โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 เหตุผลที่คุณควรเลิกขอโทษและรู้สึกผิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องซักที

issue247.com

อัพเดต 23 ต.ค. 2561 เวลา 01.43 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2561 เวลา 00.00 น.

ยกเว้นถ้าคุณเป็นคนสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ (ซึ่งพวกเราไม่ใช่แน่นอน) การขอโทษคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต และคำสั้นๆอย่าง “ฉันขอโทษ” ก็ช่างทรงพลังเหลือเกิน การเอ่ยคำขอโทษได้ปลดปล่อยเราจากความรู้สึกผิดที่มีต่อคนอื่นและเป็นการปลุกความไว้ใจระหว่างคนสองคนให้กลับคืนมา อย่างไรก็ตามอะไรที่เกินพอดีย่อมไม่ดีทั้งนั้น เช่น ทุกครั้งที่ตั้งคำถามในการประชุม คุณจะเริ่มด้วยคำว่า “ขอโทษค่ะ นี่อาจเป็นคำถามโง่ๆแต่..” หรือการพูดกับคนที่วิ่งชนคุณในซูเปอร์มาร์เก็ตว่า “ขอโทษค่ะฉันขวางทางคุณอยู่หรือเปล่า ขอโทษค่ะ” เชื่อหรือไม่ว่าการขอโทษพร่ำเพรื่อจะทำให้คุณสูญเสียความมั่นใจและขาดประสิทธิภาพ แต่ถ้าหยุดเอ่ยคำว่าขอโทษไปเลยจะกลายเป็นว่าคุณเป็นคนก้าวร้าว เรียกว่าแย่ทั้งขึ้นทั้งล่องเลยทีเดียว

การกล่าวขอโทษพร่ำเพรื่อเกิดจากการโทษตัวเองและรู้สึกผิดในทุกเรื่อง ทั้งๆที่ทุกคนก็มีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้นและไม่มีใครหรอกที่จะสมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่าง ผลที่ตามมาคือคุณจะมีความเชื่อแบบผิดๆที่ว่าตัวเองควรได้รับการตำหนิติเตียน

มีหลากหลายวิธีที่ดีกว่านี้ในการขจัดความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจออกไป ที่สำคัญคุณก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นอยู่ คราวหน้าถ้าคุณกำลังจะกล่าวคำขอโทษให้กับ 7 เรื่องดังต่อไปนี้ โปรดหยุด! และลองใช้คำพูดอื่นแทน และที่สำคัญคุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับมันอีกด้วย

 

1. ความรู้สึกของคุณ

การบอกคนอื่นว่าคุณคิดหรือรู้สึกอย่างไรถือเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งในสร้างความสัมพันธ์ซึ่งจะช่วยให้คนอื่นเข้าใจคุณมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องกล่าวคำขอโทษและไม่ต้องรู้สึกผิดด้วย คุณไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย เพราะมันเป็นความรู้สึกของคุณจริงๆ

 

2. รูปลักษณ์ภายนอกของคุณ

เมื่อเราเกิดรู้สึกผิดกับท่าทางที่อิดโรย ทรงผมที่ไม่น่าดู หรือสวมชุดที่ทำให้ทุกคนต่างพากันจ้องมอง เราจะเริ่มแสดงออกโดยการสงสารตัวเอง แต่ทำไมเราต้องขอโทษหรือรู้สึกผิดในเรื่องเสื้อผ้า หน้า ผมของตัวเองโดยไม่จำเป็นด้วยล่ะ

 

3. เวลาของคุณ

เราทุกคนต่างก็มีขนาดพื้นที่ความเป็นส่วนตัวแตกต่างกัน คนที่ขี้กังวลอาจต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าคุณรู้สึกผิดกับการเรียกร้องเวลาของตัวเอง บอกเลยว่าคุณน่าจะคิดมากเกินไปแล้ว ง่ายๆเลยคุณก็แค่บอกว่า “คืนนี้ฉันอยากอยู่บ้านเงียบๆคนเดียว จบนะ”

