โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

5 หุ้น IPO น่าจับตาจากตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

The Momentum

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 08.14 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 08.09 น. • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

In focus

  • ไอพีโอ (Initial Public Offering: IPO) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับสาธารณชนเป็นครั้งแรก เปรียบเสมือนอีกขึ้นหนึ่งของวัฏจักรชีวิตบริษัทที่ต้องการระดมทุนจากสาธารณชน แต่กว่าจะได้ลิสต์ในตลาดหุ้นนั้น บริษัทต้องผ่านการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (Due Diligence) ทั้งในแง่บัญชีและกฎหมาย รวมถึงประเมินมูลค่าบริษัทซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นราคาเสนอขายในวันแรกหรือที่นักลงทุนเรียกว่าราคาไอพีโอ
  • นักปราชญ์การลงทุนบางสำนักอาจแนะนำว่า หุ้นไอพีโอนั้นมีแต่ราคาขึ้นกับขึ้นในช่วงแรก เพราะบริษัทหน้าใหม่มักจะตั้งราคาเสนอขายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเนื่องจากกลัวว่าจะระดมเงินทุนเข้าบริษัทได้ไม่ถึงเป้าหมายนั่นเอง อย่างไรก็ดีความเชื่อดังกล่าวไม่ได้เป็นจริงเสมอไป เพราะมีหุ้นหลายตัวที่ประเมินราคาขายสูงกว่าที่ตลาดให้ค่า สุดท้ายก็ราคาร่วงมาซื้อขายอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาไอพีโอ
  • ปี พ.ศ. 2562 นับว่าเป็นปีที่คึกคักสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา และมีหุ้นน่าจับตามองที่เพิ่งไอพีโอ และกำลังจะไอพีโอหลายตัว อาทิ Beyond Meat (BYND) หุ้นเนื้อสัตว์จากผัก Uber Technologies แพลตฟอร์มเรียกรถเจ้าตลาด และ Pinterest (PINS) กระดานปักหมุดสุดฮิต และ Slack Technologies โปรแกรมแชตสำหรับการทำงานที่ราบรื่น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เติบโตมาจากสตาร์ตอัปและงบการเงินส่วนใหญ่ยังคงติดตัวแดง

  ไอพีโอ (Initial Public Offering: IPO) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไม่รู้ว่าหุ้นสามัญคืออะไร? อ่านได้ที่ ตลาดหุ้นคึกคัก แต่จะซื้อหุ้นอะไร มาทำความเข้าใจเรื่องหุ้นกันก่อน) เปรียบเสมือนอีกขึ้นหนึ่งของวัฏจักรชีวิตบริษัท เมื่อการระดมทุนจากคนรู้จักหรือนักลงทุนนอกตลาดไม่เพียงพอต่อการเติบโตของบริษัทอีกต่อไป บริษัทจำกัดจึงต้องเปิดประตูสู่การเป็นบริษัทจำกัดมหาชน เปิดเผยงบการเงินแบบทะลุปรุโปร่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องเอาใจนักลงทุนในตลาด และทนเสียงก่นด่าจากนักวิเคราะห์ปากกรรไกรถ้าทำกำไรได้ไม่ถึงยอด

บริษัทจำนวนไม่น้อยที่ทนคลื่นลมไม่ไหว ก็ถอดใจและถอนตัวออกไป (อ่านรายละเอียดได้ใน ทำไมบริษัทถึงตัดสินใจถอนตัวจากตลาดหุ้น?) แต่ในขณะเดียวกัน เหล่าบริษัทเกิดใหม่ต่างก็อยากมา ‘ลองของ’ เพื่อคว้าเงินจากกระเป๋าสตางค์นักลงทุนในวอลล์สตรีต

แต่กว่าจะได้เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเหล่านั้นก็ต้องเปลือยกายล่อนจ้อนผ่านการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (Due Diligence) ทั้งในแง่บัญชีและกฎหมาย รวมถึงมูลค่าบริษัทซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นราคาเสนอขายในวันแรกหรือที่นักลงทุนเรียกว่าราคาไอพีโอ นอกจากนี้ ยังต้องมีเอกสารยาวเหยียดสาธยายความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำเงินจากนักลงทุนไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ต่อยอดให้ร่ำรวยยิ่งขึ้นไป

สรุปง่ายๆ เอกสารเหล่านี้ก็คล้ายกับหนังสือขายฝันชวนหลับ ที่มีรายละเอียดโครงการ งบการเงิน และการคาดการณ์การเติบโตซึ่งอิงกับความเป็นจริงในฉากทัศน์ของผู้ทำรายงาน ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงสักเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยเอกสารเหล่านี้ก็ทำให้นักลงทุนสามารถตรวจสอบเบื้องต้นว่าหุ้นที่กำลังจะเข้าตลาดนั้น ‘น่ารักน่าซื้อ’ ขนาดไหน

