โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

6 เดือน 'ประยุทธ์' ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำงานตำแหน่ง 'นายกฯ' ได้ดีมาก

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 02.46 น.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "6 เดือนนายกประยุทธ์ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,278 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจ ต่อการทำงานของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย(Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำรงตำแหน่งครบ 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 8.92 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของนายกฯ พูดจริงทำจริง ชัดเจน มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจ ตั้งใจจริง มุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ และพร้อมจะช่วยเหลือประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยขึ้น ร้อยละ 30.13 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯได้ค่อนข้างดี เพราะ ดูแลจัดการบ้านเมืองได้ดี แก้ปัญหาความไม่สงบได้ ช่วยเหลือประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทำงานดี ไม่วุ่นวาย ไม่มีข่าวเสียหาย สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งลงได้ ร้อยละ 25.98 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ค่อยดี เพราะ การทำงานยังมีจุดบกพร่อง การบริหารงานประเทศไม่ดีขึ้น ยังไม่เห็นผลงาน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประชาชนยังเดือดร้อน และมีการปกป้องพวกพ้อง ร้อยละ 33.72 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ดีเลย เพราะ การบริหารงานประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คืบหน้า แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ บริหารประเทศไม่ดีทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ได้ใส่ใจประชาชนเท่าที่ควร ยังไม่โปร่งใสพอ ไม่มีความเป็นธรรม และช่วยเหลือแต่พวกของตัวเอง และร้อยละ 1.25 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ทำงานได้ค่อนข้างดีและดีมาก มีสัดส่วนลดลงซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ทำงานได้ไม่ค่อยดีจนถึงระดับไม่ดีเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ส่วนลักษณะการทำงานในรอบ 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในด้านต่าง ๆ พบว่า

ด้านอุดมการณ์ในการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.73 ระบุว่า มีอุดมการณ์ และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน ขณะที่ ร้อยละ 47.34 ระบุว่า ไม่มีอุดมการณ์ คิดแต่จะทำงานเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพรรคพวก เท่านั้น และร้อยละ 4.93 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ/ไม่ตอบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีอุดมการณ์ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีอุดมการณ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความกล้าตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.12 ระบุว่า มีความกล้าตัดสินใจ ในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ ขณะที่ ร้อยละ 46.32 ระบุว่า ไม่มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและ การบริหารที่สำคัญ และร้อยละ 5.56 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ/ไม่ตอบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีความกล้าตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีความกล้าตัดสินใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านบุคลิกภาพผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.36 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหารขณะที่ ร้อยละ 29.26 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำกึ่งแบบทหาร/แบบประชาธิปไตยร้อยละ 6.73 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตยและร้อยละ 1.65 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ/ไม่ตอบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร และมีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำกึ่งแบบทหาร/แบบประชาธิปไตย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.19 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่ ร้อยละ 34.35 ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ และร้อยละ 4.46 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ/ไม่ตอบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561 พบว่าผู้ที่ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีสัดส่วนลดลง

ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.49 ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ ขณะที่ ร้อยละ 35.45 ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และร้อยละ 13.06ไม่ทราบ/ไม่สนใจ/ไม่ตอบ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ นายกฯ ยุค คสช. เดือนสิงหาคม 2561 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีสัดส่วนลดลง

สำหรับความประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 26.21 ระบุว่า ประทับใจในการทำงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 23.40 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อันดับ 3 ร้อยละ 18.00 ระบุว่าเป็น นายวิษณุ เครืองาม ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อันดับ 4 ร้อยละ 17.37 ระบุว่าเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และอันดับ 5 ร้อยละ 16.59 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความไม่ประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 57.20 ระบุว่า ไม่ประทับใจในการทำงานของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 42.33 ระบุว่าเป็น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอันดับ 3 ร้อยละ 38.65 ระบุว่าเป็น นายวิษณุ เครืองาม ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อันดับ 4 ร้อยละ 38.34 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และอันดับ 5 ร้อยละ 34.98 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0