โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

9 ลักษณะ พ่อแม่ทำร้ายลูก เสี่ยงเป็น 'โรคติดเกม'

MATICHON ONLINE

อัพเดต 20 พ.ค. 2562 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 03.56 น.
ภาพจากละคร
ขอบคุณภาพจากละครวัยแสบสาแหรกขาด

มีผู้ปกครองจำนวนมากที่เข้าพบกับจิตแพทย์เพื่อปรึกษาวิธีการเลี้ยงดูลูก แต่กลับลืมไปว่า “ผู้ปกครอง” เองนั่นแหละที่เป็น “ตัวอย่าง” (Model) ที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมการติดเกมของเด็ก ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่าหากไม่อยากให้ลูกติดเกม ผู้ปกครองก็ควรหลีกเลี่ยงลักษณะพฤติกรรม ดังนี้

1.พ่อแม่ที่ทำตัวยุ่งตลอดเวลา (Busy) จนกระทั่งไม่มีเวลาทำความรู้จักลูก ไม่รู้ว่าลูกอยู่ในวัยไหน และเด็กวัยนี้ต้องการอะไร ปัญหาอุปสรรคที่เขาต้องเจอ หรือความเครียดของเขามีอะไรบ้าง ถ้าพ่อแม่ยุ่งเกินไปสิ่งที่ลูกจะทำก็คือไปหาคนอื่น เพราะพ่อแม่ไม่ได้พร้อมที่จะอยู่ใกล้เคียงเขา

2.พ่อแม่ที่รู้ไม่เท่าทัน มองเกมด้านเดียวคือมอบความสนุก และหยิบยื่นให้ลูกผ่านสมาร์ทโฟน เพราะกลัวลูกตกเทรนด์ เดี๋ยวคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง จึงขาดกลไกการป้องกันการติดเกม ทั้งยังไม่กำหนดข้อตกลง และระเบียบวินัยก่อนเล่นเกมด้วย
3.พ่อแม่ที่มักจะขี้ใจอ่อน เวลาที่ลูกมาขอ มาต่อรองเพื่อเล่นเกม ก็มักจะยอม เพราะกลัวอารมณ์ลูก กลัวลูกจะงอน โกรธ กรี๊ด และอาละวาด บางครั้งโดนลูกขู่ว่าไม่รักแล้ว พ่อแม่หลายคนก็จะรู้สึกผิดว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี ไม่ได้อยู่ดูแลลูก ไม่สนิทกับลูก พ่อแม่กลุ่มนี้จึงซื้อใจด้วยการยอมให้เล่น
4.พ่อแม่ที่ละเลยเรื่องระเบียบวินัย ยื่นโทรศัพท์ให้ลูกก่อน แล้วค่อยมาคุยทีหลังว่าเล่นแค่นี้พอนะ แต่ไม่ตกลงกันก่อน

5.พ่อแม่ที่ขัดแย้งกัน พ่อไปทางแม่ไปทาง กล่าวคือ พ่ออาจจะตามใจลูก แต่แม่เน้นเรื่องระเบียบวินัย พอคิดเห็นไม่ตรงกันก็ถกเถียงต่อหน้าลูก

6.พ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกเสียเอง เช่น กลับมาจากงานก็ก้มเล่นโทรศัพท์ หรือพ่อที่เล่นแต่เกม เล่นเกมให้ลูกเห็นแต่ไม่ได้เล่นเกมกับลูก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ดึงลูกให้มามีปฏิสัมพันธ์กับตัวเอง
7.พ่อแม่ที่ละเลยการสอนลูกใช้ชีวิตอีกด้านหนึ่งที่เขาสามารถสนุกได้เหมือนกัน หรืออาจจะดีกว่าเล่นเกม กล่าวคือพ่อแม่ที่ไม่เคยสอนลูกให้รู้เลยว่ามีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และให้ความรู้สึกสนุก ได้รับการยอมรับ สร้างความภาคภูมิใจ เพราะเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้ต้องการ พอเขาหาผลลัพธ์แบบนี้ไม่ได้ในชีวิตจริง จึงไปแสวงหาจากในเกม เพราะในเกมตอบโจทย์ทุกข้อ ทั้งสนุก ได้เพื่อน ภูมิใจที่ตัวเองมีประโยชน์ให้กับเพื่อนในทีม ตลอดจนได้รับการยอมรับ และมีตัวตน
8.พ่อแม่ที่สื่อสารกับลูกไม่เป็น ชอบจับผิด เห็นอะไรไม่ชอบก็ตำหนิไว้ก่อน หรือใช้วิธีบ่นกระปอดกระแปด แต่ไม่เอาจริง ด้วยต้องการให้ลูกรำคาญแล้วเลิกเล่นไปเอง พอเห็นว่าได้ผลก็ยิ่งได้ใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ลูกจึงเรียนรู้ที่จะไม่รับฟัง

9.พ่อแม่ที่ไม่ติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะมาช่วยกำกับดูแลพฤติกรรมการเล่นเกมของลูก เพราะในปัจจุบันจะมีแอพพ์จำพวก Parental Control มากมาย ทั้งของไทยและต่างประเทศ

อย่าเป็นพ่อแม่รังแกฉัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0