โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 เคล็ดลับดีๆในการเอาชนะความวิตกกังวล

issue247.com

อัพเดต 26 มี.ค. 2562 เวลา 04.32 น. • เผยแพร่ 27 มี.ค. 2562 เวลา 00.00 น.

ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะรู้สึกกังวลหรือหวาดกลัวจนหมดเวลาไปกับการครุ่นคิดถึงเรื่องร้ายๆ ซ้ำยังส่งผลกระทบกับเป้าหมายในหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ส่วนตัว และคุณภาพในชีวิตด้วย แต่ทุกอย่างย่อมมีทางออก เรามีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาแบ่งปันเคล็ดลับดีๆในการจัดการกับสถานการณ์ที่อาจเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่คุณด้วยสุดยอดคำแนะนำ 7 ข้อนี้

 

1. เลื่อนความกังวลออกไปก่อน

ริค วอร์เรน รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนแนะนำวิธี “เลื่อนความกังวล” ออกไปก่อน เช่น หากคุณกำลังจะไปดูหนังและเกิดรู้สึกกังวลเรื่องงานขึ้นมา จงทิ้งความกังวลนั้นไปก่อนและบอกกับตัวเองว่า “ฉันไม่ได้ทำงานอยู่ ไว้ค่อยคิดเรื่องนี้อีกทีในที่ทำงานพรุ่งนี้แล้วกัน” จากนั้นเมื่อถึงเวลาต้องคิดเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกกังวล คุณค่อยปรึกษาเรื่องนี้กับคนที่คุณไว้ใจ

 

2. สร้างมาตรวัดเหตุการณ์ร้ายๆ

ลองลากเส้นบนกระดาษและเขียนเลข 0 ที่จุดเริ่มต้น เลข 50 ไว้ตรงกลางและเลข 100 ไว้ตรงปลายสุด จากนั้นถามตัวเองดูว่าอะไรคือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นและเขียนลงบนกระดาษ วอร์เรนกล่าวว่า “ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะได้ 100 เต็ม” เป้าหมายของวิธีนี้คือคุณจะสามารถแยกเรื่องต่างๆที่ต้องการทำและจัดการกับมันได้ในที่สุด

 

3. แบ่งงานใหญ่เป็นงานเล็กๆ

ความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยในที่ทำงานและมักมาในรูปแบบของการผลัดวันประกันพรุ่ง ผู้ที่มีความวิตกกังวลมักจะต้องการมาถึงที่หมายให้ตรงเวลาหรือทำงานให้สำเร็จลุล่วง แต่ความกังวลนั่นแหละที่จะเป็นตัวขัดขวางพวกเขา คีธ ฮัมฟรีย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงได้เสนอแนะว่าควรใช้วิธีแบ่งงานใหญ่ที่หนักอึ้งเป็นงานเล็กๆซะเนื่องจากเป้าหมายเล็กๆจะทำได้ง่ายและเห็นผลชัดกว่า

 

4. ท้าพิสูจน์สิ่งที่คุณกังวล

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า เมื่อผู้ที่มีความวิตกกังวลเปิดใจยอมรับสิ่งที่ทำให้วิตกกังวลพวกเขาจะจัดการกับความวิตกกังวลได้ดีขึ้น ส่วนการบอกกับตัวเองว่าสิ่งที่แย่ที่สุดยังไม่เกิดขึ้นจะทำให้คุณลดความกลัวลงได้ เช่น หากคุณกลัวการขึ้นรถไฟใต้ดินและสิ่งที่ทำให้คุณกลัวสุดๆคือการติดอยู่ในนั้นโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เราอยากให้คุณลองพกความกลัวไปนั่งรถไฟใต้ดินดูและเมื่อคุณออกมาได้โดยที่ไม่ติดอยู่ในนั้นตามที่คุณกลัวคุณก็จะสามารถเอาชนะสมมติฐานความกลัวสุดๆของคุณได้แล้ว

 

5. ฝึกร่างกายให้สงบนิ่ง

ภายในร่างกายของคนเราจะมีตัวบรรเทาความเครียดซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้มันเมื่อไหร่ ลองกำหนดลมหายใจ วางเท้าลงบนพื้น ยิ้มแม้ว่าจะขัดกับความรู้สึก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าคุณควรเกร็งกล้ามเนื้อและผ่อนคลาย ลองทำซ้ำๆ เพื่อผ่อนคลายร่างกายของคุณเอง

 

6. ยอมรับความวิตกกังวล

วอร์เรนกล่าวว่ามีความแตกต่างกันอย่างมหาศาลระหว่างการยอมรับความวิตกกังวลกับยอมรับตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีความวิตกกังวล โรควิตกกังวลเป็นภาวะผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา คุณจึงต้องยอมรับความวิตกกังวลนั้นพร้อมกับรับรู้ว่าคุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

 

7. อย่าลืมว่าโรควิตกกังวลสามารถรักษาได้

หากคุณรู้สึกวิตกกังวลทุกวันก็ไม่ต้องกังวลไปเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามีวิธีบำบัดทางสุขภาพจิตหลายวิธีที่ได้ผล หรือหากมีคนรู้จักของคุณกำลังเผชิญปัญหานี้เราก็อยากให้คุณเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องเผชิญ ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีเพียงร้อยละ 25 ของผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเท่านั้นที่รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ เหนือสิ่งอื่นใดคุณควรจำไว้ว่าคุณต้องทำจิตใจให้สงบและดูแลสุขภาพให้ดี เราจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความคิดของคนอื่นน้อยลงถ้ารู้ว่าพวกเขาก็ไม่ได้สนใจเราเท่าไหร่หรอก

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0