โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

6 เรื่องต้องรู้ป้องกันถูกหลอก

Businesstoday

เผยแพร่ 07 ต.ค. 2562 เวลา 00.02 น. • Businesstoday
6 เรื่องต้องรู้ป้องกันถูกหลอก

ถ้าไม่นับข่าวมาตรการชิม ช็อป ใช้ ของกระทรวงการคลัง ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางจากประชาชนที่แห่แหนเข้าร่วมโครงการจนมีกระแสจะเปิดเฟส 2 เร็วๆ นี้ ก็ต้องบอกว่า ข่าว “เจ้าสาว” สายฟ้าแลบที่ตัดสินใจเข้าร่วมพิธีแต่งงานกับผู้ชายที่เธอเพิ่งรู้จักเพียงไม่กี่วัน ด้วยคิดว่าเขาเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน เป็นอีกหนึ่งข่าวที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจและนำเสนอเรื่องของเศรษฐีกำมะลอแบบเจาะลึกในหลากหลายแง่มุม

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรูหราที่ปรากฏในโซเชียล การทำธุรกิจในต่างประเทศ และอื่นๆ อีกมากมายที่เจ้าตัวบรรจงปรุงแต่งเพื่อ “หลอกเงิน” จากผู้หญิงที่หลงเชื่อ ดิฉันเพิ่งอ่านเรื่องราวที่คล้ายๆ หนุ่มคนนี้ในเพจเพจนึง แต่เป็นเรื่องในต่างประเทศ ที่ชายหนุ่มมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน นัดเดทกับสาวด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว พักในโรงแรมหรู แต่สุดท้ายอ้างว่ามีคนปองร้าย จนเขาปรากฏตัวไม่ได้ จะใช้บัตรเครดิตก็ไม่ได้เพราะอาจจะถูกตามจนเจอตัวและอาจถูกทำร้าย ดังนั้น จึงขอให้หญิงสาวที่คบหาดูใจกันช่วยเปิดบัญชีบัตรเครดิตในชื่อของเธอ ให้เขาใช้ ซึ่งหญิงสาวก็เต็มใจช่วยเป็นอย่างดี

ไม่ต้องเล่าตอนจบนะคะว่าเรื่องมันเศร้าแค่ไหนกับการต้องใช้หนี้ที่เราไม่ได้ก่อ!

“หลักคิด” ที่จะทำให้เราปลอดภัยจากกลโกง ไม่ว่าจะจากผู้ชาย (หรือผู้หญิง) ที่เข้ามาในรูปแบบที่ทำให้เราหลงรัก หรือมาในรูปแบบของผู้หวังดีชักชวนให้ไปลงทุน เอาจริงๆ ก็ไม่แตกต่างกันหรอกค่ะ ที่ผ่านมาเคยเขียนไปบ้างแล้ว แต่กระแสฮอตแบบนี้จึงขออนุญาตนำกลับมาเสนออีกครั้งว่า “เราปลอดภัยจากกลโกง” ได้จริงๆ ค่ะ

ข้อแรกคือต้องมีสติถ้าเป็นกลโกงการเงิน จะมาในรูปแบบของโทรศัพท์จากใครก็ไม่รู้ ที่โทรมาแจ้งหนี้บ้าง แจ้งว่าเราได้รับรางวัลบ้าง หรือมีพัสดุมาบ้าง แต่ติดต่อเราไม่ได้ เพราะข้อมูลที่ให้ไว้ไม่ถูกต้อง บางกรณีก็จะขอข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน หรือเลขบัตรเครดิต ทำนองว่าต้องขอตรวจสอบอีกที หรือบางทีก็อ้างว่า ลูกหรือน้องหรือหลานหรือญาติของเราประสบอุบัติเหตุ หรือไปขับรถชนใคร อะไรก็ได้ที่ทำให้เราตกใจไว้ก่อน จากนั้นก็ต้องเร่งรัดให้เราโอนเงินให้ เจอแบบนี้ต้อง “ตั้งสติ” ค่ะ

