โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 เรื่องเครื่องสำอางในไต้หวันที่คุณอาจไม่เคยรู้

สยามรัฐ

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
7 เรื่องเครื่องสำอางในไต้หวันที่คุณอาจไม่เคยรู้

สาวๆ เคยรู้หรือไม่ว่าเครื่องสำอางจากไต้หวันที่เรานิยมใช้ไม่ว่าจะเป็น Dr.Wu, HEME หรือ 1028 นั้น กว่าจะฮิตจนเป็นที่รู้จักได้ขนาดนี้ ผ่านการผลักดันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก เพราะเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในปี 2562 มูลค่าค้าปลีกสินค้ายา เวชภัณฑ์และเครื่องสำอางของไต้หวันมีมูลค่ารวมประมาณ 198,102 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือ 209,998 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจของสำนักสถิติ กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน (MOEA) พบว่า สินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเป็นสินค้าที่ครองสัดส่วนมากที่สุดของสินค้าในหมวดนี้ถึงประมาณร้อยละ 50-60

* ชูอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจริงจัง
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว TAITRA (Taiwan External Trade Development Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไต้หวัน ได้ผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศด้วยการจัดตั้ง Taiwan Beauty Alliance ซึ่งเป็นวิธีการทำการตลาดแบบเป็นกลุ่มก้อน แต่ละปีจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 10 กว่ารายมารวมตัวกันเป็นทีม เพื่อเป็นทัพหน้าผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสาอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามของไต้หวันในเวทีนานาชาติ และเป็นการสร้างความรับรู้ของ Taiwan Beauty ในตลาดโลก หลังจากที่ดำเนินโครงการมาเป็นเวลา 3 ปี จนอุตสาหกรรมนี้มีความเข้มแข็งและมั่นคงในเบื้องต้นแล้ว ก็ได้ยกระดับเพิ่มขึ้นด้วยการจัดกิจกรรมที่เน้นการให้ความสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมในประเทศแทน เช่น การจัดงานแสดงสินค้า Taiwan International Beauty Show

* นักท่องเที่ยวกระตุ้นตลาดโต
สินค้าเครื่องสาอางของไต้หวันได้รับอานิสงส์จากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวันมากขึ้น เพราะสินค้าเครื่องสำอางมักจะเป็นหนึ่งในรายการ Buying List ของเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือน เมื่อปีที่ผ่านมาไต้หวันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 11.86 ล้านคน โดยนักเดินทางจากไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ถึง 410,000 คน

* ซีรีย์เกาหลีมีส่วนมาก
ซีรีย์จากเกาหลีหลายต่อหลายเรื่องนั้น นอกจากจะสร้างกระแสให้คนไทยติดตามกันทั้งประเทศแล้ว ชาวไต้หวันก็เป็นหนึ่งกลุ่มที่นิยมด้วยเช่นกัน โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ในไต้หวันได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก จากการใช้ลิปสติกของตัวละครที่ปรากฏตัวในละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ จนกลายเป็นกระแสนิยม ในกลุ่มผู้หญิงของไต้หวัน กอปรกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงไต้หวันในปัจจุบันจะใช้ชีวิตแบบค่อนข้างจะรีบเร่ง ส่วนใหญ่จึงเน้นการแต่งหน้าแบบง่ายๆ ลิปสติกจึงกลายมาเป็นไอเท็มสำคัญ โดยแบรนด์ที่ครองสัดส่วนตลาดมากที่สุดสำหรับสินค้าเครื่องสำอางคือเมย์เบลลีน (Maybelline) จากฝรั่งเศส รองลงมาคือคริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ชาแนล (Chanel) โซฟิน่า (Sofina) เอสเต้ ลอเดอร์ (Estee Lauder) เคท โตเกียว (Kate Tokyo) แมค (Mac) และอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) ตามลำดับ*** (ข้อมูลจาก Euromonitor International)

* สร้างแบรนด์ให้ดังจากประเทศที่จดทะเบียน
แบรนด์เครื่องสำอางไต้หวันหลายแบรนด์มีวิธีการใช้กลยุทธ์การตลาดทางลัด โดยจัดตั้งบริษัทในประเทศที่มีความน่าเชื่อถือทางด้านสินค้าเครื่องสำอาง ส่วนโรงงานผลิตจะอยู่ในไต้หวันหรือประเทศอื่นก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกลยุทธ์ในการทำการตลาดของ Timeless Truth (TT) ซึ่งเป็นแผ่นมาส์กหน้าแบรนด์ไต้หวัน แต่จดทะเบียนที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วค่อยขายกลับมาไต้หวันอีกที เช่นเดียวกับบริษัท Chia-Lin Pau Chemical ของไต้หวัน ที่เริ่มจากการจดทะเบียนแบรนด์ Kate Tokyo ที่ญี่ปุ่น แต่ดังไปทั่วเอเชียเลยทีเดียว

* เครื่องสำอางแนวกรีนและผู้สูงวัยกำลังมาแรง
จากการที่แนวคิดด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญมากขึ้นและสาวๆ ไต้หวันเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเช่นกัน ถือเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
จากประเทศไทย ที่จะใช้ข้อได้เปรียบของการมีวัตถุดิบจากธรรมชาติและสมุนไพรอยู่จำนวนมาก มาพัฒนาสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเจาะตลาดไต้หวัน นอกจากนี้ การที่ไต้หวันเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณ 3.68 ล้านคน (สถิติเดือนพฤษภาคม 2563) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การพัฒนาสินค้าเครื่องสำอางสำหรับผู้สูงวัยก็เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

* New Normal ที่พร้อมจะกลับมาเป็น Old Normal ได้ตลอดเวลา
ระยะหลังมานี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ในไต้หวันค่อยๆ ทุเลาลง รัฐบาลจึงผ่อนคลายความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการในการป้องกันโรคระบาดต่างๆ รวมทั้งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในแบบเดิม เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดหมดไป หรือผู้คนมีความคุ้นเคยในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้แล้ว พฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิมตามรูปแบบของ Old Normal ที่เคยเป็นมา แต่หากเกิดการระบาดอีกครั้งหลังจากเปิดพรมแดน ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจจนส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเกิดการหดตัวอีกครั้งก็เป็นได้ ซึ่งผู้คนก็อาจจะมีความเคยชินกับวัฏจักรแบบนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติไปในที่สุดได้เช่นกัน

* KOL ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ได้ดี
ในระยะหลังมานี้ มีแบรนด์ระดับธรรมดาของญี่ปุ่น เช่น CANMAKE เริ่มเข้าสู่ตลาดไต้หวันมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของช่องทางออนไลน์ และร้าน Watson’s เนื่องจากเกิดเทรนด์ความนิยมท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ทำให้บรรดา KOL ด้านการท่องเที่ยวของไต้หวันมีการทำคลิป/เขียนบทความรีวิวเครื่องสำอางแบรนด์นี้เป็นสินค้าที่ต้องซื้อเมื่อไปเยือนญี่ปุ่น ซึ่งพฤติกรรมนี้สามารถใช้กับการสร้างการรับรู้แบรนด์เครื่องสำอางของไทยได้เช่นกัน เพราะประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่จะมีเข้ามาเยือนทุกปี
นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีที่สามารถสร้างการรับรู้ในเชิงรุกของแบรนด์เครื่องสำอางไทยในตลาดไต้หวัน คือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านความงามใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นในไต้หวันได้ อาทิ Taiwan International Beauty Show & Industry Forum (http://www.beautytw.com.tw/) หรือ Beauty & Cosmetics Expo (http://expo.udn.com/beauty/) ซึ่งโครงการ SMEs Pro-active ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0