หากใครสนใจหุ้น IPO ของไทย ก็สามารถนั่งอ่านรายงานการตรวจสอบอย่างรอบด้าน ราคาเสนอขายครั้งแรก รวมถึงวันแรกที่เข้ากระดานได้ที่นี่แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปมองหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดและกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาซึ่งนักลงทุนทั่วโลกต่างจับตา เพราะมันคือสัญญาณเบื้องต้นว่าธุรกิจเกิดใหม่ลักษณะไหนจะรุ่งหรือจะร่วงในยุคดิจิทัล

นักปราชญ์การลงทุนบางสำนักอาจแนะนำว่า หุ้นไอพีโอนั้นมีแต่ราคาขึ้นกับขึ้นในช่วงแรก เพราะบริษัทหน้าใหม่มักจะตั้งราคาเสนอขายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เนื่องจากกลัวว่าจะระดมเงินทุนเข้าบริษัทได้ไม่ถึงเป้าหมายนั่นเอง แต่ความเชื่อนั้นจริงเท็จแค่ไหน ลองไปดูกันได้ในตัวอย่างเลยครับ

Beyond Meat, Inc. (BYND) – หุ้นเนื้อสัตว์จากผักล้วนๆ

สำหรับปีนี้ คงไม่มีหุ้นตัวใดที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่า Beyond Meat บริษัทพัฒนาเนื้อสัตว์ที่ทำจากสารพัดพืช อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ควินัว และอื่นๆ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2552 ได้รับเงินทุนตั้งต้นจากทั้งฝั่งมูลนิธิที่ต้องการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคเนื้อสัตว์ และบริษัทค่ายอาหารยักษ์ใหญ่ที่วางตัวเองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปีนี้ได้จับมือกับแบรนด์ดังเช่น KFC เพื่อเสนอเมนูทางเลือก ไก่ทอดที่ไม่ได้เป็นไก่แต่เป็นเนื้อไก่ที่ทำมาจากพืช ซึ่งกระแสตอบรับดีเยี่ยม 

นอกจากการจับมือกับแบรนด์ต่างๆ Beyond Meat ยังมีผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Beyond Sausage ไส้กรอกเนื้อไร้เนื้อ หรือ Beyond Burger เบอร์เกอร์เนื้อไร้เนื้อ รวมถึงสารพัดเนื้อสัตว์ที่ใช้พืชล้วนๆ เป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม

ในแง่การเติบโต ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืขมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราวปีละ 15 เปอร์เซ็นต์นับว่าค่อนข้างสดใสเพราะในตลาดยังไม่มีคู่แข่งมากนัก วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 คือวันแรกที่ Beyond Meat ทำการซื้อขายในตลาดหุ้น บริษัทมีมูลค่ารวม 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกระโดดขึ้นมาเป็น 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ราคาเปิดตัววันแรกของ BYND อยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในวันที่ 13 กันยายน 2562 อยู่ที่ 155.98 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นผลตอบแทนอย่างงามสำหรับนักลงทุนที่คว้าโอกาสไว้ทัน

Uber Technologies, Inc. (UBER) – แอปพลิเคชันเรียกรถ IPO มูลค่าสูงสุดแห่งปี

Uber บริษัทยักษ์ใหญ่ที่หลายคนคุ้นหูกันดีในฐานะสตาร์ตอัปแพลตฟอร์มเรียกรถ ที่มีโมเดลธุรกิจคือเป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการเดินทางและผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวโดยมีรายได้คือส่วนต่างของค่าบริการ ปัจจุบัน Uber ขยายธุรกิจไปยังการส่งอาหาร และพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ 

ราคาจำหน่ายครั้งแรกของ Uber อยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยมีมูลค่าบริษัทรวมทั้งสิ้น 8.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันคลื่นลูกใหม่ที่มูลค่าสูงที่สุด แต่หลายคนคงประหลาดใจหากทราบว่าตั้งแต่ Uber เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 นั้น ไม่มีไตรมาสใดที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ได้กำไร

ผลประกอบการของ Uber ในไตรมาสล่าสุดยิ่งทำให้นักลงทุนช้ำใจเพราะขาดทุนหนักจนถูกขนานนามว่านำเงินไปเผาไฟ ปัญหาใหญ่ของ Uber คือบริการซึ่งสามารถลอกเลียนได้ง่ายและผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนเจ้าทันทีหากมีโปรโมชันดีกว่า นั่นทำให้ Uber ไม่มีกำไรเสียทีแม้จะดำเนินการมาอย่างยาวนานและถือว่าเป็นเจ้าตลาด 

ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ราคาหุ้น Uber อยู่ที่ 33.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าหล่นฮวบจากวันแรกที่ IPO และยังไม่มีท่าทีว่าจะกระเตื้องขึ้น ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าธุรกิจใหม่ๆ ที่ Uber นำเงินไปเผาอยู่นั้นจะนำกำไรมาให้บริษัทได้หรือไม่

Pinterest (PINS) – กระดานปักหมุดสุดฮิต

Pinterest แพลตฟอร์มปักหมุดไอเดีย รูปภาพ สูตรอาหาร และอีกสารพัด เข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า IPO 19 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เท่ากับมูลค่าบริษัท 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หุ้นดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักลงทุนดีเยี่ยมแม้จะเผชิญความผันผวนเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคมที่ทำให้ราคาหุ้นลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

แพลตฟอร์ม Pinterest ก็เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่สร้างรายได้จากการโฆษณา โดยก่อนเข้าสู่ตลาดหุ้นนั้น Pinterest มีรายได้ 756 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดทุนที่ 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ดี ตัวเลขขาดทุนดังกล่าวอาจถือเป็นเรื่องปกติของบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังหาช่องทางเติบโต โดย Pinterest วางแผนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในตลาดนอกสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้คือผลประกอบการไตรมาสล่าสุดซึ่งมีรายได้สูงกว่าที่คาด และผลขาดทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ราคาหุ้น PINS อยู่ที่ 29.04 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งร่วงจากราคาที่ขึ้นไปสูงสุดราว 35 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ราคาที่ร่วงดังกล่าวอาจเกิดจากนักลงทุนที่ตื่นตระหนกเกินไปกับการใช้สิทธิออปชันซื้อหุ้นเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ราคาลดลงโดยธรรมชาติ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าภายใน 12 เดือนข้างหน้า ราคา PINS จะไปหยุดที่ราว 33 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่านักวิเคราะห์ยังให้ใจกับแพลตฟอร์มปักหมุดว่าสักวันจะพลิกตัวเลขผลประกอบการจากแดงให้เป็นเขียวได้ในที่สุด 

Slack Technologies, Inc. (WORK) – โปรแกรมแชตสำหรับพนักงานออฟฟิศ 

เราอาจไม่คุ้นหูหรือคุ้นชื่อกับ Slack มากนัก แต่สำหรับบางคน Slack คือโปรแกรมแชตหลักที่ใช้ในการทำงาน ด้วยจำนวนลูกค้าองค์กรกว่า 600,000 รายทั่วโลกและผู้ใช้รายวันกว่า 10 ล้านคน เมื่อปีที่ผ่านมา Slack มีรายได้รวมทั้งสิ้น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นราว 80 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผลประกอบการสุทธิขาดทุนราว 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Slack เริ่มซื้อขายด้วยราคาแนะนำ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ก่อนราคาจะพุ่งและปิดตัวที่ 38.50 ดอลลาร์สหรัฐในวันแรกของการซื้อขายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ Slack กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในชั่วข้ามวันนักลงทุนหลายคนมองว่าสักวันหนึ่งโปรแกรมแชตทรงประสิทธิภาพเหล่านี้อาจเข้าไปเปลี่ยนธรรมชาติของการทำงานและทดแทนอีเมลซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี Slack มีคู่แข่งรายใหญ่นั่นคือ Microsoft ที่เข้ามากินส่วนแบ่งในธุรกิจนี้เช่นกัน นอกจากนี้ Slack ยังเข้าสู่ตลาดด้วยวิธีจดทะเบียนทางตรง (Direct Listings) กล่าวคือไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุน เพียงแต่ทำบัตรผ่านเพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขาย Slack ในตลาดหุ้น โดยต้นทางของหุ้นทั้งหมดนั้นมาจากกระเป๋านักลงทุนแรกเริ่มของ Slack นั่นเอง

ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ราคาหุ้น WORK อยู่ที่ 24.49 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันเปิดขายครั้งแรกที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงเกือบแตะ 40 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่ทำให้ราคา WORK ดิ่งเหวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจนพ้นขีดราคาแนะนำคือปัญหาทางกฎหมายที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งเตรียมยื่นฟ้อง Slack เนื่องจากเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วนตามกฎหมายหลักทรัพย์ต้องคอยจับตาดูต่อไปว่าโปรแกรมแชตเพื่อสร้างประสิทธิภาพและความร่วมมือในออฟฟิศจะไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะถูกดับฝันโดยเจ้าตลาดอย่างไมโครซอฟท์ที่พร้อมจะกัดไม่ปล่อย

