หน้าฝนมาเยือนแล้วก็ถึงเวลาที่บรรดาเจ้าของสุนัขจะต้องใส่ใจดูแลเจ้าตูบเพิ่มเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเสี่ยงกับการเป็นหวัดเพราะตากฝนตัวเปียกแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเห็บหมัดมากขึ้นด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไข่เห็บหมัดที่แม่มันไปวางไข่ไว้ตามมุมต่างๆ ของบ้านจะฟักออกมาเป็นตัวได้ดีเมื่อมีความชื้นในอากาศสูง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเห็บหมัดถึงระบาดในหน้าฝน
เห็บหมัดตัวเล็กจิ๋วเท่าปลายนิ้ว แต่ความจริงแล้วมันมีพิษสงไม่น้อยเลย สามารถนำโรคมาสู่สุนัขตั้งแต่เป็นผื่นคันจนถึงเป็นโรคร้ายที่ทำให้เสียชีวิตได้ ลองมาดูรายละเอียดของแต่ละโรคกันว่าเห็บหมัดทำร้ายเจ้าตูบของเราได้อย่างไร
1) โรคโลหิตจาง เนื่องจากทั้งเห็บและหมัดเป็นแมลงดูดเลือดที่กินเลือดเป็นอาหาร ดังนั้น หากสุนัขของเรามีเห็บหมัดมาเกาะกินอาศัยอยู่ตามตัวจำนวนมาก สุนัขก็จะถูกเห็บหมัดดูดกินเลือดจนเป็นตัวเต่ง ซึ่งทำให้เกิดโรคโลหิตจางตามมา
2) โรคพยาธิเม็ดเลือด อี.เคนิส โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเห็บกัด โดยขณะที่เห็บดูดเลือดก็จะปล่อยเชื้อพยาธิเม็ดเลือดที่ชื่อ อี.เคนิส ให้กับสุนัขเคราะห์ร้ายของเรา ซึ่งเชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดชนิดโมโนไซต์ ทำให้สุนัขป่วยด้วยอาการอ่อนพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง น้ำหนักลด โลหิตจาง ต่อมน้ำเหลืองและม้ามโต
3) โรคพยาธิเม็ดเลือด บาบีเซีย เกิดจากถูกเห็บกัดเช่นเดียวกับ อี.เคนิส แต่บาบีเซียจะมุ่งทำลายเม็ดเลือดแดงเพียงอย่างเดียว ซึ่งปล่อยทิ้งไว้สุนัขก็จะตายด้วยโลหิตจางอย่างรุนแรงเช่นกัน
4) โรคพยาธิเม็ดเลือด เฮปาโตซูน เกิดจากการที่สุนัขกินเห็บที่มีเชื้อนี้เข้าไป พยาธิเม็ดเลือดเฮปาโตซูนก็จะทำให้สุนัขมีอาการ มีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ขาหลังอ่อนแรง จนกระทั่งขากะเผลกเนื่องจากกล้ามเนื้ออักเสบ
5) การติดเชื้อพยาธิตัวตืด จัดเป็นพยาธิลำไส้ชนิดหนึ่ง อยู่ในจำพวกพยาธิตัวแบน ซึ่งพยาธิตัวแก่จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของสุนัขแล้วปล่อยปล้องที่คล้ายเม็ดแตงกวาหลุดปะปนมากับอุจจาระ พยาธิตัวตืดนี้ติดต่อผ่านหมัดที่กินไข่พยาธิเข้าไป แล้วสุนัขมากินหมัดที่มีไข่พยาธินั้น อาการที่แสดงออกคือ ไม่จำเป็นจะต้องท้องเสียเสมอไป แต่อุจจาระอาจจะเหลวมากขึ้น อาจมีภาวะท้องมาน เนื่องมาจากการสูญเสียโปรตีนและสารอาหารไปให้พยาธิในลำไส้ ทำให้น้ำหนักลด มีอาการคันก้นอาจจะมีการเอาก้นไถพื้น
6) โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้น้ำลายของหมัด ทำให้สุนัขมีอาการคันอย่างรุนแรงและมีผิวหนังแดงและอักเสบ พบได้บริเวณแนวสันหลังหรือบริเวณที่มีหมัดอาศัยอยู่ ซึ่งหากไม่จัดการปราบหมัดให้หมดสิ้น สุนัขก็จะทนทุกข์ทรมานจากผิวหนังอักเสบ เพราะแพ้น้ำลายหมัดตลอดไป
ได้รู้จัก 6 โรคร้ายจากเห็บหมัดกันไปแล้ว หากเจ้าของสุนัขพบอาการผิดปกติกับสุนัขก็ควรรีบพามาตรวจโดยเร็วเพื่อที่จะได้รักษาได้ทันท่วงที ซึ่งสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ได้ให้คำแนะนำว่า
“เมื่อมีอาการที่น่าสงสัย สัตวแพทย์จะตรวจร่างกาย เจาะเลือด และวินิจฉัยว่าเป็นพยาธิเม็ดเลือดชนิดใด มีค่าเลือดใดที่ผิดปกติบ้าง จะได้รักษาได้ครอบคลุม ซึ่งเจ้าของควรให้สุนัขกินยาให้ครบ มาตรวจร่างกายตามนัด และเช็คเลือดสม่ำเสมอ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการรักษาพยาธิเม็ดเลือดให้ครบคอร์สจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในบางรายที่มีภาวะเลือดจางรุนแรง อาจต้องถ่ายเลือดเพื่อช่วยชีวิตก่อน จากนั้นจึงค่อยกินยารักษาพยาธิเม็ดเลือด รักษาที่ต้นเหตุ กินยาบำรุงเลือดต่อไป และเมื่อหายดีแล้วควรใช้ยาหรืออุปกรณ์ป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำทุกเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
แต่จะเป็นการดีถ้าเจ้าของสามารถป้องกันสุนัขให้ห่างไกลจากเห็บหมัดไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันการกำจัดเห็บหมัดมีหลายรูปแบบ ทั้งยาหยดหลังคอ ยากิน ยาฉีด หรือปลอกคอ ที่สามารถป้องกันเห็บหมัด และพยาธิหนอนหัวใจ สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก หากพาสุนัขไปเดินเล่นสนามหญ้าแนะนำให้พ่นสเปรย์ยาป้องกันเห็บหมัดตามง่ามเท้าและใต้ท้อง เพื่อลดโอกาสที่เห็บหมัดจะเกาะติดมา ถ้าที่บ้านหรือรอบๆ บ้านมีเห็บหมัดเยอะอาจใช้น้ำยาที่สามารถกำจัดเห็บหมัดได้ถูพื้น และทำความสะอาดเป็นประจำ”
สำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่แน่ใจว่าเจ้าตูบของตัวเองถูกเห็บหมัดทำร้ายมาหรือเปล่า ก็สามารถพาไปตรวจเช็คร่างกายเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อทุกสาขา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-079-9999 www.facebook.com/ThonglorPet หรือ Line: @jaothonglor
ความเห็น 0