โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

75%ของคนวัยหนุ่มสาวต้องการที่จะหนีไปจาก ‘นรก’ เกาหลีใต้

Manager Online

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 15.15 น. • MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

75% of young want to escape South Korean ‘Hell’

By Andrew Salmon, Seoul

31/12/2019

ผลการสำรวจที่เผยแพร่กันเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งคนสาวและคนหนุ่มชาวเกาหลีใต้ถึงสามในสี่ทีเดียว ต้องการที่จะออกไปจากประเทศซึ่งพวกเขาเรียกกันตลกๆ ว่าเป็น “นรก” ความคิดเห็นเช่นนี้เป็นการสะท้อนความทุกข์ของชนชั้นกลางซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก, เป็นอาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นเฉพาะในแดนโสม, --หรือว่าเป็นเพียงการพูดจาเจ๊าะแจ๊ะผิวเผินเท่านั้น?

เมื่อมองดูจากจุดที่ห่างไกลออกไป ชาวเกาหลีใต้อาจจะดูเหมือนเป็นพวกคนมีบุญผู้ได้รับพรอันประเสริฐ หากเปรียบเทียบกับผู้คนในเอเชียตะวันออกด้วยกัน

ลองคิดดูเถอะ พวกเขาเป็นพลเมืองของชาติประชาธิปไตยที่มั่งคั่งรุ่งเรือง ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จจากกำเนิดอันต่ำต้อยแต่สามารถก้าวขึ้นสู่ฐานะอันสำคัญในระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็วของประเทศนี้ได้รับการเล่าขานอย่างน่าภาคภูมิใจ พวกเขายังมีแบรนด์ภาคบริษัทธุรกิจที่สามารถแข่งขันกับใครๆ ในทั่วพิภพ มีโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก้าวหน้าอุดมด้วยสีสันของอนาคต อีกครั้งมีจักรวาล เค-ป็อป อันเต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์ซึ่งเป็นที่รักใคร่ชื่นชอบตลอดทั่วภูมิภาคและกระทั่งทั่วโลก พวกเขาสามารถอวดโอ่ให้เป็นที่อิจฉาริษยาได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะภายนอก, ไลฟ์สไตล์, และคุณภาพชีวิต

แต่เมื่อเพ่งพินิจกันให้ใกล้ชิดแล้ว สิ่งต่างๆ กลับดูแตกต่างออกไป จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในแดนโสมขาว 5,000 คนเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า 75% ของผู้คนในวัยระหว่าง 19-34 ปีของชาติมั่งคั่งร่ำรวยเป็นอันดับที่ 11 ของโลกแห่งนี้ บอกว่าต้องการออกไปจากประเทศ

ผลโพลอันชวนช็อกนี้ ซึ่งรายงานเอาไว้ในฮันเคียวเรห์ (Hankyoreh) หนังสือพิมพ์ขายดีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/922522.html) ได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรก ณ เวทีประชุมนโยบายความเสมอภาคทางเพศภาวะครั้งที่ 119 (119th Gender Equality Policy Forum) ของสถาบันการพัฒนาสตรีเกาหลี (Korea Women’s Development Institute) ในการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “การวินิจฉัยความขัดแย้งทางเพศภาวะจากจุดยืนของเยาวชน และนโยบายตอบสนองที่ขอเสนอแนะเพื่อให้เกิดรัฐซึ่งต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้าร่วม: บทวิเคราะห์ทางเพศภาวะเกี่ยวกับความรับรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม” (Diagnosis of Gender Conflicts from a Youth Standpoint and Suggested Policy Responses for an Inclusive State: A Gender Analysis of Fairness Perceptions)

ผลการสำรวจคราวนี้ค้นพบว่า 79.1% ของหญิงวัยเยาว์ และ 72.1% ของชายวัยเยาว์ ต้องการที่จะออกไปจากเกาหลี ขณะที่ 83.1% ของหญิงวัยเยาว์ และ 78.4% ของชายวัยเยาว์ มองเห็นเกาหลีเป็น “นรก” และ 29.8% ของหญิงวัยเยาว์ กับ 34.1% ของชายวัยเยาว์ เห็นว่าพวกเขาเองเป็น “พวกขี้แพ้”

นอกเหนือจากความแตกต่างทางเพศภาวะแล้ว ผลสำรวจนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากมายมีความไม่พึงพอใจกับชีวิตในท้องถิ่น

