โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

5G กับการลงทุนของกลุ่มสื่อสาร

Stock2morrow

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 06.25 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 06.25 น. • Stock2morrow
5G กับการลงทุนของกลุ่มสื่อสาร
5G กับการลงทุนของกลุ่มสื่อสาร

บริษัทผู้ให้บริการมือถือในบ้านเรา ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ก็นับว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจสูงมาก หรือทีเราเรียกว่า capital expenditure (capex)

หากช่วงไหนที่ต้องมีการลงทุนสูงกว่าปกติ ก็จะทำให้กระทบกับผลประกอบการในช่วงนั้นๆ หรือหากทรัพย์สินที่ไปลงทุนนั้นมีมูลค่าที่สูงมากๆ ก็อาจจะกระทบกับผลการดำเนินงานไปนานเลยทีเดียว

รายจ่ายประเภท capex ของกลุ่มสื่อสารนี้ ก็เน้นหนักไปที่ 2 ส่วนก็คือ รายจ่ายค่าใบอนุญาต และ รายจ่ายเพือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ตัวอย่างที่ผ่านมาไม่นานนี้ก็คือ การประมูลใบอนุญาต 900 กับ 1800 มีการไล่ราคากันขึ้นไปสูงมาก จนทำให้มูลค่าของคลื่นนั้นเรียกได้ว่าสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่า กระแสเงินสดที่จะต้องจ่ายออกไปก็จะเป็นตามยอดเงินที่ทาง กสทช ระบุให้จ่าย เป็นงวดๆ

แต่ในทางบัญชี ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิ (accrual basis) ก็จะค่อยๆตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปตลอดระยะเวลา ไม่ได้บันทึกเป็นรายจ่ายตามเงินสดที่จ่ายออกไป ค่าประมูลใบอนุญาตที่แพง ก็จะทำให้รายจ่ายค่าใบอนุญาตนั้นสูงต่อเนื่องไปจนหมดอายุของใบอนุญาต

ส่วนในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางสายไฟเบอร์ การสร้างเสาสัญญาณ การจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้ก็จะขึ้นลงตามแต่ว่า บริษัทมีนโยบายการขยายการให้บริการอย่างไร

ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น เมื่อค่ายใดที่มีปัญหาเรื่องสัญญาณไม่ครอบคลุม จนทำให้เกิดปัญหาการใช้งานจนลูกค้าหนีออกไปอย่างเห็นได้ชัด บริษัทจำเป็นจะต้องเพิ่มเงินลงทุนเพื่อวางเสาสัญญาณเพิ่มเพื่อขยายและรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า หรือเมื่อใดก็ตามที่มีการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัทก็ต้องมีการลงทุนที่สูงตามไปด้วย

ความกังวลเริ่มกลับมาอีกครั้งในหุ้นกลุ่มสื่อสาร หลังจากที่ กสทช มีแนวทางที่ชัดเจนในการประมูลคลื่นที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และหากดูจากข้อมูลของทาง GSMA แล้ว การให้บริการ 5G ให้มีประสิทธิภาพจะต้องใช้ bandwidth จำนวนมหาศาล

ทาง GSMA แนะนำว่า หากต้องการให้บริการ 5G บนช่วงคลื่น mid-band เช่นคลื่น 3500 MHz ผู้ให้บริการจะต้องมี bandwidth 80-100 MHz

และหากให้บริการบนคลื่น เช่น 26 / 28 GHz หรือมากกว่านั้น (คลื่นระดับ millimeter) จะต้องมีคลื่นในมือถึง 1000 MHz

ตัวเลขการประมูลคลื่น 900 1800 ที่ผ่านมา ยังสร้างภาพติดตาให้กับทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุน เพราะราคาที่ประมูลกันนั้น สูงจนน่าใจหาย แล้วเหตุการณ์เช่นนั้นจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ในการประมูลคลื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้??

นักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเป็นไปได้น้อยมาก นั่นเพราะครั้งที่ผ่านมา มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาร่วมประมูลและผลักดันให้ราคาคลื่นขึ้นไปสูง แต่ท้ายที่สุดกลับทิ้งคลื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าหาเงินไม่ได้จริง หรือว่าตั้งใจเดินเกมให้เหตุการณ์มันออกมาเป็นเช่นนี้เพื่อหวังผลด้านอื่นก็ตามแต่

ซึ่งคาดว่า ในตลาดผู้ให้บริการมือถือบ้านเรา น่าจะมีรูปแบบการแข่งขันเป็นแบบ Oligopoly หรือมีผู้เล่นน้อยรายแบบนี้ไปโดยตลอด โดยไม่น่าจะมีใครกล้าที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่อีกแล้ว

นอกจากนั้น กสทช เองก็น่าจะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการกำหนดราคา รวมถึงวิธีการคัดกรองผู้เข้าร่วมประมูล เหมือนเช่น กรณีคลื่น 700 ที่ผ่านมา ที่นำมาประมูลเพื่อเอาเงินไปเยียวยาทีวีดิจิทัล ก็ไม่ได้ตั้งราคาไว้สูงเกินไปนัก และยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้เริ่มจ่ายเงินงวดแรกไปเป็นปีเลยด้วย

