โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

6 ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝันร้าย

issue247.com

อัพเดต 19 มี.ค. 2562 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 00.00 น.

ทุกคนรู้ดีว่าการสะดุ้งตื่นเพราะฝันร้ายนั้นเป็นเช่นไร และดูเหมือนว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกิจกรรมต่างๆที่เราทำทุกวัน ฝันร้ายมักจะเกิดขึ้นในชั่วโมงแรกๆของการเข้าสู่ช่วง REM ซึ่งพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย โดยทั่วไปฝันร้ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับหรือสุขภาพ แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำและรุนแรงก็อาจทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงการนอนหลับ ทางที่ดีคุณควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ

การนอนหลับคือช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้พักผ่อนและซ่อมแซมตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันถัดไป อย่างไรก็ตามฝันร้ายอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลสูงจนทำให้ร่างกายอ่อนล้า ตึงเครียด และมีความอยากน้ำตาลกับคาเฟอีนเพิ่มขึ้น การฝันร้ายซ้ำๆกันในระยะยาวจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่ทนทานต่อน้ำตาลและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าผู้ที่ฝันร้ายเป็นประจำมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติอีกด้วย งั้นคุณจะควบคุมฝันร้ายได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือการมองหาสาเหตุและด้านล่างนี้อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงปัญหา

 

1. คุณกำลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต

การคิดในเชิงลบกับปัญหาต่างๆที่เรื้อรังสามารถกำหนดประเภทและจำนวนของฝันร้ายได้ หากคุณเข้านอนพร้อมกับความคิดแย่ๆสมองก็จะถูกอัดแน่นไว้ด้วยความคิดแย่ๆและปลดปล่อยออกมาในยามที่คุณหลับ การศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรงหรือแค่มีทัศนคติเกี่ยวกับตนเองในเชิงลบจะมีแนวโน้มฝันร้ายมากขึ้น นอกจากภาวะซึมเศร้าแล้วความเครียดทั่วไปในชีวิตประจำวันก็สามารถส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับได้ เช่น การย้ายบ้าน การเตรียมสอบ หรือการเปลี่ยนตำแหน่งในที่ทำงาน ขณะที่ความเศร้าและปัญหาอื่นๆก็ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

2. คุณมีลักษณะบุคลิกภาพบางอย่าง

การศึกษาในปี 2001 พบว่าผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายจะฝันร้ายบ่อย ส่วนผู้ที่มีหัวศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ก็มีแนวโน้มฝันร้ายบ่อยเช่นกัน

 

3. คุณมีอาการชอกช้ำทางจิตใจ

จากการศึกษาปี 2015 พบว่าฝันร้ายคืออาการหลักของภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงซึ่งอาจทำให้นอนหลับยาก บางคนจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกกลัวหรือเศร้าหลังจากที่ฝันร้าย อย่างไรก็ตามการฝันร้ายเป็นประจำยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเก็บกด การชอกช้ำทางจิตใจ หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับด้วย ทางที่ดีคุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

4. คุณรับประทานอาหารก่อนเข้านอน

เป็นที่รู้กันดีว่าการรับประทานขนมมื้อดึกนั้นไม่ค่อยดีต่อสุขภาพของคนเราสักเท่าไหร่ แต่คุณอาจไม่รู้ว่ามันคือสาเหตุของฝันร้าย เนื่องจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือแค่ของว่างมื้อดึกจะไปกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญและทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นรวมถึงการทำงานของสมองจนอาจทำให้ฝันร้ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชี้ว่าอาหารรสจัดสามารถทำให้ฝันร้ายได้ด้วย

 

5. คุณดื่มสุราก่อนนอน

แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยให้คุณนอนหลับง่ายขึ้นแต่ก็อาจทำให้คุณนอนไม่หลับได้ด้วยเช่นกัน การดื่มวอดก้าโทนิคจะทำให้ฝันร้ายดูสมจริงมากกว่าปกติจนอาจทำให้คุณเดินละเมอได้

 

6. การใช้ยาจะรบกวนการนอนหลับของคุณ

ยาบางชนิดอาจทำให้ฝันร้ายได้ เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาต้านฮิสทามีน (พบในยานอนหลับและยารักษาโรคภูมิแพ้) และยาสเตียรอยด์ ขณะที่ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยารักษาโรคพาร์คินสัน และยาลดคอเลสเตอรอลก็รบกวนการนอนหลับและทำให้ฝันร้ายได้เช่นกัน

 

แล้วเราจะป้องกันฝันร้ายได้อย่างไร?

นอกเหนือจากปัญหาสุขภาพจิตแล้วคุณควรระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหารก่อนเข้านอนและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อป้องกันฝันร้ายด้วย ขณะที่กิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกสมาธิ การบำบัด การออกกำลังกาย และการจดบันทึกก็ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับซึ่งอาจบรรเทาความรุนแรงของฝันร้ายได้ ทั้งนี้การรับรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตก่อนเข้านอนก็ช่วยป้องกันฝันร้ายได้เช่นกัน ฝันร้ายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวแต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยคุณในการจัดการและประเมินสุขภาพโดยรวมต่างหาก อันที่จริงฝันร้ายมีประโยชน์มากเนื่องจากมันคือจิตใต้สำนึกที่เตือนคุณว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นและต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นคราวหน้าถ้าคุณสะดุ้งตื่นกลางดึกหลังจากที่ถูกสัตว์ประหลาดไล่ล่าในความฝัน คุณควรถามตัวเองว่าสัตว์ประหลาดตัวนั้นหมายถึงอะไร นี่อาจเป็นขั้นตอนแรกในการขจัดฝันร้ายไป..ตลอดกาล

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0