โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

6 ปีระบอบประยุทธ์ อะไรคือสิ่งที่ควรจดจำและตั้งคำถาม? คุยกับ รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 02 มิ.ย. 2563 เวลา 09.26 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2563 เวลา 09.26 น.
ปกธำรงงงง

6 ปีระบอบประยุทธ์ อะไรคือสิ่งที่ควรจดจำและตั้งคำถาม? คุยกับ รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กับ “ขบวนการแช่แข็งประเทศ”

“อะไรคือสิ่งที่เราจึงต้องจดจำภายใต้ระบอบประยุทธ์ 6 ปีที่ผ่านมา สำหรับผม การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ได้ 6 ปี อยู่นานกว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อยู่ 5 ปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือต้นแบบโมเดลของการเป็นทหารแบบเผด็จการสมบูรณ์แบบอยู่ได้ 5 ปี แต่ พล.อ.ประยุทธ์แซงหน้าจอมพลสฤษดิ์ไปแล้ว”

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตอบทันทีถึงคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจำในห้วงครบรอบ 6 ปีที่ คสช.ยึดอำนาจจากปี 2557

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ชวนคิดคำถามต่อไปว่า แล้วเราสามารถจำอะไรได้บ้างจากผู้นำคนนี้

การพูดคำว่า “ไปดาวอังคาร”? ในขณะที่บางคนอาจจดจำจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องของจุดเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แต่พอเราเห็นหน้า พล.อ.ประยุทธ์ นึกไม่ออกเลยว่าอะไรคือผลงานที่ทำให้เราได้จดจำ

สิ่งหนึ่งที่คนอ้างถึงคือ “ความสงบเรียบร้อยของสังคม” ก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นได้ชัด

แต่เอาเข้าจริงๆ มันคือความสงบที่ถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พร้อมที่จะปะทุได้ทุกเมื่อ

เมื่อมามองสิ่งที่เป็นกลไกทางอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้ามองในเชิงของบารมี เราจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เมื่อถูกอธิบายด้วยคุณลักษณะทางบารมีตามกรอบทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ ว่าด้วยการเป็นผู้นำทางความคิด การมีบุคลิกภาพความเป็นผู้นำ ความเด็ดขาด การสะสมบุญบารมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถ้าเราไปดูในแต่ละปัจจัยที่กล่าวมาแล้วนั้น เราจะมองไม่เห็นเลย

แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปในตัวผู้นำทหารในอดีตเราจะยังพอมองเห็นคำว่าบารมีอยู่บ้างว่าพวกเขาได้สั่งสมมาใช้เวลายาวนานเพียงใด

จึงมีคำถามต่อมาในเชิงวิชาการว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ 6 ปีอยู่ได้เพราะอะไรกันแน่?

เพราะว่าความมีบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์หรือ?

เราก็เห็นแล้วว่าไม่น่าจะใช่ เพราะความมีอำนาจเด็ดขาดของกองกำลังทหารหรือ?

อันนี้อาจจะใช่ แต่มันเกิดขึ้นเพราะว่าสามารถสร้างความชอบธรรมให้เกิดการยอมรับจากประชาชนได้ใช่หรือไม่?

อันนี้เราก็ไม่เห็น

ดังนั้น คำถามสำคัญที่สุดเลยที่สังคมลืมมองตรงจุดนี้ก็คือ อะไรคือเหตุผลในการ “เข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์” จากรัฐประหารปี 2557 ข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจครั้งนั้นเพื่ออ้างว่าไม่ให้เกิดการทำร้ายกันของคนสองกลุ่มในสังคมไทย

แต่พอเวลาผ่านไป เราจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งถูกกระทำตลอดเวลา แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งแทบจะไม่ถูกกระทำอะไรเลย

กลายเป็นว่าดูเหมือนในช่วงแรก คสช.ขึ้นมาเพื่อเป็นกรรมการ แยกคู่ขัดแย้ง

แต่พอเวลาผ่านไป 5-6 ปี เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองกับประชาชน

