โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

65วันคลุกฝุ่นพิษ เสียหาย2หมื่นล. หวั่นมะเร็งลาม

ไทยโพสต์

อัพเดต 18 ก.พ. 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    นักวิชาการประเมินฝุ่นพิษคลุ้งกรุง 65 วัน วอด 2 หมื่นล้าน ต่อไปหมอต้องวินิจฉัย "PM2.5" ก่อมะเร็งในระยะยาวหรือไม่ แนะเร่งปรับคุณภาพน้ำมัน ถึงเวลาออกกฎหมายอากาศคุมเข้มมลพิษ      เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานข้อมูลผลการดำเนินงานและสถานการณ์คุณภาพอากาศ ดังนี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เวลา  08.00 น. พบว่าลดลงจากเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24  ชั่วโมง พื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจวัดได้ 10-30 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด โดยมีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีฟ้าจำนวน 20 เขต และสีเขียวจำนวน 4 เขต ทั้งนี้จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ  คาดว่าในวันที่ 19 ก.พ.ปริมาณ PM2.5 มีแนวโน้มลดลง     ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการจัดเสวนา "แนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย" โดยนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วันนี้ กทม.ฝุ่นหายฟ้าใส แสดงสัญลักษณ์เป็นสีฟ้าทุกพื้นที่ แตกต่างจากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ทั้งที่จำนวนรถมากและติดขัดเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีการขับเคลื่อนให้มีกฎหมายอากาศออกมาบังคับโดยเฉพาะ ซึ่งถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องมีกฎหมายนี้เกิดขึ้น      นายสุพัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดใน กทม.เกิดขึ้นในระยะสั้นคือเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. ใจกลางเมืองจะมีปัญหาเยอะเพราะตึกสูงบดบัง แต่ กทม.ไม่ได้เป็นพื้นที่ค่าฝุ่นสูงที่สุด บริเวณที่สูงคือ บริเวณ จ.สมุทรปราการ และ ถ.พระรามที่ 2 จ.สมุทรสาคร ส่วนหนึ่งของปัญหาบริเวณดังกล่าวมาจาก กทม. เพราะลมพัดมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ แทนที่ค่าฝุ่นจะสูงใน กทม.ก็พัดพาไปบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ กทม.จะเกิดปัญหานี้ทุกช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. หลังเดือน ก.พ.จะลดลงและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน วนอย่างนี้เป็นข้อมูล 9 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ถามว่าแย่กว่าเดิมหรือไม่ ก็ไม่ได้แย่กว่าเดิม มันมาเร็วและไปเร็วกว่าเดิม ตอนนี้อากาศเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว     "จากตัวเลขการวิเคราะห์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม.และปริมณฑลนั้น ระยะเวลา 65 วัน สร้างความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายด้านสุขภาพ ถ้าสะสมทุกปีความเสียหายจะมากขนาดไหน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันที่ต้องลงทุนหลักหมื่นล้านนั้น ถ้าลงทุนแล้วใช้ได้นานก็คุ้ม เป็นเรื่องที่โรงกลั่นจะต้องพิจารณา ราคาน้ำมันอาจจะแพงขึ้นไม่ถึง 50 สตางค์ ซึ่งทุกวันนี้ราคาน้ำมันก็เคยขึ้นลงคราวละ 80  สตางค์มาแล้ว" นายสุพัฒน์กล่าว      ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาคือ เราไม่สามารถทราบภาพรวมการเกิดปัญหาทั้งใน กทม.และทั่วประเทศว่าเป็นเท่าไร และแยกไม่ได้ว่าสาเหตุการป่วยของประชาชนเกิดจาก PM2.5, ไข้หวัดใหญ่ระบาด หรือสาเหตุอื่น ทั้งนี้เรามีการเฝ้าระวัง 22 โรงพยาบาลใน กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.มีตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่กว่า 1,000  ราย สิ่งที่เราเห็นคือเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. คนเข้าสู่ระบบคัดกรองมากขึ้น กลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุที่มีโรคหอบหืด ถุงลมอุดกั้น และโรคหัวใจ โดย จ.สมุทรปราการสูงสุด ดังนั้นหน่วยราชการต้องสื่อให้ประชาชนเข้าใจใหม่ การออกกำลังกายมีทั้งกลางแจ้งและในอาคารสถาน หากฝุ่นเกินต้องงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยต่อจากนี้แพทย์จะนำ PM2.5 มาวินิจฉัยโรคต่างๆ ในระยะยาวต่อไป เพื่อติดตามการเกิดเช่นมะเร็ง เป็นต้น      นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ต้องร่วมกันใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนอาจไม่ต้องเข้าแถวหรือเคารพธงชาติพร้อมกัน ให้ทำงานที่บ้าน หรือในระดับมหาวิทยาลัยในช่วงที่ฝุ่นวิกฤติอาจจะใช้วิธีการสอนผ่านช่องทางออนไลน์หรือไลฟ์สด สิ่งที่ต้องรีบทำคือการปรับมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 ในรถทุกประเภท นอกจากนั้นต้องส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถยนต์อัตโนมัติเพิ่มขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานรัฐ ประเทศที่เคยเกิดปัญหาก็แก้ได้โดยใช้เวลาเป็นสิบปี แต่คนไทยลืมง่ายซึ่งเรื่องนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง     นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส.กล่าวว่า วันนี้มีคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจัดการปัญหาต้องปรับไปเรื่อยๆ การเผาในที่โล่งเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ เป็นแหล่งสำคัญของการเกิดมลพิษ ซึ่งมีข้อตกลงอาเซียนที่ต้องดูแลร่วมกัน จากการเดินทางไปประเทศเกาหลี พบว่ามีการตั้งนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมุ่งสู่อากาศสะอาดอย่างไร โดยให้ความสำคัญกรุงโซลเป็นพิเศษ ปัญหาเขายากกว่าเราเพราะเป็นภูเขาทั้งนั้น พลังงานยังใช้ถ่านหินอยู่ และได้รับมลพิษจากเพื่อนบ้านมาด้วย ทำให้เรามีกำลังใจในการแก้ปัญหา สิ่งที่ถามเขาคือมีการกล่าวโทษรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐหรือไม่ เขาไม่กล่าวโทษรัฐบาล แต่คิดว่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยมีกระทรวงสิ่งแวดล้อมดูแลประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการควบคุมแหล่งมลพิษสำคัญ       วันเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เวลา 05.00 น. พบว่าจังหวัดลำพูนมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน โดยค่า PM2.5 อยู่ที่ 51 มคก./ลบ.ม. ค่า PM10 อยู่ที่ 74 มคก./ลบ.ม. และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 101 ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัดลำพูนให้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่         พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า พบไฟไหม้ในพื้นที่หลายจุดบนดอยเกลาหลวง จ.ลำพูน โดยมีลักษณะยาวทอดไปจนถึงเขตติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งช่วงบ่ายได้นำ MI17 ลำที่  1 ขึ้นปฏิบัติการทิ้งน้ำในพื้นที่จังหวัดลำพูน 7 รอบ ใช้ปริมาณน้ำ 24,500 ลิตร ส่วน MI17 ลำที่ 2 ขึ้นปฏิบัติการทิ้งน้ำในพื้นที่จังหวัดลำพูน 5 รอบ โดยใช้ปริมาณน้ำ 17,500 ลิตร นอกจากนี้ได้ประสานให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยลำพูนและเชียงใหม่จัดกำลังภาคพื้นดินเข้าดำเนินการด้วย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0