 

4. ตั้งคำถาม

เราจะรู้สึกแย่เมื่อต้องเอ่ยคำขอโทษหลังจากที่ตั้งคำถามบางอย่างออกไป บางคนทำไปเพราะกลัวคนอื่นจะหัวเราะเยาะหรือขำกับความไม่รู้เรื่องของเรา แต่คุณก็ไม่ควรขอโทษถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการให้คนอื่นช่วยอธิบายอะไรสักอย่าง แค่พูดว่า “ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยได้ไหมคะ” หรือ “รบกวนอธิบายให้ฟังทีค่ะ” หากมีใครหัวเราะในสิ่งที่คุณถามนั่นอาจเป็นเพราะเขานั่นแหละที่มีปมกับเรื่องนี้

 

5. พฤติกรรมของคนอื่น

หากการแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันแต่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น นัดเดทให้เพื่อนแต่ปรากฏว่าเพื่อนคนหนึ่งทำตัวเสียมารยาทกับเพื่อนอีกคน คุณควรตระหนักว่านี่คือเหตุการณ์ที่เหนือการควบคุมและคุณไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำขอโทษ เช่นเดียวกับการขอโทษคนที่เดินมาชนคุณในร้านขายของหรือตามทางเดิน หากอีกฝ่ายไม่เอ่ยคำขอโทษ คุณอาจรู้สึกผิดและคิดว่าต้องเป็นฝ่ายพูดออกไปเอง ดังนั้นคุณควรเปลี่ยนจากคำขอโทษเป็นคำว่า “ขอทางด้วยค่ะ”

 

6. ไม่ส่งข้อความตอบกลับ ไม่โทรกลับ หรือไม่ตอบอีเมล์กลับในทันที

บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถตอบกลับข้อความของเพื่อน คนรัก หรือเพื่อนร่วมงานได้ทันที เว้นแต่ว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินจริงๆ การกล่าวคำขอโทษที่ใช้เวลานานในการส่งข้อความตอบกลับอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว คุณควรสรุปข้อความสั้นๆไว้บนพื้นที่ของคุณว่า “ฉันไม่ได้ลืม แต่ตอนนี้งานยุ่งนิดหน่อย” หรือ “ฉันกำลังทำงานอยู่ กรุณารอสักครู่” พวกเขาจะรู้สึกพอใจกับการที่คุณยืนยันว่ายังไม่ลืมธุระของพวกเขา แต่อย่าลืมธุระของตัวเองด้วยแล้วกัน

 

7. สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้

บางคนอาจบ่นกระปอดกระแปดให้คุณฟังถึงเรื่องวุ่นๆในครอบครัว เรื่องเจ้านายจอมบงการหรือความสัมพันธ์ที่กำลังระหองระแหง และสิ่งที่คุณตอบกลับไปคือ “เสียใจด้วยนะ” เนื่องจากคุณจะรู้สึกแย่แทนคนอื่น แต่เราขอแนะนำว่าควรตอบกลับไปอย่างนุ่มนวลแทนว่า “แย่จัง” หรือ “คุณคงลำบากแย่เลยสินะ” การบอกว่า “ฉันเสียใจด้วยนะที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น” อาจฟังดูเหมือนว่าคุณกำลังรับคำตำหนิเหล่านั้นไปทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของคุณเลย

 

ข้อแนะนำ

การเอ่ยคำขอโทษหลังจากที่คุณทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บ ละเมิดคำสั่ง หรือทำอะไรก็ตามที่เรารู้ตัวว่าผิด นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาเมื่อเราอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม แต่การขอโทษในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดและอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบจะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง แม้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การศึกษาพบว่าการเอ่ยคำขอโทษในบางกรณีนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นคราวหน้าก่อนที่คุณจะเอ่ยคำขอโทษ ลองสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ หยุดสักครู่ และถามตัวเองว่าคุณสมควรได้รับคำตำหนิเหล่านี้จริงๆหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่จำเป็นต้องขอโทษ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0