โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 นักธุรกิจไทยคนเก่ง สร้างแบรนด์สำเร็จและเติบโตในทศวรรษที่ผ่านมา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ก.ค. 2563 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 14.02 น.
ชนิสรา-วุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

ทศวรรษที่ผ่านมา (2010-2019) เป็นช่วงเวลาที่โลกหมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมา เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นตัวเร่งให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มีหลายธุรกิจที่ต้องปิดตัวลงจากการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นช่องทางการทำธุรกิจจากความต้องการของตลาด หรือมีความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าจนสามารถแทรกตัวขึ้นมายืนหยัดอยู่บนกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากนี้ได้

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” มองย้อนไปในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาว่ามีนักธุรกิจคนไหนบ้างที่สามารถปลุกปั้นบริษัทของตัวเองขึ้นมา และฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ได้ แล้วเราคัดเลือกที่น่าสนใจมา 7 คน จาก 6 บริษัท จะเป็นใครกันบ้าง เชิญมาสำรวจไปพร้อม ๆ กัน

ยอด ชินสุภัคกุล ผู้ก่อตั้ง Wongnai ผู้ก่อตั้งปี 2010
ยอด ชินสุภัคกุล ผู้ก่อตั้ง Wongnai ผู้ก่อตั้งปี 2010

ยอด ชินสุภัคกุล : Wongnai (ก่อตั้งปี 2010)

อดีตวิศวกรฝ่ายซอฟต์แวร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) มีความฝันอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงลาออกไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ UCLA Anderson School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่นมีเว็บไซต์ Yelp.com ที่ใช้สำหรับค้นหาและรีวิวร้านอาหาร ยอดจึงเกิดไอเดียและกลับมาชักชวนเพื่อนอีก 4 คนร่วมกันก่อตั้ง “วงใน” (Wongnai) ขึ้นมาในปี 2010

ในช่วงนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย ทำให้มีรีวิวจากผู้ใช้งานน้อย พวกเขาจึงต้องรับงานเสริมเพื่อหารายได้ให้บริษัทเดินหน้าต่อ จนกระทั่งปี 2012 เป็นยุคแรกเริ่มของสมาร์ทโฟนในประเทศไทย ทำให้มีคนเริ่มใช้บริการมากขึ้น มีข้อมูลร้านอาหารมากขึ้น ทำให้วงในเติบโตและกลายเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่มีการเติบโตสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ วงในได้ขยายธุรกิจไปยังหัวเมืองในต่างจังหวัด และเปิดตัวบริการที่หลากหลายนอกเหนือไปจากร้านอาหาร และสามารถทำรายได้แตะหลักร้อยล้านในปี 2017 แล้วเริ่มมีกำไรในปี 2018 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน วงในมีข้อมูลร้านอาหาร ความสวยความงาม และการท่องเที่ยว ที่นำเสนอเนื้อหาและข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้งานจริง มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน มีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกว่า 300,000 ร้านทั่วประเทศ และมีพนักงานอีกกว่า 400 คน

สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ : SnailWhite (ก่อตั้งปี 2011)

สราวุฒิมีดีกรีปริญญาเอกด้านการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถึงแม้ว่าเขาจะมีธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว แต่สราวุฒิมีความฝันอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง จึงเริ่มต้นมองหาลู่ทางด้วยการรับจ้างผลิตสินค้าบำรุงผิวให้กับแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย จนสังเกตเห็นว่าตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเกรดพรีเมี่ยมที่ราคาจับต้องได้ เขาจึงปรับปรุงสูตรครีมเมือกหอยทากซึ่งเป็นที่นิยมในเกาหลีจนเข้าที่ และก่อตั้งแบรนด์ “สเนลไวท์” (SnailWhite) ขึ้นมาในปี 2011

เช่นเดียวกับสินค้าที่มีความแปลกใหม่อื่น ๆ ครีมเมือกหอยทากของเขายังเป็นเครื่องหมายคำถามในกลุ่มลูกค้าอยู่ สราวุฒิจึงแจกตัวอย่างให้บรรดาบล็อกเกอร์เขียนเล่าประสบการณ์การใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน และสามารถทำรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์มากถึง 96 ล้านบาทในปีแรก