เมื่อมองมาถึงตรงนี้ เราก็กลับไปสู่คำถามแรกอีกครั้งว่าอะไรคือสิ่งที่เราสามารถจดจำ พล.อ.ประยุทธ์ได้ในรอบ 6 ปี

ผมคิดว่าบางเบามาก

ยิ่งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเรื่องกู้เงินใน แก้วิกฤติหนนี้ ก็พบว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่

เรายังมองเห็นกระบวนการที่จะยังคงรักษาอำนาจ จากการที่อยู่ในตำแหน่งแบบอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ที่ค่อยๆ แปลงโฉมเป็นรัฐทหาร อยู่ในเสื้อคลุมของการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา

พูดง่ายๆ คือ ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแต่ “การรักษาอำนาจ” และผลประโยชน์ของเครือข่ายทางการเมืองทั้งนั้น

ชมคลิป

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งมรดกที่ คสช.ฝากไว้คือเรื่องของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่กลายเป็นข้ออ้าง โดยพยายามวางกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่ารัฐบาลต่อไปจะต้องทำตามแบบนี้

คำถามคือ ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร?

การออกแบบยุทธศาสตร์ชาติคือการสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัวของรัฐทหารระบอบเก่าที่กลัวว่าจะถูกบ่อนทำลายลงด้วยประชาธิปไตยสากล ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แตกต่างจากแนวนโยบายรัฐที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือไม่?

แนวนโยบายรัฐก็คือการพยายามบอกว่ารัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องทำคืออะไรบ้าง แล้วมันมีที่ไหนที่คนเป็นรัฐบาลไม่รู้ว่าภารกิจของตัวเองคืออะไร

นี่คือความกลัวของทหารที่กลัวว่าตนเองจะเสื่อม-สูญ-สลายอำนาจและผลประโยชน์ภายใต้กระบวนการการเลือกตั้งของประชาชน จึงต้องเขียนอะไรต่างๆ มาอยู่ในรัฐธรรมนูญ

คำถามต่อมาคือ นโยบายรัฐกับยุทธศาสตร์ชาติมีไว้ทำไม

เพราะทั้ง 2 อันมันก็คืออันเดียวกัน มันคือภารกิจของทุกรัฐบาลที่จะต้องดำเนินงานผ่านกระทรวงต่างๆ

เราก็จะเห็นว่าทหารระบอบเก่ากลัวประชาธิปไตยสากล เพราะว่าการเลือกตั้งในแต่ละครั้งได้สั่นคลอนอำนาจของรัฐทหาร เพราะการเลือกตั้งมีความหมายว่าประเทศในโลกจะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามใหม่ๆ ได้

ดังนั้น การที่จะรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ได้ แม้แต่ไวรัสโควิด-19 วิธีการรับมือ คือการที่ไม่สามารถใช้วิธีการแบบดั้งเดิมได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลุ่มคนบริหาร

การเปลี่ยนกลุ่มคนบริหารนั้น เราลองคิดถึงบริษัทบริษัทหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนทีมผู้บริหาร มันนำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายของบริษัท ดังนั้น รัฐบาลก็คือการเปลี่ยนกลุ่ม แล้วมันจะนำไปสู่การรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ

แต่รัฐประหารคือความพยายามที่จะฟรีซแช่แข็งประเทศ ผ่านคำว่านโยบายรัฐและยุทธศาสตร์ชาติโดยบอกว่าจะต้องทำตาม เดินตามแบบนี้

แล้วถ้าเราไปดูแนวนโยบายรัฐและภัยคุกคามอันเด่นๆ ของชาติ จะอยู่ที่ว่าจะต้องมีกองทัพ จะต้องส่งเสริมการซื้ออาวุธและขยายกองทัพอยู่ตลอดเวลา

คำถามคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการใช้งบประมาณไปกับการขยายตัวของกองทัพ และการมีขนาดของกองทัพที่ใหญ่เกินไปนั้นเป็นภัยคุกคามของชาติในยุคเรา

