โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

5 เรื่องควรรู้ “ทำไมคนไทยต้องเสียค่าโง่”... อยู่เรื่อย!!

สยามรัฐ

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 05.34 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 05.17 น. • สยามรัฐออนไลน์
5 เรื่องควรรู้ “ทำไมคนไทยต้องเสียค่าโง่”... อยู่เรื่อย!!

วันที่ 21 พ.ค.ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล ระบุข้อความว่า 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ค่าโง่” และ “อนุญาโตตุลาการ” 

ต่อไปนี้คงอธิบายได้ว่า “คนไทยไม่ได้โง่” แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เกิดจากความอ่อนประสบการณ์ของรัฐ ความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ และที่เป็นผลจากการรวมหัวกันเอาเปรียบบ้านเมืองของ “เหล่าคนโกง” และคาดว่าปัญหานี้จะเกิดมากขึ้นหากเราไม่เรียนรู้เพื่อหาทางป้องกันอย่างเหมาะสมต่อไป 

1. คดีส่วนมาก “เอกชน” ชนะ – “รัฐ” จ่ายแพง! คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง “รัฐ” กับ “เอกชน” แล้วยื่นเรื่องให้ “อนุญาโตตุลาการ” ตัดสิน ส่วนมากรัฐเป็นฝ่ายแพ้ เท่าที่ค้นพบข้อพิพาทใหญ่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายชนะมีเพียง กรณีไอทีวี (ไทยพีบีเอสในปัจจุบัน) คดีหวยออนไลน์ และคดีที่ตัดสินเมื่อเร็วๆ นี้ คือคดีที่บริษัท ทรู แพ้ ทีโอที กรณีอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง (ADSL) อีกสองกรณีดังคือ “โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน” และ “โครงการทางด่วนบางนา-บางพลี-บางปะกง” ที่สุดท้ายรัฐรอดตัวได้ เพราะศาลเห็นว่าฝ่ายเอกชนมีการกระทำที่ไม่สุจริตตั้งแต่ต้น 

2. ปัจจัยจาก “ผู้เกี่ยวข้อง” ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ กลุ่มแรก “ผู้ลงทุน” แน่นอนว่าพวกเขาย่อมเข้าใจและมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะมาลงทุนเป็นอย่างดี ยิ่งเป็นนักลงทุนต่างชาตินอกจากจะศึกษาสภาพแวดล้อมทางการเมือง กฎหมายและพฤติกรรมของข้าราชการไทย หลายรายยังจ้างที่ปรึกษาโครงการและนักกฎหมายระดับโลกที่มีประสบการณ์สูงมาช่วยดูแล เพื่อความมั่นใจในการเจรจาและทำสัญญากับรัฐ กลุ่มที่สอง “เจ้าหน้าที่รัฐ” แม้จะมีคนเก่ง มีประสบการณ์ แต่โอกาสที่จะเท่าทันเทคโนโลยีในยุคโลกหมุนเร็วและเทคนิคลูกเล่นของฝ่ายเอกชนเสียทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งโครงการที่มีข้อพิพาทกว่าจะถึงขั้นอนุญาโตตุลาการมักใช้เวลาเป็นสิบปี มีเอกสารและคนเกี่ยวข้องมากมาย ถึงเวลานั้นคนก็อาจลืมข้อเท็จจริงบางอย่าง แต่ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีการโยกย้าย เลื่อนตำแหน่งหรือเกษียณอายุราชการ คนมาใหม่ย่อมไม่รู้รายละเอียดครบถ้วน ความผูกพันรับผิดชอบไม่เท่ากันไป ซึ่งต่างจากเอกชน บทพิสูจน์เรื่องนี้เห็นได้จาก กรณีโฮปเวลล์ เพราะก่อนบอกเลิกสัญญาฝ่ายรัฐมีการขอความเห็นทั้งจากสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานกฤษฎีกาแล้วว่าทำได้ แต่สุดท้ายโฮปเวลล์ก็สามารถหาช่องว่างจนเป็นฝ่ายชนะทั้งในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองสูงสุด กลุ่มที่สาม “นักการเมืองและข้าราชการขี้โกง (บางคน)” ที่ทำให้โครงการตกในสภาพผีซ้ำด้ำพลอยเมื่อมีคนโกงกินกินเมืองมาเกี่ยวข้อง แอบไปสมรู้ร่วมคิดกับพ่อค้า ใช้อำนาจแทรกแซง บงการ ชักใยให้รัฐเสียเปรียบตลอดทั้งโครงการจนยากเยียวยา ในที่นี้ยังไม่ขอกล่าวถึงตัวบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ที่เริ่มมีคำถามเรื่องความด้อยประสบการณ์ ความแม่นยำทางกฎหมายและการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ในบางกรณี 

