โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

7 สัญญาณเตือน! “มะเร็งปากมดลูก”

สยามรัฐ

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 07.19 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 07.19 น. • สยามรัฐออนไลน์
7 สัญญาณเตือน! “มะเร็งปากมดลูก”

พบบ่อยอันดับ 3 ในหญิงไทย ลดจากอดีตพบมากเป็นอันดับ 1 แนะฉีดวัคซีนป้องกันได้ 70-90% แต่ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงอีก

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ในอดีตมะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย โดยในปี 2532 มีอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมากถึง 23.4 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยในยุคนั้น ก.สาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงผลักดันโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นนโยบายของประเทศตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือในระยะเริ่มต้น

โดยให้ผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันอุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือเหลือเพียง 11.7 คน ต่อประชากรแสนคน จากที่เคยพบมากเป็นอันดับ 1 ในอดีต ปัจจุบันจัดเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย โดยในปี 2557 มีผู้ป่วยรายใหม่ 5,513 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 2,221 คน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มกราคม เป็นเดือนที่องค์การด้านโรคมะเร็งทั่วโลกพร้อมใจกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก โดยให้ความสำคัญกับการชี้ให้ประชากรเห็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญว่ามะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย คู่นอนมีเพศสัมพันธ์หลายคน จึงเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าปกติ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเพิ่มขึ้นด้วย

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีตกขาว เลือดหรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์หรือมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก ขาบวม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น การป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำได้โดยฉีดวัคซีน HPV ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้ 70-90% อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้แล้วยังคงต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและยังคงต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0