โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 โรคติดต่อยอดฮิตที่เกิดจากการใช้ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม หรือแก้วน้ำ ร่วมกัน

Horrorism

อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

       โรคติดต่อ (Contagious Disease)หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ สามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ๆ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีตัวนำเชื้อโรคเรียกว่าพาหะนำโรค ทั้งการสัมผัสโดยตรง การสูดหายใจ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน…

       เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะคาดไม่ถึงว่าอาหารที่ปนเปื้อนสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม หรือแค่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับเพื่อน ก็สามารถนำโรคติดต่อทางน้ำลายมาให้ได้หลายโรค และบางโรคก็เป็นอันตรายถึงชีวิต! ดังที่เคยปรากฏให้เห็นตามข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ จากการใช้หลอดดูดร่วมกับคนอื่น นั่นเป็นเพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เขาหรือเรามีเชื้อโรคอะไรอยู่ในตัวบ้าง ?  

       นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เตือนว่า “ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะการกินดื่ม โดยใช้ ช้อนส้อม หลอด แก้วน้ำร่วมกัน เพราะอาจติดเชื้อโรคผ่านทางน้ำลายได้ อาทิ ไวรัสตับอักเสบ เอ และบี  โรคมือ เท้า ปาก เริม คางทูม รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีแผลหรือเชื้อราในปาก เหงือกและฟันอักเสบ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณความรุนแรงของเชื้อโรค และภูมิต้านทานของแต่ละคน”

 

       5 โรคที่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำลายและพบเจอได้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวัน  

 

1. โรคไข้หวัด / โรคไข้หวัดใหญ่

ที่มาของภาพ : medthai

 

       โรคไข้หวัดผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ หรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้  แต่โดยส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงออกถึงการเป็นหวัดจากทางจมูกและทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาจากจมูก (บางครั้งอาจมีสีเหลืองข้นในช่วงเช้า) รวมไปถึงมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก ไอ จาม เจ็บคอ คอแดง ต่อมทอนซิลบวมแต่ไม่มีตุ่มหนองอักเสบ  ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นข้างต้น

 

ที่มาของภาพ : pobpad

 

       โรคไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย บางราย ผู้ป่วยมีอาการแสดงอย่างอื่น แต่ไม่มีไข้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย ทั้งนี้อาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับร่างกาย อายุ และโรคประจำตัวเดิมของแต่ละบุคคลด้วย

 

2. โรคคออักเสบ

ที่มาของภาพ : mahosot

 

       ในรายที่คออักเสบจากเชื้อไวรัส*ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่เจ็บตอนกลืน ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ร่วมกับมีอาการหวัด น้ำมูกใสไหล ไอ เสียงแหบ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย *

       ในรายที่คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม มีจุดหนองที่คอหอย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส แต่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย

 

 

3. โรคมือเท้าปาก

ที่มาของภาพ : 9thaihealth

 

       โรคมือเท้าปากเป็นมากในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี แต่สามารถพบได้ในเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ โดยที่อาการของโรคมือเท้าปากในเด็กที่โตกว่าหรือในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก แต่อาจมีบางกรณีที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วันหลังจากมีไข้ คือ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบ มีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน ตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า และบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน ตุ่มและแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน

 

4. โรคคอตีบ

ที่มาของภาพ : health.mthai

 

       หลังจากรับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิลและบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกัน เกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ

 

5. โรคไวรัสตับอักเสบเอ

ที่มาของภาพ : honestdocs

 

       อาการมักเริ่มจากเป็นไข้ตัวร้อน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แน่นบริเวณชายโครงขวา มีอาการท้องร่วง ปัสสาวะสีเข้ม มีอุจาระสีซีด และมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองที่เรียกว่าโรคดีซ่าน โดยอาการเหล่านี้มักจะหายภายใน 2 เดือน (ในบางรายก็ใช้เวลาถึง 6 เดือน) โดยอาการมักแสดงหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 28 วัน (ช่วงระหว่าง 15-50 วัน) อาการในผู้ใหญ่จะแรงกว่าในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจจะมีอาการเพียงบางอย่าง

       5 โรคติดต่อข้างต้นนี้เป็นโรคติดต่อทางน้ำลายที่พบได้มากที่สุด และยังมีโรคติดต่อทางน้ำลายโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น โรคทอนซิลอักเสบ, โรคคางทูม, โรคเริมที่ปาก, โรคหูดข้าวสุก, โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ, โรคหัด, โรคหัดเยอรมัน, โรควัณโรค ฯลฯ เพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค ควรหลีกเลี่ยงการใช้ช้อนส้อม หลอด แก้วน้ำ ร่วมกันกับผู้อื่น หากรับประทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลาง รวมถึงรักษาสุขอนามัยและความสะอาดส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย ไอ จาม หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

       ด้วยรักและปรารถนาดีจากทีมงาน Horrorism.co

 

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ : health.kapookthaihealthhonestdocshonestdocspobpadmedthaipobpadthaihealthhonestdocs

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0