เลยก็ว่าได้ ในฐานะเป็นแหล่งป้อนพลังงานออกสู่ตลาดโลก สำหรับสองโรงกลั่นน้ำมันที่ตกเป็นเป้าโจมตี

ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันบริเวณใกล้แหล่งขุดเจาะน้ำมันคูราอิส (Khura oil field) บ่อน้ำมันที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ห่างจากกรุงริยาดห์ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ไปทางตะวันออกราว 160 กิโลเมตร และโรงกลั่นน้ำมันอับเคก หรือบางสำเนียงอาหรับอ่านว่า “อับกอยก์ (Abqaiq)” ของบริษัทอารามโก รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของทางการซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดทางตะวันออกของประเทศเช่นกัน

โดยยุทธวิธีที่กลุ่มคนร้ายใช้ถล่ม เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า คล้ายฉากเหตุการณ์ในเหตุวินาศกรรม 11 กันยาฯ หรือ 9/11 ที่ขบวนการก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง “อัล กออิดะฮ์” ภายใต้การนำของ “นายอุสมะฮ์ บิน ลาเดน” ใช้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้วกันอย่างไรอย่างนั้น

ภายหลังเกิดเหตุ ทาง “ฮูธี” กองกำลังติดอาวุธของพวกมุสลิมนิกายชีอะฮ์ในประเทศเยเมน ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏโค่นล้มรัฐบาลเยเมนกันไปก่อนหน้า ภายใต้การสนับสนุนของอิหร่าน ในฐานะที่เป็นชีอะฮ์ด้วยกัน ได้ออกมาอ้างประกาศศักดาว่า เป็นผู้ลงมือในปฏิบัติการสะท้านขวัญชาวโลกในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่างประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิหร่านในปฏิบัติการโจมตีที่มีขึ้น

พร้อมกันนั้น ทางประธานาธิบดีทรัมป์ ยังระบุด้วยว่า ได้ล็อคเป้าหมายการโจมตีทางทหาร เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่ซาอุดีอาระเบีย ถูกปองร้ายในการผลิตน้ำมัน ซึ่งทางการสหรัฐฯ เชื่อว่า เป็นฝีมือของใคร โดยในที่นี้ก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็นอิหร่าน นั่นเอง

ทั้งนี้ ก็ต้องถือเป็นครั้งแรกของท่าทีผู้นำสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะใช้กำลังทหาร เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามใช้โดรนมาก่อเหตุร้าย

ย้อนกลับไปยังสถานการณ์ช็อกโลกที่บังเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บนแผ่นดินของซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในมหาอำนาจใหญ่แห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง บรรดานักวิเคราะห์ต่างออกมา เรียกขานเชิงเปรียบเทียบว่า เป็นเหตุ “วินาศกรรม 11 กันยาฯแห่งโลกน้ำมัน (9/11 of Oil World)”

พร้อมมีทรรศนะแสดงความวิตกกังวลทั้งต่อ “เศรษฐกิจโลก” ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ส่งสัญญาณว่าจะทะยานพุ่งสูงขึ้น

โดยทันทีที่โดรนลำน้อยทั้ง 10 ลำ แห่มาประจัญบานพุ่งชนสองโรงกลั่นน้ำมันของซาอุฯ จนเป็นเหตุให้การป้อนน้ำมันสู่ตลาดโลกลดลงไปถึงร้อยละ 6 ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไปทันทีถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะที่ตลาดเบรนต์ทะเลเหนือ อังกฤษ ฝั่งยุโรป ราคาขึ้นไปแตะที่ 67.31 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ ตลาดเวสต์เทกซัส ราคาขึ้นไปทดสอบที่บาร์เรลละ 60.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ นายเกร็ก นิวแมน ซีอีโอร่วมของ “โอนิกซ์ คอมโมดิตีส์” ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า หากความเสียหายของสองโรงกลั่นน้ำมันในซาอุฯ มีสภาพยับเยิน จนต้องใช้เวลาการแก้ไขซ่อมแซงนานนับสัปดาห์ หรือนับเดือน โลกก็อาจจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปแตะที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลกันอีกครั้ง โดยเมื่อกล่าวถึงความสำคัญของซาอุฯ ต่อการป้อนน้ำมันสู่ตลาดโลก ก็อยู่ที่วันที่ 12.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 – 6 ของทั้งหมดเลยทีเดียว

ใช่แต่เท่านั้น บรรดานักวิเคราะห์ยังแสดงทรรศนะวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือ การใช้กำลังทหาร หรืออาวุธสงครามตอบโต้ จากการที่ทางการสหรัฐฯ ออกมาส่งสัญญาณ ซึ่งปรากฏว่า ทางอิหร่าน ก็ออกอาการไม่ยอมกันอย่างหากลัวไม่ ที่พร้อมจะตอบโต้ต่อสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างซาอุฯ เอาไว้ด้วยเช่นกัน ถึงขนาดที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องออกมาติงเตือนให้อดทนอดกลั้นด้วยเป็นห่วงยิ่งต่ออารมณ์ที่พร้อมเผชิญหน้าของแต่ละฝ่าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0