3. ใครทำให้รัฐเสียเปรียบ กับบทเรียน “2 คดีดัง” ?!? “กรณีค่าโง่ทางด่วนบางนา 6 พันล้านบาท” มีอดีตรองผู้ว่าการทางพิเศษฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การที่รัฐเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นเพราะเจ้าหน้าที่วิศวกรของหน่วยงานจงใจปิดบังข้อมูลและไม่มีการเก็บตัวเลขไว้ต่อสู้คดี ขณะที่อดีตประธานบอร์ดการทางพิเศษฯ ยังให้สัมภาษณ์ในคดีเดียวกันนี้ว่า สาเหตุของการเรียกค่าเสียหายน่าจะอยู่ที่ขั้นตอนของการขยายเวลาการก่อสร้างให้เอกชน ที่กลายเป็นหลักฐานการยอมรับในความบกพร่องของการทางพิเศษฯ เอง สุดท้าย..คดีนี้ศาลตัดสินให้การทางพิเศษฯเป็นผู้ชนะ เพราะมีหลักฐานว่าเอกชนรายนั้นมีการกระทำบางอย่างที่ไม่โปร่งใสร่วมกับเจ้าหน้าของการทางพิเศษฯ “กรณีค่าโง่หวยออนไลน์ 2.5 พันล้านบาท” มีพฤติกรรมชวนสงสัยเกิดขึ้น เมื่อเอกชนไม่ได้ยื่นฟ้องกองสลากฯ ภายในเวลาที่กำหนดหลังอนุญาโตตุลาการตัดสินทำให้ขาดอายุความ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็มีการยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดอีกครั้ง เท่ากับเปิดโอกาสใหม่ให้เอกชนฟ้องร้องได้อีก ในที่สุด..ศาลตัดสินให้รัฐเป็นฝ่ายชนะเพราะเหตุว่า การทำสัญญาครั้งนี้ผิดกฎหมายเพราะไม่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. อัยการอาวุโสท่านหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ความพ่ายแพ้ของรัฐในบางคดีเป็นเพราะ “คนในหน่วยงาน” ที่ไปบอกข้อมูลภายในให้เอกชนรู้ หรือชี้จุดอ่อนของสัญญา 

4. “ขาประจำ” จาก 3 วงการที่ฟ้องเรียกค่าโง่รัฐ! กรณีที่โด่งดังช่วงนี้มักอยู่ในกลุ่ม “สื่อสารโทรคมนาคม - ทางด่วน – รถไฟ” โดยทราบกันดีว่า บริษัทคู่กรณีเหล่านี้แม้ชื่อต่างกันแต่เบื้องหลังก็คือ “ขาใหญ่” รายเดิมๆ นั่นเอง 

5. ระบบอนุญาโตตุลาการมีใช้ทั่วโลก ไทยจะใช้หรือไม่ก็ได้..แต่ กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution: ADR.) เป็นมาตรการที่ใช้กับคดีแพ่งที่เป็นข้อพิพาททางธุรกิจ เพราะคู่สัญญามองว่า การแก้ปัญหาทางศาลช้า ไม่สะดวก มีค่าใช้จ่ายและขั้นตอนมาก บางครั้งก็มีปัญหาความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในประเทศของแต่ละฝ่าย คู่กรณีจึงอาจเลือกใช้วิธีการพิเศษแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบพร้อมกันตามที่ตกลง เมื่อมีข้อพิพาทก่อนจะเข้าสู่กระบวนการศาลปกติ ได้แก่ 1. การเจรจา (Negotiation) หรือการนั่งลงพูดคุยกัน 2. การไกล่เกลี่ย (Conciliation) โดยมีคนกลางที่สองฝ่ายยอมรับ 3. การประนอมข้อพิพาท (Mediation) โดยมีคนกลางช่วยจัดทำข้อเสนอ 4. อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) โดยคณะบุคคลที่เสนอจากสองฝ่ายและคนกลางเป็นผู้ตัดสิน มาตรการเหล่านี้จึงเป็นกระบวนการเพื่อความยุติธรรมที่คู่กรณีตกลงกันและนิยมใช้ทั่วโลก ดังนั้น ถ้าเราปฏิเสธก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา ถ้าจะ “รื้อระบบ” ก็ต้องดูว่ามีเหตุผิดปกติอย่างไร รื้อตรงไหนอย่างไร เป็นเรื่องจริงที่ทุกวันนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเปิดรับการลงทุนขนาดใหญ่จากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยที่เงินทุนเหล่านี้มักมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและแปลกใหม่มากขึ้น เช่น โครงการอีอีซี โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น 

บทส่งท้าย..ป้องกันก่อนเกิดข้อพิพาท ทุกโครงการของรัฐ หากใครทำผิดก็ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือเอกชน แต่ ทุกวันนี้รัฐมักตกเป็น “เบี้ยล่าง” แม้หลายหน่วยงานจะพยายามพัฒนา เช่น สนง. อัยการสูงสุด ทำให้มีผู้เสนอว่า ถ้ารัฐเสียเปรียบอยู่เรื่อยก็ให้ยกเลิก พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ เสีย จากนั้นหากมีข้อพิพาทก็ให้ขึ้นศาลต่อสู้คดีตามกฎหมายแพ่งอย่างเดียว แต่ถ้าคงกฎหมายนี้ไว้ก็ให้ใช้เฉพาะคดีระหว่างเอกชนเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวอาจยังไม่เหมาะในเวลานี้ แต่สิ่งที่ทำได้และมั่นใจว่าจะช่วยป้องกันความเสียหายได้แน่นอน คือ รัฐต้องทำโครงการอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ภายใต้กฎระเบียบที่ชัดเจนและกรอบการลงทุนที่รัดกุม ให้สาธารณชนตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส ตามหลักที่ว่า “อย่าไว้ใจมนุษย์ปุถุชน วางระบบที่ดีและเปิดรับการตรวจสอบ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0