ภายในเวลาไม่ถึง 7 ปี บริษัทของเขาก้าวกระโดดขึ้นมามีมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งให้สราวุฒิมีชื่อติดทำเนียบ 50 เศรษฐีไทยประจำปี 2018 ที่จัดโดยนิตยสารฟอร์บส ในอันดับที่ 45 ถึงแม้ว่าช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ตลาดด้านผลิตภัณฑ์ความงามจะชะลอตัวลงด้วยปัจจัยรอบด้าน แต่การที่บริษัททำรายได้เกือบร้อยล้านบาทในปีแรก และเติบโตมามีมูลค่าหลายหมื่นล้านในเวลาไม่ถึง 10 ปี ก็เป็นเรื่องที่ชวนทึ่งไม่ใช่น้อย

สุรนาม พานิชการ : Tofusan (ก่อตั้งปี 2012)

สุรนามจบการศึกษาปริญญาโทด้านการพัฒนาเทคโนโลยีจาก Melbourne University ประเทศออสเตรเลีย หลังจากเรียนจบ เขากลับมาร่วมหุ้นเปิดร้านทำขนมกับเพื่อนในประเทศไทย และเห็นว่าเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ บวกกับการที่เขาเป็นคนที่ชอบดื่มน้ำเต้าหู้แบบดั้งเดิมตามรถเข็นที่มีรสชาติเฉพาะตัว ต่างจากนมถั่วเหลืองกล่องที่ผสมนมผงและน้ำมันพืช เขาทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าสูตรร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ราว 1 ปี จนได้สูตรการทำนมถั่วเหลือง 100% ที่สามารถเก็บได้นานกว่าปกติ ซึ่งสามารถเก็บใส่ขวดแก้วไว้ได้ 1 ปีโดยไม่ต้องใช้วัตถุกันเสีย เกิดเป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้ “โทฟุซัง” (Tofusan) ออกวางขายในปี 2012

ในปีแรก เขาเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน โดยการขายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมสำหรับคนรักสุขภาพ การวางจำหน่ายจึงยังค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม จนกระทั่งเกิดการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับทางซีพี ออลล์ (7-11) ผลิตนมถั่วเหลืองพาสเจอไรซ์บรรจุขวดพลาสติกที่เก็บได้นาน 18 วันโดยการแช่เย็น และปรับความหวานขึ้นเพื่อตอบรับลูกค้าทั่วไป แต่ยังคงเอกลัษณ์นมถั่วเหลือง 100% อยู่ ทำให้รายได้จาก 10 ล้านบาทในปี 2012 ขยับขึ้นมาเป็น 32 ล้านบาทในปี 2013

ในปีที่ผ่านมา โทฟุซังมีรายได้กว่า 500 ล้านบาท และเขาตั้งเป้าว่าในปี 2021 โทฟุซังจะมีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท

ชนิสราและวุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์ : Diamond Grains (ก่อตั้งปี 2012)

ชนิสราและวุฒิกานต์ มองหาธุรกิจที่จะทำร่วมกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และลงทุนเงินที่หยิบยืมจากที่บ้านราว 3 ล้านบาทมาทำโรงงานคุกกี้เพื่อสุขภาพ แต่ผลตอบรับไม่เป็นไปตามคาด จึงลองมองหาหนทางและปรับสูตรเป็นเวลากว่า 3 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนเริ่มท้อ ในจังหวะที่ท้อนั้นเอง ทั้งคู่คิดได้ว่า จากที่พวกเขาโฟกัสว่าอยากจะผลิตอะไร ปรับมาโฟกัสที่ความต้องการของลูกค้า จนได้คำตอบเป็นผลิตภัณฑ์กราโนลาที่ตอบโจทย์ลูกค้ารักสุขภาพที่ต้องการความรวดเร็วสำหรับมื้อเช้า ออกมาเป็นแบรนด์ “ไดมอนด์เกรนส์” (Diamond Grains) ในปี 2012

เริ่มจากออร์เดอร์เพียง 5 กล่องจากการขายทางออนไลน์ครั้งแรก 5 ปีผ่านไป ในปี 2017 ไดมอนด์เกรนส์มียอดขายกว่าวันละ 1,000 กล่องจากทุกช่องทาง และในปี 2018 บริษัทของพวกเขามีรายได้แตะ 300 ล้านบาท จากการจำหน่ายสินค้ากราโนลาและโจ๊กข้าวโอ๊ต รวมถึงการแตกไลน์ไปสู่คาเฟ่ขายอาหารของตนเอง

ในปัจจุบัน ไดมอนด์เกรนส์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเป้าไปที่ตลาดส่งออกอย่างจริงจังไปไกลถึงระดับโลก การขายสินค้าให้กับโรงแรมและร้านอาหารเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบ และการขยายสาขาของคาเฟ่ที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์และผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

รรินทร์ ทองมา : O&B (ก่อตั้งปี 2012)

