โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

7 พฤติกรรมพวกไม่ทำงานกลุ่ม…ที่คุณอาจเคยเจอ

Mango Zero

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 03.43 น. • Mango Zero

หากพูดถึงงานกลุ่มตอนเรียนหนังสือ ก็ต้องนึกถึงการใช้แรงใจและความสามัคคีของคนทั้งกลุ่มเพื่อทำให้งานเสร็จ แต่สำหรับหลายๆ คนคงไม่ใช่ เพราะถึงแม้จะเป็นงานกลุ่มแต่กลับต้องทำให้เสร็จได้ด้วยตัวคนเดียวหรือบางครั้งคนที่ช่วยทำก็ไม่ครบทั้งกลุ่มซะงั้น T^T

เหตุผลก็ไม่ใช่อะไรอื่นใด ในเมื่อทุกๆ กลุ่มอาจต้องเจอพวกไม่ทำงาน ที่ทำให้สมองคุณต้องปวดจี๊ด หรือโมโหทุกครั้งที่เจอ และไม่ว่าจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงานก็หนีไม่ได้สักที ทีมงาน MangoZero จึงขอนำเสนอ 7 พฤติกรรมของพวก “ไม่ทำงานกลุ่ม” ที่หากคุณอ่านแล้วอาจจะกำมือแน่นและกัดฟันไปด้วยก็ได้นะ (แต่ใจร่มๆ นะคะ ^^)

บอกไม่ว่างตลอด แต่เช็กอินว่าไปเที่ยว

เมื่อนัดประชุมงานกลุ่มกันหลายคน ก็ย่อมมีคนที่ไม่ว่าง หรือเวลาไม่ตรงกัน ทำให้การประชุมกลุ่มนั้นคนไม่ครบบ้าง ซึ่งคงไม่ผิดอะไรหากจะติดธุระสำคัญจริงๆ แต่เมื่อคุณส่องโซเชียลแล้วเลื่อนไปเจอคนที่ไม่มากำลังเช็กอินไปเที่ยว ช้อปปิ้ง กินอาหารหรู หรือดูหนัง ก็อดไม่ได้ที่จะจี๊ดขึ้นสมอง ทั้งที่เราต้องทำงานงกๆ จนปวดหัว แต่คนในกลุ่มบางคนกลับไปเที่ยวสนุกสนานแทนซะได้นะ

อ่านแชทนัดประชุม แต่เงียบกริบ ไม่เคยตอบ

จะนัดคุยงานกันสักครั้ง ยุคเทคโนโลยีแบบนี้ก็ต้องคุยกันในแชทมือถือเพื่อนัดวัน และเมื่อคุณถามหาวันว่างกับสมาชิกในกลุ่ม แต่สิ่งที่ได้รับตอบกลับคือ…ความเงียบ ทั้งที่ขึ้นจำนวนคน ‘อ่านแล้ว’ ครบทุกคน หรือบางครั้งมีคนตอบกลับมาแต่ก็ไม่ครบทั้งกลุ่มเสียที จนงานไม่เดินและสุดท้ายอาจเป็นเราที่ต้องเริ่มลงมือทำเองอยู่เงียบๆ อย่างว่าแหละนะ แชทหนักขวานี่มันเศร้าจริงๆ

มาติงานทีหลัง แต่ตอนทำไม่เคยช่วย

การจะทำงานสักชิ้น มันทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และใช้การรวมพลังความคิดเห็นของคนในกลุ่มกว่าจะออกมาเสร็จสมบูรณ์ได้ แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว กลับมีสมาชิกในกลุ่มที่ไม่เคยช่วยทำงานเลยมาติผลงาน ทั้งที่ช่วงเวลาระหว่างทำงานที่ทุกคนช่วยกันนั้น มีโอกาสให้ออกความคิดเห็นและแก้ไขงานมากมายแต่กลับไม่มาเอง แบบนี้มันช่างเหนื่อยใจเหลือเกิน