นี่คือคำถาม เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการการเลือกตั้งของประชาธิปไตยนั้น จะก่อให้เกิดการคัดสรรผู้นำใหม่ๆ ขึ้นมา

ยิ่งถ้าเราดูการเลือกตั้งทั่วโลก นานาประเทศจะมีการเลือกตั้ง ทุกๆ วาระ ทุกๆ 4 ปีโดยตลอด การเลือกตั้งต้องไม่ใช่การเลื่อนหรือหยุด โดยมีผู้นำที่มาจากการแต่งตั้งมาแทรก

แบบนี้เขาเรียกว่ากระบวนการแช่แข็งประชาธิปไตย

การเลือกตั้งจะต้องมีทุกๆ วาระ แถมแนวโน้มผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งจะมีแนวโน้มอายุน้อยลงด้วยซ้ำ คนก็จะมองเห็นว่ามีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา คนชุดเดิมไม่สามารถที่จะรับมือกับปัญหาใหม่ๆ แบบนี้ได้ การเลือกตั้งจะทำให้เห็นว่าเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ได้

แต่ถ้าเรายังได้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้ามา ความงามคนรุ่นนี้น่าจะอยู่ที่โฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้ มันตลกเหลือเกินในขณะที่โลกของเรา เขาคุยกันเรื่องไปอวกาศ ไปจักรวาล คุยเรื่องโลกของการสื่อสาร Social Media ไร้พรมแดน 5 G

แต่ผู้นำบางประเทศยังเล่น Facebook ไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ เรียกว่าคุณไปไม่ทันเทคโนโลยีแต่คุณยังจะรักษาสังคมนี้ไว้ให้อยู่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ในแบบของพวกคุณมันไม่ได้

ดังนั้น สังคมไทยเราจึงมองเห็นว่าการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติรัฐบาลประยุทธ์คือการแช่แข็งประเทศ-ประชาธิปไตย ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้

เราจึงได้เห็นการขยายอายุของข้าราชการประจำ หรือการทำให้คนที่สูงอายุมาอยู่ในกลุ่มผู้บริหาร

คำถามคือ คุณจะรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ในประเทศนี้ได้อย่างไร?

ในเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้คือภัยคุกคามโดยตัวของมันเอง

ทีนี้กลับไปที่การรัฐประหาร ถ้าดูจากสถิติในสังคมไทยตลอด 88 ปี ประชาธิปไตยมีการรัฐประหาร 13 ครั้ง อัตราเฉลี่ยคือทุก 6 ปีครึ่ง จะรัฐประหารสำเร็จ 1 ครั้ง

ส่วนการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จเกิดขึ้น 11 ครั้ง อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปีกว่า

สรุปแล้วทั้งรัฐประหารสำเร็จหรือไม่สำเร็จ รวมกันทั้งสิ้น 24 ครั้ง ถ้าเรามาหารด้วย 88 จะเห็นว่าทุก 2-3 ปีมีความพยายามรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งถ้าการรัฐประหารสำเร็จ 1 ครั้ง แล้วคุณสามารถเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของบ้านเมืองได้อย่างยาวนานส่งผลมีอิทธิพลต่อชีวิต ความรุ่งเรืองเจริญของประชาชน แน่นอนว่าพวกคุณสำเร็จ

แต่ถ้าพวกคุณยังคงทำแบบซ้ำๆ ซากๆ ทำอยู่บ่อยครั้ง มันมีความหมายว่ารัฐประหารของคุณนั้นทำไม่สำเร็จ

เพราะการรัฐประหารของคุณที่ทำไม่สำเร็จคุณจึงต้องทำซ้ำๆ ซากๆ เพราะคุณพยายามดึงอำนาจกลับมาที่คุณอยู่ตลอดเวลา

คุณก็รู้ว่าคุณไม่สามารถที่จะฝืนอยู่อย่างนั้นได้

และสังคมไทยได้ปลูกต้นประชาธิปไตยมาเกือบศตวรรษแล้ว…

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0