เด็กสาวมัณฑนศิลป์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จบมาทำงานประจำกับบริษัทคิง เพาเวอร์ ทำหน้าที่รับผิดชอบดูสินค้าแฟชั่นอยู่ 3 ปี ก่อนจะลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Istituto Europeo di Design หรือ IED สาขา Fashion Mar-keting & Retail Management ที่ประเทศอิตาลี

หลังจากนั้นเธอเริ่มทำธุรกิจของตัวเองด้วยการทำเสื้อผ้าเด็กขายจากเงินลงทุนหลักแสน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงตัดสินใจใช้เงินก้อนสุดท้ายราว 9 หมื่นบาทลงทุนทำกระเป๋าและรองเท้าภายใต้แบรนด์ “โอแอนด์บี” (O&B) ในปี 2012

ด้วยความใส่ใจในขั้นพื้นฐาน คือทำสินค้าของตัวเองให้มีคุณภาพดี ทำให้โอแอนด์บีโดนใจลูกค้า มีรายได้ถึง 500,000 บาทในปีแรก แล้วกระโดดขึ้นมาเป็น 10 ล้านบาทในปีถัดมา และทะลุ 150 ล้านบาทในปี 2018 ในปีเดียวกันนั้น รองเท้าโอแอนด์บี ได้เป็นส่วนหนึ่งในกองประกวด Miss Universe ด้วยการที่ได้รับเลือกให้ทำรองเท้าสำหรับเหล่าผู้เข้าประกวดนางงามสวมใส่ในการประกวด นั่นยิ่งทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

รองเท้าโอแอนด์บีมีอีกจุดเด่นนอกเหนือจากเรื่องคุณภาพ คือ เป็นรองเท้าที่มีสีให้เลือกถึง 50 เฉดสี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รรินทร์เข้าใจความชอบของตลาด โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการรองเท้าที่หลากหลาย

ปัจจุบัน โอแอนด์บีเริ่มขยายตลาดไปยังต่างประเทศแล้วผ่านช่องทาง e-Commerce ของประเทศเป้าหมายในโซนเอเชียและบางประเทศในยุโรป โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee ในปี 2012)
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee ในปี 2012)

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ : Ookbee (ก่อตั้งปี 2012)

ญัฐวุฒิมีความหลงใหลในศาสตร์โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าเรียนคณะวิศวกรรมการบินและอวกาศที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์มากนัก แต่ในระหว่างการศึกษา เขาก็ทำอาชีพเสริมโดยการรับประกอบคอมพิวเตอร์อยู่ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า หลังเรียนจบในปี 1999 ในวัย 22 ปี เขาก่อตั้งบริษัทรับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไป และเริ่มรับเขียนแอปพลิเคชั่นในปี 2009 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน จนสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่น “อุ๊คบี” (Ookbee) ขึ้นมาในปี 2012 เป็นอีบุ๊กสโตร์เจ้าแรกในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าอุ๊คบีจะเป็นอีบุ๊กสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ด้วยสังคมไทยที่มีการอ่านหนังสือน้อย หนังสือขายดีมียอดตีพิมพ์เพียงหลักพัน-หมื่นเล่ม ทำให้เกิดเพดานของธุรกิจ ณัฐวุฒิจึงต้องขยับขยาย และคิดหาไอเดียใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ นอกจากแอปพลิเคชั่นอุ๊คบีที่มีคอนเทนต์หนังสือจากผู้จัดทำมืออาชีพ (professional generated content หรือ PGC) อุ๊คบีได้ก่อตั้งบริษัท “อุ๊คบี ยู” (Ookbee U) ขึ้นมาเพื่อดูแลธุรกิจฝั่งด้าน UGC (user generated content) หรือคอนเทนต์จากกลุ่มผู้ใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งในกลุ่มอุ๊คบี ยู ก็มีแอปพลิเคชั่นอย่าง ธัญวลัย, Fictionlog, Storylog, Ookbee Comics, Fungjai, a ดวง, Joylada และ C Channel

ในปัจจุบัน บริษัทอุ๊คบีมีมูลค่าหลายพันล้านบาท มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนรวมทุกช่องทางกว่า 10 ล้านคน และยังคงไม่หยุดคิดไอเดียเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานปัจจุบัน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทจะเคยก้าวพลาดจากการบุกตลาดอีคอมเมิร์ซ จนสูญเงินกว่า 150 ล้านบาท แต่ณัฐวุฒิก็นำมาเป็นบทเรียน และก้าวเดินบนเส้นทางต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0