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามที่ GSMA ระบุ ในเวลานี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่มีคลื่นเพียงพอเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น แม้ว่าคลื่นจะมีราคาไม่ได้แพงมากผิดปกติเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คงต้องใช้เงินไม่น้อยเลยทีเดียว และก็จะกลายเป็นภาระในงบกำไรขาดทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรเสีย ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถปฏิเสธการประมูลได้ เนื่องจาก 5G คือเทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นของใหม่ ซึ่งค่ายใดไม่มี ก็คงไม่สามารถแข่งขันได้ กล่าวคือ ทุกคนถูกบังคับให้ต้องประมูลอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางโครงสร้างเพื่อขยายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุม ซึ่งหลายคนมองว่า ก็น่าจะหนักเอาการอยุ่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด

นั่นเพราะเทคโนโลยี 5G นั้น สามารถพัฒนาจาก 4G ได้ โดยเปลี่ยนเพียงแค่ software ของตัวส่งสัญญาณเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ แต่เฉพาะในกรณีที่ใช้คลื่นช่วง mid-bands เท่านั้นนะ

ด้วยเหตุนี้ หากค่ายมือถือเลือกที่จะนำร่องการให้บริการ 5G บนคลื่นเดิมที่มีอยู่ เช่น 1800 หรือ 2300 ที่จะมีการประมูลหากขอคืนคลื่นจาก MCOT ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด

การเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่หมดนั้น จะเกิดขึ้นหากมีการให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่สูง เช่นคลื่นระดับ millimeter เท่านั้น

และช่วงคลื่นความถี่ระดับต่ำ และระดับกลางนี้ ก็ยังใช้การส่งสัญญาณในรูปแบบเดิม หรือไม่ก็ใช้ตัวส่งสัญญาณเดิมที่ได้รับการอัพเดทซอฟท์แวร์ ซึ่งติดตั้งอยู่บน "เสาส่งสัญญาณ" แบบเดิมๆ

ไม่มีความจำเป็นต้องปูพรม ติดตั้งตัวส่งสัญญาณเพิ่มเติมอะไรมากนัก เพราะความยาวคลื่นก็อยู่ใกล้เคียงเดิม

การปูพรมติดตั้งตัวส่งสัญญาณแบบถี่ๆ จะเกิดขึ้นหากผู้ให้บริการเริ่มการให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่สูงมากเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า หากผู้ให้บริการเริ่มเปิดตัวการให้บริการ 5G บนช่วงคลื่นระดับกลาง หรือนำเอาคลื่นเดิมที่มีอยู่มาใช้ การลงทุนจะไม่ได้ัสูงมากอย่างที่หลายคนวิตกกังวลเลย แต่อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายการทำตลาดมากขึ้นเพื่อสร้่างการรับรู้ต่อผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ดี การให้บริการ 5G ให้ได้ความเร็วสูงอย่างที่ทั่วโลกวาดฝันกันไว้นั้น จะเกิดขึ้นบนช่วงคลื่นระดับ millimeter เท่านั้น

ความเร็วระดับนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนคลื่นเดิมที่เป็นย่านความถี่ต่ำและความถี่กลางเลย

ว่ากันว่า ความเร็วที่ได้บนคลื่นความถี่กลางนี้นั้น อาจได้พอๆกันกับความเร็วสูงสุดที่ 4G (LTE Advanced) ทำได้ทำนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า หากเรามีโอกาสได้ใช้ 4G ที่พัฒนาจนได้ความเร็วสูงสุดในปัจจุบัน ก็จะได้ความเร็วแทบไม่ต่างกับ 5G ที่ใช้คลื่นความถี่ใกล้ๆกัน

ซึ่งหากเราย้อนมาดูการแข่งขันในบ้านเราแล้ว บอกได้เลยว่า 5G บนคลื่นระดับ millimeter นั้นจะถูกนำมาเป็นจุดขายเพื่อแสดงถึงความ "ล้ำหน้า" ของค่ายมือถือที่มีเหนือคู่แข่งรายอื่น

ดังนั้น เชื่อได้เลยว่า การลงทุนอย่างมหาศาลจะต้องเกิดขึ้น แต่นั่นหมายถึงเมื่อผู้ให้บริการพร้อม และตัวผู้ใช้บริการก็ต้องพร้อมด้วย เพราะผู้ใช้บริการต้องเปลี่ยนเครื่องเป็นรุ่นที่รองรับ 5G และน่าจะใช้ได้ในเขตเมืองเท่านั้น เพราะคงไม่มีผู้ประกอบการรายได้ยอมให้บริการ 5G เต็มสปีดแบบนั้นในพื้นที่ที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

เมื่อเทคโนโลยีใหม่กำลังเข้ามา ผู้ให้บริการเมื่ออยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็จำเป็นต้องยอมรับ เช่นเดียวกับกับนักลงทุนเอง ก็ต้องทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ และประเมินดูสถานการณ์ควบคู่ไปด้วยว่า มันจะเกิดผลกระทบกับบริษัทมากน้อยเท่าไหร่ และที่สำคัญคือ "เมื่อไหร่"

การเทขายหุ้นทิ้งเพียงเพราะเหตุผลเรื่องความกังวลในการลงทุนที่จะสูงขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G โดยไม่ได้ทำการศึกษาเลยว่า 5G นั้นคืออะไร น่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

แต่หากเป็นการเทขาย เพราะเห็นว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเยอะ และมีหุ้นกลุ่มอื่นที่น่าสนใจกว่าในภาวะที่คาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยและสงครามการค้าจะผ่อนคลายลง อันนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ sector rotation ก็เป็นกลยุทธปกติของการลงทุนอยู่แล้ว

วัฒนา ชื่นจิตรวงษา

เจ้าของเพจ Wattana Stock Page นักลงทุนต้นแบบในการเจาะลึกข้อมูลอย่างจริงจัง ก่อนจะเข้าไปลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ 

FB: Wattana Stock Page

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0