โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

50 ปี มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ แด่ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

THE STANDARD

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 16.41 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 16.41 น. • thestandard.co
50 ปี มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ แด่ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
50 ปี มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ แด่ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

​มนุษยชาติถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้มาแล้วราว 350,000 ปี

​แต่เราเพิ่งรู้ว่าโลกของเรามีสัณฐานกลม ซึ่งนำไปสู่การวัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกเมื่อ 2,000 ปีก่อน และเมื่อ 50 ปีก่อน มนุษย์เราเพิ่งไปยืนอยู่บนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

จะว่าไปแล้วมันอาจเป็นเรื่องตลก

 

เพราะสิ่งที่ผลักดันให้มนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ได้สำเร็จในครั้งนั้น หลักๆ แล้วคือความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นที่สองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างแสดงแสนยานุภาพในด้านต่างๆ เข้าข่มและแข่งกัน

 

หนึ่งในนั้นคือการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race)

 

ถ้ามองการแข่งขันด้านอวกาศในครั้งนั้นเป็นเหมือนเกมกีฬา สหภาพโซเวียตสามารถเปิดเกมทำแต้มนำสหรัฐอเมริกาไปได้ก่อนหลายยก

 

ไม่ว่าจะเป็นการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก มนุษย์อวกาศบนคนแรกของโลก รวมทั้งยานอวกาศที่ไปถึงดวงจันทร์ดวงแรก

 

แต่ในที่สุดเมื่อปี 1962 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่เรารู้จักกันดีในชื่อ We choose to go to the Moon โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า 

 

“เราเลือกจะเดินทางไปยังดวงจันทร์และทำอีกหลายสิ่งภายในทศวรรษนี้ มิใช่เพราะมันง่าย แต่เป็นเพราะมันยาก เป้าหมายนี้จะรวมเราให้เป็นหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการวัดพลังและความสามารถของเรา ความท้าทายเป็นสิ่งที่เราจะต้องยอมรับโดยมิผัดผ่อน และเราจะต้องเอาชนะมันให้ได้ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย”

 

โครงการอะพอลโลจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์แล้วกลับมาอย่างปลอดภัยให้ได้

 

แต่จริงๆ แล้วก่อนหน้าโครงการอะพอลโลขององค์การนาซาได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อย่างละเอียด รวมทั้งมีการส่งยานไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์มาแล้ว

 

การฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งอุบัติเหตุน่าสะเทือนใจในโครงการอะพอลโลนั้นนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง ซึ่งล่าสุดคือเรื่องFirst Man ที่บอกเล่าความสำเร็จในการไปเยือนดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล 11 

 

แต่อันที่จริงก่อนหน้านั้นในโครงการอะพอลโล 8 มีการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อทดสอบระบบต่างๆ และในโครงการอะพอลโล 10 มีการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ แล้วปล่อยยานลงจอดบนผิวดวงจันทร์เพื่อทดสอบมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการนำนักบินอวกาศลงไปสู่พื้นผิวดวงจันทร์

 

เมื่อทุกอย่างพร้อม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 โครงการอะพอลโล 11 ได้ส่ง 3 นักบินอวกาศ อันได้แก่ นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และบัซ อัลดริน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวด Saturn V  ซึ่งเป็นจรวดที่มีความสูงเท่าตึก 36 ชั้น การเดินทางใช้เวลาราว 3 วันก็ไปถึงดวงจันทร์ 

 

ยานอวกาศได้ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จในทะเลแห่งความเงียบสงบ (Sea of Tranquility) ที่ราบที่เกิดจากลาวาที่ไหลท่วมผิวดวงจันทร์เมื่อนานมาแล้ว

 

นักดาราศาสตร์ในสมัยก่อนเรียกบริเวณสีเข้มบนดวงจันทร์ว่าทะเล เพราะเข้าใจว่ามันเป็นห้วงน้ำขนาดใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วบนดวงจันทร์ไม่มีทะเลเลย

 

​วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 ​นีล อาร์มสตรอง ก้าวเท้าซ้ายเหยียบดวงจันทร์แล้วกล่าวคำพูดว่า

 

“นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”

 

“…one small step for a man, one giant leap for mankind”

 

​มีผู้คนราว 530 ล้านคนทั่วโลกต่างรับชมการถ่ายทอดการก้าวสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ

 

​จากนั้นบัซ อัลดริน ก็ตามออกมา ส่วนไมเคิล คอลลินส์ รอคอยอยู่บนยานที่โคจรรอบดวงจันทร์ นักบินอวกาศทั้งสองทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก 23 กิโลกรัม

 

​เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว นักบินอวกาศทั้งสามเดินทางกลับมายังโลกของเราได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969 โดยยานได้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

 

​นับตั้งแต่มนุษยชาติถือกำเนิดขึ้นมาก็มองเห็นดวงจันทร์แล้ว หลายๆ ท้องที่และหลายๆ วัฒนธรรมยกให้ดวงจันทร์เป็นเทพเจ้า แต่การเดินทางครั้งนี้ทำให้มนุษย์ได้เห็นว่าดวงจันทร์เป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่อยู่ห่างจากโลกเราราวๆ 385,000 กิโลเมตร ซึ่งเราสามารถเดินทางไปพิชิตได้

 

ปัจจุบันดวงจันทร์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มนุษย์เราวางแผนจะไปสร้างกล้องโทรทรรศน์ รวมทั้งสถานีอวกาศเพื่อการเดินทางออกไปยังส่วนอื่นๆ ของระบบสุริยะ และยังมีงานวิจัยอื่นๆ มากมายจากการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้

 

กล่าวได้ว่าหลังจากมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีก่อน มนุษย์เราก็มองดวงจันทร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0