โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 วิธีรับมือ ลูกชอบกรี๊ดและตะโกนเสียงดัง

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 11.53 น. • Features

อาการเด็กร้องงอแงหรือกรี๊ดเมื่อถูกขัดใจ เป็นเรื่องที่พบได้กับทุกครอบครัว ถ้าเป็นการส่งเสียงร้องของเด็กตั้งแต่วัยสามเดือนขึ้นไป การร้องนั้นอาจเป็นสัญญาณบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกกำลังต้องการและรู้สึกอะไรบางอย่าง เช่น ไม่พอใจ โมโห หรือโกรธที่ถูกขัดใจ และลูกจำเป็นต้องกรีดร้องเพราะอยู่ในวัยที่ยังไม่รู้จักการสื่อสารด้วยวิธีอื่น

แต่สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่หนึ่งขวบขึ้นไป เป็นวัยที่สามารถบอกหรือสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ หากลูกยังคงมีพฤติกรรมกรี๊ด ร้องไห้งอแง หรือตะโกนเสียงดังเมื่อถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเลิกทำพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. กำหนดการใช้เสียงภายในบ้าน

คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก  หากคุณหรือผู้ใหญ่ในบ้านไม่แสดงอาการโมโหเกรี้ยวกราดเมื่อไม่พอใจให้ลูกเห็น เมื่อถึงเวลาที่ลูกไม่พอใจ ก็จะใช้วิธีแสดงออกเหมือนที่เห็นผู้ใหญ่ทำ รวมถึงบรรยากาศภายในบ้านไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกเคยชินกับการตะโกนหรือตะเบ็งเสียงใส่กัน ไม่เปิดโทรทัศน์ วิทยุ มือถือ แท็บเล็ต หรือเปิดเพลงเสียงดังเกินปกติ

และเมื่อลูกอายุถึงวัยที่พอจะเข้าใจว่าสถานที่หรือเวลาไหนควรใช้เสียงดังได้ (ประมาณสองขวบครึ่ง) เช่น เวลาอยู่ในห้องของตัวเอง หรือเวลาเล่นในสนามเด็กเล่น แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ไม่ควรส่งเสียงดัง เพราะการกำหนดขอบเขตไว้ล่วงหน้า จะได้ผลดีกว่าการห้ามลูกในเวลานั้นๆ

2. สอนให้ลูกควบคุมอารมณ์ตัวเองหรือเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อลูกกรี๊ด

สอนลูกให้รู้จักกับความผิดหวัง เสียใจ ดีใจ และสอนให้รู้จักระบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองด้วยการพูดคุย เช่น “หนูดีใจเหรอคะ ดีใจเรื่องอะไรเล่าให้แม่ฟังหน่อย” หรือ “หนูโกรธเพราะแม่ขัดใจใช่ไหมคะ” เพื่อสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และบอกวิธีให้ลูกแสดงอารมณ์ในรูปแบบที่เหมาะสม

ถ้าหากว่าลูกมีอารมณ์โกรธหรือเสียใจรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาลูกสงบสติอารมณ์ ด้วยการนั่งอยู่ใกล้ๆ ใช้ความเงียบสักพัก และค่อยสอนให้ลูกใจเย็นขึ้น อาจสอนให้ นับ 1-10 เพื่อ ควบคุมอารมณ์ หรือชวนพูดคุยเพื่อให้ลูกคลายความโกรธ

3. สอนให้ลูกรู้จักการกระซิบ

การใช้เสียงกระซิบกระซาบ เป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับเด็กเล็ก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ เช่น เมื่อลูกส่งเสียงดัง คุณแม่ลองกระซิบนำ แล้วให้ลูกกระซิบตาม ลูกจะรู้สึกว่าการพูดเบาๆ ทำให้เรื่องนั้นดูเป็นเรื่องสำคัญและสนุกขึ้นได้เหมือนกัน

ถ้าลูกกำลังจะส่งเสียงกรี๊ด คุณพ่อคุณแม่ลองมองตาและปลอบด้วยการกระซิบข้างหูลูก ลูกจะหยุดและหันมาสนใจฟังที่คุณกระซิบมากกว่าการพูดธรรมดา

4. ไม่จำเป็นต้องรีบตามใจเมื่อลูกเอาแต่ใจตัวเอง

เมื่อลูกส่งเสียงกรีดร้องด้วยความเอาแต่ใจ ถ้าคุณพ่อคุณแม่รีบให้ความสนใจและตามใจเพื่อหยุดการอาละวาดของลูก ลูกจะเข้าใจว่าการทำเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และทำซ้ำเมื่อมีโอกาส

ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกเข้าใจว่าวิธีการกรี๊ดหรือส่งเสียงดัง ไม่ใช่การร้องขอที่ถูกต้อง และลูกจะได้สิ่งที่ต้องการก็ต่อเมื่อลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้วเท่านั้น

5. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง

การฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ด้วยกิจกรรมง่ายๆ เช่น ใส่เสื้อผ้าเอง เก็บของเล่นเอง จะทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง แก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง ไม่เรียกร้องความสนใจ และไม่จำเป็นต้องของความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่โดยไม่จำเป็น

6. สอนให้ลูกเข้าใจคำว่า ‘ได้’ และ ‘ไม่ได้’

ให้ลูกเรียนรู้ความสมหวังและผิดหวัง และคุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเหตุผลกำกับด้วยทุกครั้งว่าทำไมลูกถึงได้และทำไมถึงไม่ได้ และเพื่อให้ลูกสงบลง คุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ โอบกอดเพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและใจเย็นลง โดยไม่จำเป็นต้องโอ๋หรือต่อรองด้วยของรางวัลใดๆ อีก

อ้างอิง

Amarinbabyandkids

Maerakluke

Rakluke

Samitivejhospitals

Islammore

Enfababy

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0