ข้อสังเกตคือ มิจฉาชีพจะเร่งรัดและไม่ให้เวลาเราคิดมากนัก ต้องรีบตัดสินใจ (กรณีหลอกขายของไม่มีคุณภาพ แต่พยายามแถมโน่นแถมนี่ก็เหมือนกัน พนักงานจะเร่งปิดการขายแบบไม่ให้ผู้ซื้อมีเวลาคิดให้รอบคอบเลย) กรณีของเจ้าสาวที่ถูกเศรษฐีกำมะลอหลอกลวงก็เหมือนกัน เจอกันแค่วันเดียว ครั้งเดียว ผู้ชายก็ขอแต่งงานทันที ถ้ามี “สติ” นิดเดียว เราจะเห็นพิรุธบางอย่างแน่นอนค่ะ

ข้อสองคือต้องไม่โลภเพราะความโลภ อยากได้อยากมี จะทำให้เราขาดความยั้งคิด และจะทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ต้องนึกไว้เสมอว่า การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ ในเวลาสั้นๆ หรือของที่มีราคาถูกจนผิดปกติ ไม่มีอยู่จริง

ข้อสามอย่าไว้ใจใครง่ายเกินไปโดยเฉพาะคนที่เพิ่งรู้จักกัน หลายๆ คนไว้ใจคนที่เพิ่งรู้จักกันผ่านโลกโซเชียล ไม่รู้ที่มาที่ไปชัดเจน แต่ก็ไว้ใจยอมให้หยิบยืมเงิน หรือไว้ใจนำเงินไปลงทุนกับเขา หรือกรณีที่อาจจะถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพอ้างว่า โทรมาจากหน่วยงานราชการ หรือสถาบันการเงิน ก็ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว เพราะปกติหน่วยงานเหล่านี้ไม่ขอข้อมูลส่วนตัวผ่านทางโทรศัพท์อยู่แล้ว 

ข้อสี่ต้องกล้าปฏิเสธ ไม่ต้องเกรงใจค่ะ ไมว่าจะเป็นคนรู้จักหรือคนไม่รู้จัก ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจถ้าเราพิจารณาแล้วว่า การยืมเงินหรือการชักชวนให้ไปลงทุนนั้น จะทำให้เราได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยิ่งถ้าเป็นคนรู้จักแล้วรู้จุดอ่อนว่า เราเป็นคนใจอ่อน ขี้เกรงใจ เขาก็หว่านล้อม นี่รวมถึงบรรดาสถานเสริมความงามที่เดี๋ยวนี้ชอบออกบูธตามห้าง แล้วพยายามลากลูกค้าเข้าบูธไปหว่านล้อมขายแพคเกจ ถ้าเราไม่ต้องการซื้อจริงๆ ก็ปฏิเสธเสียงแข็งไปเลยค่ะ

ข้อห้าตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจ เพราะมิจฉาชีพมักมีวิธีพูดที่ทำให้เราคล้อยตามและต้องการให้เราตัดสินใจทันที แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ต้องตรวจสอบที่มาที่ไป หรือสอบถามโดยตรงกับหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน ที่ถูกอ้างถึงเสียก่อนว่าจริงเท็จอย่างไร ถ้าเราแค่บอกว่า ขอเวลาตรวจสอบก่อน มิจฉาชีพจะรู้ว่า เราไหวตัวทันแล้ว หลอกไม่ง่ายแน่ๆ ก็จะถอยออกไปเองค่ะ

ข้อสุดท้ายต้องติดตามข่าวสารอยู่เสมอ การติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะการเตือนภัย จะช่วยให้รู้เท่าทันวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ และไม่ทำให้ตกเป็นเหยื่อกลโกง เรื่องนี้ก็แปลกแต่จริงนะคะ เพราะเคยถามหลายคนที่ถูกหลอกว่า เคยเห็นข่าวหลอกลวงหรือการแจ้งเตือนจากหน่วยงานต่างๆ บ้างหรือไม่ ส่วนใหญ่จะบอกว่า “ไม่เคย” เกือบทั้งนั้น ดังนั้น การติดตามข่าวสารจึงสำคัญมากๆ ค่ะ  นอกจากนี้ ควรหาความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติมด้วย จะช่วยป้องกันกลโกงต่างๆ ได้ดีขึ้น

เราหาเงินด้วยความยากลำบากจะเสียเงินทั้งทีก็ควรจะคุ้มค่าอย่าให้ต้อง “เสียรู้” เพราะถูกหลอกเลยค่ะ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : แบงก์ชาติยังไม่ใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR limit ในปีนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0