โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

8 คำพูดของเด็กที่ถูกสปอยล์

Mood of the Motherhood

อัพเดต 18 มี.ค. 2562 เวลา 12.25 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 12.30 น. • Features

การสปอยล์ลูก คือการทำให้ลูกได้ในสิ่งที่ต้องการอย่างไม่มีเหตุผล หรือตามใจลูกเกินไป โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ว่าการตามใจและเอาใจลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีนิสัยไม่น่ารัก

เด็กเรียนรู้ได้มากกว่าที่เราคิด เมื่อไรก็ตามที่ลงไปนอนดิ้นกับพื้น แล้วพ่อแม่ตามใจ หรือพ่อแม่บางคนกลัวลูกไม่รัก และต้องการตัดความรำคาญด้วยการตามใจ หรือตอบสนองความต้องการของลูกทันที เด็กก็จะยิ่งจดจำวิธีการเหล่านั้นและนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเลี้ยงลูกแบบสปอยล์เกินไปหรือเปล่า ลองสังเกตจากคำพูดที่ลูกใช้ตอบโต้ หรือบอกความต้องการของตัวเองดู ดังนี้

1. ‘หนูอยากได้เดี๋ยวนี้’

เพราะได้ยินคำว่า ‘ได้จ้ะ’ จากคุณพ่อคุณแม่เสมอ ทำให้ลูกไม่มีความอดทนที่จะรอคอย เมื่อไรที่ถูกปล่อยให้รอก็จะแสดงอาการหงุดหงิด ชักสีหน้า ร้องไห้โวยวาย และออกคำสั่งว่าตัวเองกำลังต้องการอะไรตลอดเวลา

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ ก็คือการปฏิเสธลูกบ้าง รวมถึงสอนให้ลูกรู้จักการรอคอย

2. ‘ไม่ทำ หนูขี้เกียจ’

เพราะได้ทุกอย่างที่ต้องการมาอย่างง่ายดาย จนลูกคิดว่าจะเหนื่อยไปทำไม สุดท้ายพ่อแม่ก็ทำให้อยู่ดี จนสะสมเป็นความขี้เกียจ และไม่ยอมทำอะไรเอง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ ให้ลูกช่วยทำงานบ้านตั้งแต่ยังเล็กตามวัย ยกตัวอย่างเช่น เก็บของเล่นของตัวเอง หรือวางรองเท้าให้เป็นระเบียบ สอนให้ลูกรู้ว่าถ้าต้องการอะไร ต้องทำงานถึงจะได้มา

3. ‘ใครอยากทำก็ทำเองสิ’

เกิดจากปัญหาเล็กๆ เช่น เล่นแล้วไม่เก็บของเข้าที่ มีคุณพ่อคุณแม่และพี่เลี้ยงคอยตามเก็บให้ตลอด จนลูกคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำ มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ตลอด

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ สอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อไรก็ตามที่สร้างปัญหาขึ้นมา ลูกต้องเป็นคนรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงสอนให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกไปได้ตลอดชีวิต ลูกต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเอง

4. ‘หนูอยากได้ เพื่อนๆ ทุกคนมีกันหมดเลย’

พอเห็นว่าเด็กคนอื่นมี ลูกก็อยากมีบ้าง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ ก็คือ สอนให้ลูกรู้ว่าเงินไม่ได้หามาง่ายๆ และลูกไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเหมือนเพื่อน แต่ให้ดูจากความเหมาะสมของตัวเอง

5. ‘หนูจะเอา!’

ลูกแสดงอาการร้องไห้ กรีดร้อง ลงไปนอนดิ้นกับพื้น เพื่อเรียกร้องความสนใจและได้ของเล่นหรือขนมที่อยากได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ให้สิ่งของกับลูกทันทีเพื่อตัดปัญหา ยิ่งทำให้ลูกเคยชินและทำซ้ำแล้วซ้ำอีก

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ สอนให้รู้จักระเบียบวินัย ความอดทน การรอคอย ไม่ใช้ลูกร้องไห้ก็เข้าไปโอ๋ทันที และหากลูกร้องไห้ลงไปดิ้นกับพื้น คุณแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้ ตัดใจเดินหนีออกมา และปล่อยให้ลูกร้องไห้โวยวายไป แล้วลูกจะรู้เองว่าพฤติกรรมที่เขาทำนั้น ไม่ได้ผล

6. ‘ถ้าเก็บของเล่นเสร็จแล้ว ต้องพาหนูไปเที่ยวนะ’

เมื่อไหร่ที่ลูกไม่ยอมทำตามหน้าที่ของตัวเอง เช่น ไม่ยอมเก็บของเล่นเข้าที่ เมื่อคุณแม่บอกให้เก็บ ลูกแสดงแสดงท่าทีดื้อรั้น และเสนอข้อแลกเปลี่ยนออกมา ให้คุณแม่ทำตามก่อนถึงจะยอมเก็บของเล่น หากคุณแม่ยอมรับข้อเสนอ ยิ่งทำให้ลูกร้องขอเรื่องต่างๆ อีกไม่จบสิ้นและไม่รู้จักพอ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ สอนให้ลูกยอมรับว่านี่คือหน้าที่ของลูกมากกว่าใช้เงื่อนไขเพื่อแลกเปลี่ยน

7. ‘คุณแม่ต้องอยู่เล่นกับหนู’

เด็กอายุตั้งแต่สี่ขวบ ควรจะสามารถเล่นอยู่คนเดียวตามลำพังได้  แต่ถ้าลูกต้องการให้มีคนสนใจอยู่ตลอดเวลา โดยไม่สนใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะงานยุ่งแค่ไหน

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ สอนให้รู้ว่าทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง และถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำงานเสร็จแล้วจะมาเล่นด้วย

8. ‘แล้วทีแม่ยังทำเลย…’

ลูกที่ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง แต่กลับหาข้ออ้าง เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่คุณตำหนิและต่อว่า หากลูกมีเหตุผลของตัวเองจะอธิบาย ต้องรู้จักใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง แทนที่จะปฏิเสธและไม่ยอมรับฟังคำพูดของคนอื่น

อ้างอิง

Theasianparent

Amarinbabyandkids

Women

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0