โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

8 ประเด็นเร่งด่วน! การบ้าน "อาเซียนซัมมิท"

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 08.05 น.

 

ไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนเพื่อผลักดัน “AEC Blueprint 2025 (ปี 2559-2568)” ในระยะ 10 ปี

การเป็นประธานอาเซียน10 ประเทศอาเซียนจะผลัดเปลี่ยนกันไปไล่เรียงตามตัวอักษร ปี 2559 สปป.ลาวเป็นประธาน ได้ดำเนินการระบบค้นหาข้อมูลภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันของสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียน การจัดทำกรอบแนวทางสำหรับสมาชิกอาเซียนเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลาง ย่อมและรายย่อย (MSMEs) และแผนงานการให้บริการของภาครัฐในการเริ่มต้นธุรกิจ

 ส่วนปี 2560 ฟิลิปปินส์เป็นประธาน ดำเนินการประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริม MSMEs และประเด็นใหม่ๆ เช่น การค้าบริการ นวัตกรรมและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยผลักดันให้อาเซียนใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-wide Self-Certification Scheme) และปี 2561 สิงคโปร์เป็นประธานเน้นการเชื่อมโยงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียน การรวมกลุ่มการค้าบริการและการลงทุนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับภายนอกอาเซียน

จะเห็นได้ว่าในระยะ 3 ปีของการเป็นประธานอาเซียน พอจะสรุปประเด็นหลักคือ 1. การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความเข้มแข็งของ SMEs และความสัมพันธ์กับภายนอกกลุ่มอาเซียน

ทั้งนี้เวลาผมจะพูดถึงความร่วมมือของอาเซียน ผมจะเน้น 3 Connectivity หรือ “3 C” ประกอบด้วย C ตัวที่หนึ่งคือการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) ที่เป็นการเชื่อมโยงทางถนน หนทางต่างๆ ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งอาเซียนได้เชื่อมโยงเกือบหมด 100% ยกเว้นเส้นทางรถไฟ ที่ยังขาดบางช่วงบางตอนในบางประเทศ C ตัวที่สองคือการเชื่อมโยงกฎระเบียบและกติการะหว่างกัน (Institutional Connectivity) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทั้งอาเซียน และ C ตัวสุดท้ายคือการเชื่อมโยงของคน (People Connectivity) การเชื่อมโยงอันนี้ถือว่ายังน้อยมาก ที่เห็นชัดๆ มีแต่แรงงานของประเทศ CLMV เข้าไปทำงานในประเทศอาเซียนเก่า บัณฑิตที่จบมาใหม่ ๆ ของไทยและอาเซียนยังไปทำงานในประเทศอาเซียนน้อย

สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย ประเด็นเร่งด่วนที่อาเซียนต้องช่วยกันคิดในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าได้แก่ 1.ผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อการลงทุนโดยตรง(FDI) ของจีนที่จะเข้ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาเซียนน่าจะใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับจีนในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของอาเซียนไม่ใช่มาเพียงแต่ “การย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกภาษีสหรัฐฯ” นอกจากนี้สินค้าจีนทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมจะเข้ามาอาเซียนมากขึ้น อาเซียนจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะจะกระทบต่อราคาสินค้าของอาเซียนแน่

2.ผลักดันห่วงโซ่การผลิตอาเซียน (ASEAN Supply Chain) ของอุตสาหกรรมอาเซียนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพึงพิงวัตถุดิบระหว่างกันมากขึ้น 3. ผลักดันการค้าพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ข้ามแดน (ASEAN Cross Border E-Commerce) เพื่อให้คนอาเซียนซื้อขายสินค้ากันง่ายขึ้น โดยได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีของแต่ละประเทศต่ำกว่าปกติ ใน 1 ปีไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี 4. ผลักดันความตกลงการค้าเสรี(FTA) ใหม่ กับ 3 ประเทศคู่ค้าเก่าและใหม่คือการเจรจา FTA อาเซียนกับสหภาพยุโรป (ปัจจุบันมีแต่เวียดนามกับสิงคโปร์) FTA อาเซียนกับสหราชอาณาจักร และ FTA อาเซียนกับสหรัฐฯ (ปัจจุบันมีแต่สิงคโปร์)

5. ผลักดัน FTA เก่า อาเซียนต้องเร่งผลักดันของความร่วมมือในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) คือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อรวมกันกับพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน 6.สกุลเงินท้องถิ่น ไทยและอาเซียนมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะการค้าบริเวณชายแดน ที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุล 3 สกุลคือ เงินบาท เงินหยวน และเงินสกุลของประเทศชายแดน โดยเฉพาะกับประเทศ CLMV

7.ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น การทิ้งถุงพลาสติกลงในทะเล ซึ่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำของอาเซียน ซึ่งหนีไม่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของอาเซียน หรือกรณี “Zero Palm Oil” ของยุโรป ที่ระบุว่าการพลังงานจากน้ำมันปาล์มเหลือ 0% ในปี 2030 หรือที่เรียกว่า “Zero Palm Oil” นั้นหมายความว่าในอีก 12 ปีข้างหน้าปาล์มน้ำมันจากอาเซียนไม่สามารถส่งไปขายในยุโรปได้อีกต่อไป ซึ่งหมายถึงน้ำมันปาล์มจาก 3 ประเทศผู้ผลิตหลักของโลกคืออินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

8.ผลักดันมาตรฐานสินค้าอาเซียน (ASEAN Standard) ให้เป็นรูปธรรม เพื่อจะไม่ให้กลายเป็นประเด็นในการกีดกันที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน การมีมาตรฐานสินค้าของประเทศอาเซียนหนึ่งจะต้องไม่ถูกตรวจซ้ำในอีกประเทศหนึ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0