ทำงานตามที่แบ่งมา แต่มองด้วยตาก็รู้ว่างานหยาบ

การทำงานก็มักจะต้องแบ่งงานหรือแบ่งหน้าที่กันบ้าง เพราะอาจไม่ได้มาเจอหน้ากันตลอด และการแบ่งงานนั้นก็มีข้อดีคือทำให้คนที่ไม่ทำงานกลุ่ม ได้มีส่วนรับผิดชอบ และไม่สามารถหนีงานได้ แต่สุดท้ายแล้วคนที่ไม่อยากทำงาน ก็คือคนที่ไม่อยากทำงาน ดังนั้นงานที่ออกมาก็อาจไม่ได้ตั้งใจ จนสุดท้ายทุกคนก็ต้องแก้งานนั้นให้ใหม่อยู่ดี

นั่งทำงานด้วยกัน แต่ไถมือถือไม่หยุด

ขณะที่ทุกคนกำลังถกเถียงหรือขะมักเขม้นทำงานกันอยู่นั้น กลับมีใครซักคนในกลุ่มกำลังไถมือถือ ส่องโซเชียลไม่หยุด หากจะหยิบโทรศัพท์มาเช็คเป็นครั้งคราวก็คงไม่มีใครว่า แต่ถ้าหยิบมาเล่นตลอดละก็ คงไม่ดีแน่ เพราะมันแทบไม่ต่างกับไม่มานั่งทำงานเลยน่ะสิ

ไม่เคยแตะงาน แต่อยากเป็นคนพรีเซนต์

‘เดี๋ยวเราพรีเซนต์ให้’ ประโยคนี้ได้ยินแล้วคงชื่นใจ ถ้ามาจากคนที่ทำงานกลุ่มมาตลอด แต่ถ้ามาจากคนที่ไม่เคยแตะงานเลย นี่แหละปัญหา เมื่อคนที่ไม่เคยช่วยหรือรับรู้เนื้อหางานที่ทำ กลับอยากจะช่วยขึ้นมาผ่านการพรีเซนต์ และเมื่อหน้าที่นี้ตกไปอยู่ในมือคนไม่รู้เรื่องงาน สิ่งที่พรีเซนต์ออกมาก็อาจไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือเกิดความเข้าใจผิดได้ ควรซึ้งใจดีไหมนะ

มาขอใส่ชื่อตอนงานเสร็จ แต่เอ๊ะ ใครอะ ?

ในวัยเรียน ‘มีชื่อในงาน = ได้คะแนน’ การใส่ชื่อจึงสำคัญมากและมีผลต่อเกรด ดังนั้นเหล่าคนไม่ทำงานที่เริ่มรู้ตัวแล้วว่า อาจไม่มีชื่อตัวเองในงานกลุ่ม ก็ต้องรีบมาขอให้เพื่อนใส่ชื่อให้ในงาน แม้ตัวเองจะไม่ได้ทำอะไรเลย โดยอาจแลกกับเงินหรือสิ่งของตอบแทน แต่ความสัมพันธ์ก็คงยากที่จะเหมือนเดิมต่อไป

เมื่อเจอคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ในกลุ่ม หลายคนคงเหนื่อย เพราะไม่ใช่แค่ต้องแบกรับงานหนักขึ้นในส่วนของคนที่ไม่ทำ แต่ยังต้องปวดหัวกับเรื่องความสัมพันธ์ เพราะหากอยู่ในวัยเรียน คนในกลุ่มก็มักเป็นเพื่อนกัน จะตัดชื่อก็เกรงใจ จะใส่ก็ไม่แฟร์กับคนที่ทำ แบบนี้ช่างเป็นปัญหาหนักอกหนักใจเสียจริง แต่ทางที่ดีก่อนที่งานหนักจะทับตัวเราไปซะก่อน ควรหาเวลาเปิดใจคุยกับเพื่อนแบบตรงๆ ด้วยเหตุผลจะดีกว่าที่ต้องมาแบกภาระอยู่คนเดียวนะจ๊ะ  อย่างน้อยให้คิดซะว่า เพื่อนจะได้เป็นงานและนำไปต่อยอดในชีวิตเขาได้ไงล่ะ!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0