โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับค่าเงิน

Money2Know

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 01.30 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับค่าเงิน

ความสนใจในเรื่องของ “ค่าเงิน” หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากที่ถูกโจมตีค่าเงินอย่างหนักหน่วงจากนักลงทุนต่างชาติที่มองว่าค่าเงินบาทของไทยในขณะนั้นไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในด้านการค้าการลงทุนในตลาดโลก

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำให้หลายธุรกิจถึงขั้นล้มละลาย โดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างเศรษฐีใหม่ที่ทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะรู้ล่วงหน้าหรือสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าค่าเงินบาทจะอ่อนลงไปอย่างมากจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (1 ดอลลาร์แลกได้ 25 บาท) ไหลไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์แลกได้ 40 บาท ในเวลาไม่ถึง 1 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงถึง 60% จึงไม่ต้องแปลกใจที่มหาเศรษฐีที่มีข้อมูลวงในได้กว้านซื้อดอลลาร์ไว้จำนวนมากในเวลานั้น แค่ 100 ล้านดอลลาร์ (ใช้เงินไม่ถึง 2,500 ล้านบาท) กลายเป็น 4,000 ล้านบาท ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ได้กำไรมาเหนาะๆ 1,500 ล้านบาท แจกจ่ายให้ใครต่อใครได้สบายๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เราจะทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเงินที่ผมกำลังจะเขียนถึงนี้ ไม่ได้ต้องการให้นำไปใช้แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพียงต้องการตอบคำถามของหลายๆ คน ที่ยังมีข้อสงสัยว่าเรื่องของค่าเงินมันมีความสำคัญอะไรนักหนากับธุรกิจหรือเศรษฐกิจของประเทศ

หนึ่ง ค่าเงินมีผลต่อกำไรขาดทุนของธุรกิจส่งออก

กรณีที่เราเป็นคนไทย ใช้สกุลเงินบาทอยู่เพียงสกุลเดียว ย่อมไม่รู้ร้อนรู้หนาวในเรื่องนี้ แต่สำหรับภาคธุรกิจที่มีการซื้อขายกับต่างประเทศจำเป็นต้องรู้ครับ เพราะเราเคยเห็นมาแล้วกับหลายธุรกิจที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ทำให้บางธุรกิจพลิกผันจากที่เคยมีกำไรกลายเป็นขาดทุนได้เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่ง ทำธุรกิจซื้อมาขายไป โดยซื้อสินค้าในประเทศแล้วขายส่งออก ปกติซื้อมา 100 ล้านบาท มีต้นทุนค่าแรง ค่าเช่าสำนักงาน และอื่นๆ อีก 12 ล้านบาท รวมเป็น 112 ล้านบาท คิดแบบไม่โลภว่าเอากำไรสุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดแล้ว) แค่ 5 ล้านบาทก็พอ นั่นคือต้องขายให้ได้ 117 ล้านบาท หากคิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์ ก็คือต้องขายได้ประมาณ 3.66 ล้านดอลลาร์ แต่วันดีคืนดีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ยอดขายเท่าเดิมคือ 3.66 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 109.8 ล้านบาท โดยที่ต้นทุนเป็นเงินบาทเท่าเดิมคือ 112 ล้านบาท ผลก็คือขาดทุนสุทธิถึง 2.2 ล้านบาท

สอง ค่าเงินมีผลต่อเงินไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

ประเด็นนี้ก็คิดง่ายๆ ครับ สมมติผมเป็นนักลงทุนต่างชาติ มีเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน32 บาท เท่ากับ 3,200 ล้านบาท สามารถซื้อหุ้น ปตท.ที่ราคาหุ้นละ 50 บาท ได้จำนวน 64 ล้านหุ้น ต่อมาค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ ผมขายหุ้นทั้งหมดออกที่ราคาเท่าเดิมเลยคือหุ้นละ 50 บาท หรือได้เงิน 3,200 ล้านบาท แต่พอแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐ จะได้ 106.67 ล้านดอลลาร์ เท่ากับว่ามีกำไร 6.67 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็มีแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้ผมนำเงินดอลลาร์มาลงทุนในหุ้นไทย

*สาม ค่าเงินมีผลต่อธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศ *

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เพราะบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทไม่มีปัญญาใช้หนี้เงินกู้ต่างประเทศ เพราะตอนกู้ 10 ล้านเหรียญ อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แปลงเป็นเงินบาทได้ 250 ล้านบาท แต่พอค่าเงินอ่อนลงเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์ ต้องหาเงินให้ได้ 400 ล้านบาท จึงจะคืนได้ 10 ล้านเหรียญ จะหาที่ไหนได้ล่ะครับ เศรษฐกิจมีปัญหาขนาดนั้น

สี่ ค่าเงินมีผลต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ยกตัวอย่างผมเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีเงิน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ผมเคยมาเที่ยวเมืองไทยตอนอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์ แลกเป็นเงินบาทได้ 3.2 ล้านบาท แต่ถ้ามาตอนที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ เงินผมมีเท่าเดิม 100,000 ดอลลาร์ แลกได้แค่ 3 ล้านบาท หายไป 200,000 บาท ก็ไม่น้อยนะครับ ก็ต้องคิดมากเป็นธรรมดา

ห้า ค่าเงินมีผลต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นพึ่งพาการค้าขายและบริการกับต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ถ้าพึ่งพาน้อยก็กระทบน้อย ถ้าพึ่งพามากก็กระทบมาก

เห็นมั้ยครับว่า เรื่องของค่าเงินมิใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราเลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0