แต่ผลโพลเช่นนี้จะถึงกับเรียกร้องให้พวกชนชั้นนำของโซลต้องนั่งลงและขบคิดไตร่ตรองอย่างจริงจังในเรื่อง “ความฝันของชาวเกาหลี” (Korean Dream) หรือไม่? หรือว่ามันเป็นเพียงแค่การสะท้อนให้เห็นถึงการพูดจาเจ๊าะแจ๊ะแบบตื้นๆ ผิวเผินในหมู่เยาวชนผู้ซึ่งมีชีวิตที่ดีพอสมควรอยู่แล้ว และไม่ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะผละจากประเทศไปหรอก?

‘นรกโชซ็อน’

มีวลีซึ่งกลายเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในหมู่ชาวเกาหลีหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เมื่อต้องการพูดถึงประเทศชาติของพวกเขา ได้แก่วลีที่ว่า “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon) ทั้งนี้ “โชซ็อน” เป็นชื่อของราชอาณาจักรโบราณของเกาหลีซึ่งล่มสลายไปนานแล้ว แต่วลีนี้กำลังถูกลบรัศมีด้วยคำๆ ใหม่ที่พูดกันว่า “ตัล-โช” (Tal-Jo) ซึ่งเป็นการนำเอาคำ 2 คำมาเชื่อมกัน ได้แก่คำว่า “ทิ้ง, ออกไป” และ “โชซ็อน” ดังนั้นหากจะแปลกันในแบบภาษาชีวิตประจำวันแล้ว คำแปลที่ดีที่สุดสำหรับ “ตัล-โช” อาจจะได้แก่ “หนีไปจากนรก” (Escape Hell)

“ถ้าเราจะพูดกันตลกๆ เราจะเรียกเกาหลีว่า ‘นรกโชซ็อน’ แต่ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งเรียกเกาหลีว่า “ตัล-โจ” โดยที่ในทุกวันนี้เราใช้คำนี้กันบ่อยกว่าคำว่า “นรกโชซ็อน” มากมายนัก” ปาร์ก จีนา (Park Ji-na) นักศึกษาระดับปริญญาตรีวัย 20 ปีเศษๆ ในกรุงโซล เล่าให้เอเชียไทมส์ฟัง “ฉันกับเพื่อนๆ ใช้คำนี้ในเวลาพูดคุยกันโดยเรียกกันแบบตลกๆ แต่ถ้าฉันมีโอกาสดีๆ ที่จะไปต่างประเทศและทำงานที่นั่น ฉันก็จะไปนะ”

มีบางคนมองว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่มีเฉพาะในเกาหลีหรอก “ฉันคิดว่ามีวิกฤตการณ์ชนชั้นกลางแบบนี้ในประเทศร่ำรวยทุกๆ ประเทศนะ” แป ฮี-คยุง (Pae Hee-kyung) ซึ่งบริหารสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงโซล บอกกับเอเชียไทมส์

ในตลอดทั่วทั้งโลกพัฒนาแล้ว ในยุคหลังอุตสาหกรรม พวกชนชั้นกลางต่างมีความรู้สึกมีความเข้าใจกันว่าตนเองเหมือนกับถูกปิดล้อมไม่มีอิสระ ทั้งจากมาตรฐานการครองชีพที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ, โอกาสต่างๆ ซึ่งดูเหมือนกำลังมีแต่ระเหิดเหือดแห้งหายวับไป, และความไม่เท่าเทียมกันในด้านทรัพย์สินความมั่งคั่งที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกที แนวโน้มเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางภูมิหลังของโลกที่กำลังกลายเป็นหนึ่งเดียวกันเนื่องจากกระแสโลกภิวัตน์ ซึ่งเงินทุนและตำแหน่งงานถูกกระจายตัวออกไปจากพวกศูนย์กลางเดิมๆ ของการลงทุน, ของอุตสาหกรรมการผลิต, ตลอดจนของความมั่งคั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มีบัณฑิตผู้รู้บางรายเสนอแนะว่า ประเด็นปัญหาเหล่านี้แหละที่สามารถใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์อย่างเช่น เบร็กซิตในอังกฤษ, การเลือกตั้งให้โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีในสหรัฐฯ, และการประท้วงของคนฮ่องกงวัยหนุ่มสาว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0