WeWork (WE) – พื้นที่สำนักงานสำหรับโลกยุคใหม่

WeWork บริษัทให้เช่าพื้นที่สำนักงานที่รีแบรนด์ตัวเองเป็น The We Company ประกอบด้วยธุรกิจสามด้านคือ WeWork เช่าและแชร์พื้นที่สำนักงาน WeLive เช่าและแชร์อพาร์ตเมนต์ และ WeGrow สถาบันด้านการศึกษา ซึ่ง The We Company ได้ยื่นเตรียมพร้อมเข้าตลาดหุ้นสดๆ ร้อนๆ เดือนสิงหาคมนี้เอง

อย่างไรก็ดี โมเดลธุรกิจของ WeWork ถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ โดยแทบไม่ต่างจากธุรกิจเช่าซื้อตึก ปรับปรุง แล้วปล่อยเช่าออฟฟิศเช่นในอดีต นอกจากนี้ WeWork ยังเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่กระจุกตัวและรายละเอียดสัญญาเช่าระยะยาวมากซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงหากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แผนภาพแสดงการเติบโตที่คาดหวังของ WeWork ซึ่งระบุว่าปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงลงทุนเพื่อขยายแพลตฟอร์ม และในอีกไม่นานก็จะสามารถทำกำไรและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์สังเกตว่าแผนภาพดังกล่าวไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น ภาพจากรายงานคำขอลิสต์หุ้นเพื่อทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของ The We Company

ที่สำคัญ หากเทียบกับคู่แข่งบริษัทดั้งเดิมอย่าง IWG ซึ่งมีโมเดลธุรกิจคล้ายคลึงกัน WeWork ถูกตีราคามากกว่า IWG ถึง 13 เท่าทั้งที่ IWG มีพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ให้เช่ามากกว่า WeWork ถึง 2.5 เท่า ยังไม่นับข่าวฉาวเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทเช่น การจ่ายเงิน 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอดัม นิวแมนน์ (Adam Neumann) CEO จากการรีแบรนด์บริษัทเป็น The We Company อีกทั้งการให้สินเชื่อและพาญาติๆ ของผู้บริหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอีกด้วย

The We Company ก็เช่นเดียวกับสตาร์ตอัปอื่นๆ ที่เผชิญภาวะขาดทุนย่อยยับที่ยื่นเอกสารขายฝันว่าด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแบบใหม่ อีกไม่ช้านานก็จะผงาดสู่ตัวเลขผลกำไรมหาศาล คืนความสุขให้นักลงทุนกันอย่างถ้วนหน้า แต่ก็อยู่ที่ว่านักลงทุน ‘เชื่อ’ ในฝันดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีที่สุดก็ไม่พ้นราคาหุ้นหลังจากไอพีโอนั่นเอง

นี่คือตัวอย่าง 5 หุ้นสีสันของตลาดสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ผู้เขียนหวังว่านี่จะเป็นน้ำจิ้มให้พอเข้าใจธรรมชาติของหุ้น IPO รายละเอียดการขายฝัน รวมถึงการตอบรับของนักลงทุนว่าจะซื้อหรือไม่ หลายตัวอย่างเป็นบทเรียนว่าหุ้นเด่นชื่อดังอาจไม่ได้น่าซื้อเสมอไป ที่สำคัญคือธุรกิจมีโอกาสเติบโตในอนาคตหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นนั่นเอง

นอกจากหุ้นทั้ง 5 ตัวนี้แล้ว ยังมีอีกหลายตัวที่น่าจับตาสำหรับปี พ.ศ. 2562 ไม่ว่าจะเป็น AirBnB แพลตฟอร์มแชร์ที่พักซึ่งเราคุ้นเคยกันดี RobinHood บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นแบบไร้ค่าธรรมเนียม Palantir Technologies บริษัทเทคโนโลยีลึกลับที่ให้บริการด้านวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ โดยมีผู้บริหารในตำนานอย่างปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และ CrowdStrike บริษัทบริการความปลอดภัยไซเบอร์บนคลาวด์ที่จะมาดิสรัปท์ผู้ให้บริการเจ้าตลาด

 

เอกสารประกอบการเขียน

These Major IPOs Are Still Slated to Debut in 2019

10 Major Upcoming IPOs to Watch in 2019

Beyond Meat’s massive run may be getting young investors into some bad stock market habits

Uber stock hits a new all-time low as shares continue to slide following $5 billion Q2 loss

Pinterest spikes 17% as monthly active users top 300 million for the first time

4 Things Investors Need to Know About Slack’s Direct Listing

WeWork is going public: 5 things to know about the office-sharing company

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0