โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

7 ความเชื่อ ก่อนและหลัง ออกกำลังกาย ต้องทำแบบนี้ จริงหรือมั่ว?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 03.00 น.
7 ความเชื่อ ก่อนและหลัง ออกกำลังกาย ต้องทำแบบนี้ จริงหรือมั่ว?
การ ออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ บางคนหาข้อมูลอย่างหนัก แต่ไม่รู้เลยว่า สิ่งที่รู้มา มีความจริงอยู่กี่เปอร์เซ็นต์กั

ในยุคเฮลตี้แบบนี้ หลายคนมักจะหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุม และเลือกรับประทานอาหาร รวมถึงการ ออกกำลังกาย เราลองมาดูกันไหมว่า ข้อมูลที่คุณรู้มาเนี่ย มันจริงหรือมั่วกันแน่?

ความเชื่อเรื่องการออกกำลังกาย

ความเชื่อ 1 ห้ามดื่มน้ำก่อนออกกำลังกาย จะทำให้จุก

การดื่มน้ำมากๆ ก่อนออกกำลังกายทันทีอาจทำให้จุกแน่นได้ เนื่องจากน้ำยังไม่สามารถไปถึงทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ตามควรดื่มน้ำประมาณ 200 – 300 cc. ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 นาที โดยเฉพาะเมื่อเสียเหงื่อมากระหว่างออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายหลังตื่นนอน เพราะร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานานจากการนอนหลับ รวมถึงควรจิบน้ำทีละน้อยๆ แต่จิบบ่อยๆ ในขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

ความเชื่อ 2 ออกกำลังกายขณะท้องว่าง ช่วยเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้น

การออกกำลังกายขณะท้องว่าง จะทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ที่ย่อยได้ง่าย ก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เช่น กล้วยหอมครึ่งผล ลูกเกด หรือแครกเกอร์ชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารเตรียมพร้อมให้มีพลังงานในการออกกำลังกาย สำหรับการเผาผลาญไขมันได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและระยะเวลาในการออกกำลังกาย หากต้องการเผาผลาญไขมันจะต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิคนาน 30 นาทีขึ้นไป ซึ่งร่างกายจะดึงพลังงานทั้งจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อออกมาใช้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย ควรสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเวทเทรนนิ่งควบคู่ไปด้วย

ความเชื่อ 3 เหงื่อออกมาก ยิ่งเผาผลาญแคลอรี่มาก

เหงื่อออกมากขณะออกกำลังกาย เกิดจากการขับน้ำเพื่อลดอุณภูมิของร่างกาย ส่วนการเผาผลาญแคลอรี่ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและระยะเวลาของการออกกำลังกาย จะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน การที่เหงื่อออกมากกลับทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดบาดเจ็บ เป็นตะคริว หรือหากขาดน้ำมากเกินไปอาจทำให้หน้ามืดเป็นลม หรือเกิดโรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ดังนั้นหากมีเหงื่อออกมากขณะออกกำลังกายควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนหรือการออกกำลังกายกลางแจ้ง

ความเชื่อ 4 วิ่งมากๆ เข่าจะเสีย

ลักษณะการวิ่งที่มีผลเสียกับเข่า คือ การวิ่งที่ก้าวยาวเกินไป (overstride) ซึ่งทำให้ปลายเท้ายื่นเกินปลายเข่า ทำให้จังหวะก้าวลงพื้นจะลงด้วยส้นเท้า เกิดแรงไปกระทำที่ข้อลูกสะบ้าเข่าสูง มีผลให้เกิดการบาดเจ็บกับลูกสะบ้า เพื่อลดการเกิดการวิ่งก้าวยาวเกินไป เราอาจจะเปลี่ยนด้วยการซอยเท้าวิ่งให้ถี่ขึ้น ควรมีจังหวะก้าว 180 ก้าวต่อนาที หรือ 3 ก้าวต่อ 1 วินาที ร่วมกับการงอลำตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ก็จะช่วยลดการบาดเจ็บที่ผิวข้อลูกสะบ้าเข่าได้ ดังนั้นผู้วิ่งจึงควรสังเกตวิธีการวิ่งของตัวเองว่าเป็นสาเหตุของการเจ็บเข่าหรือไม่ นอกจากนี้อาการปวดเข่าอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น มีปัญหาข้อเข่าหลวม หรือบาดเจ็บบริเวณหมอนรองเข่า ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือแก้ไขก่อนวิ่งอีกครั้ง

ความเชื่อ 5 ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องซ้ำ จะได้หายเจ็บ

การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง คือ การบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนักที่เหมาะสม ตัวมัดกล้ามเนื้อที่ได้รับการฝึกฝนจะเกิดการบาดเจ็บในระดับเส้นใยไฟเบอร์ ร่างกายจะกระตุ้นการสร้างโปรตีน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและขนาดให้กล้ามเนื้อนั้นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นหลังการเล่นเวทเทรนนิ่งได้ อย่างไรก็ตาม ร่างกายควรต้องพักผ่อนเพื่อให้มีเวลาฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หากเราออกกำลังกายซ้ำเร็วเกินไป จะทำให้ไม่เกิดการพัฒนาของกล้ามเนื้อ รวมถึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพิ่มได้ อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายที่ต้องระวัง คือ อาการเจ็บที่มีความผิดปกติ เช่น ลงน้ำหนักไม่ได้ มีการปวดบวมบริเวณข้อต่อ งอหรือเหยียดได้ไม่สุด ซึ่งควรพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำในบริเวณที่บาดเจ็บ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อการใช้งานในอนาคต รวมถึงเพิ่มอาการบาดเจ็บให้รุนแรง และทำให้การรักษาซับซ้อนยิ่งขึ้น

ความเชื่อ 6 ออกกำลังกายเยอะ จะนอนไม่หลับ

การออกกำลังกายที่มีความหนักหน่วง ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นตัวกระตุ้นระบบอัตโนมัติของร่างกาย เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงไม่ควรออกกำลังกายหักโหมก่อนเข้านอน แต่การออกกำลังกายเบาๆ เช่น การยืดเส้น ร่างกายจะหลั่งสาร เอ็นดอร์ฟิน (endorphin) จะทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และนอนหลับง่ายขึ้น หรือหากเลี่ยงไม่ได้ เราอาจจะเพิ่มระยะเวลาในการวอร์มดาวน์ หรือยืดเส้นยืดสายให้นานขึ้น หลังจากออกกำลังกายหนักๆ ก็ได้เช่นกัน

ความเชื่อ 7 ห้ามอาบน้ำทันที หลังออกกำลังกาย

หลังการออกกำลังกาย ร่างกายจะยังคงมีอุณหภูมิสูง และมีการระบายความร้อนของร่างกายผ่านทางรูขุมขนผิวหนัง เมื่อต้องอาบน้ำเย็นทันที ส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังและรูขุมขนหดตัวทันที ส่งผลเสียต่อร่างกายในการปรับอุณภูมิอย่างกะทันหัน ดังนั้นหลังออกกำลังกายทุกครั้งควรทำให้ร่างกายเย็นลง (cool down) ประมาณ 10-15 นาที ให้ระดับชีพจรและอุณหภูมิร่างกายลดลงสู่ระดับปกติ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกาย

คลิป > มิกกี้ นนท์ สอนวิธีหา ฮาร์ทเรตสูงสุด ในการออกกำลังกาย ให้ได้ประโยชน์สูงสุดของตัวเอง

https://seeme.me/ch/health/kDQ5b9

ที่มา : www.samitivejhospitals.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0