โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 วิธี ฝึกลูกเล็กให้เป็นเด็กรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 11.27 น. • Features

ความเห็นแก่ตัวเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ ไม่ควรตัดสินว่าเด็กที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวจะเป็นเด็กที่มีนิสัยไม่ดีเสมอไป

เพราะธรรมชาติของเด็กยังขาดการยับยั้งชั่งใจและคุ้นเคยกับการร้องขอสิ่งใดพ่อแม่ก็มักจะกระตือรือร้นทำให้เขาเสมอ เมื่อลูกเริ่มโตและมีการเข้าสังคมมากขึ้นจึงยังไม่เข้าใจการแบ่งปันและไม่รู้จักการนึกถึงคนอื่น เพราะเคยชินที่จะเป็นฝ่ายได้รับการตามใจมากกว่า จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบทะเลาะและแย่งของเล่นกันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก  เพราะเด็กจะสามารถซึมซับพฤติกรรมและเริ่มรู้จักแบ่งปันได้เร็วขึ้น และยังส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กเข้าสังคม ได้ดี ลดการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น และมีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับครอบครัวและคนภายนอก ลองมาดูวิธีฝึกให้ลูกรู้จักการแบ่งปันและเป็นเด็กไม่เห็นแก่ตัวกันค่ะ

1. มอบความรับผิดชอบให้ลูกดูบ้าง

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พบว่า เด็กที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหรือมีหน้าที่บางอย่าง มีแนวโน้มที่เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงจิตใจผู้อื่น และรู้จักแบ่งปันมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับผิดชอบสิ่งใดเลย

ดังนั้นการมอบหมายและลองให้ลูกได้รับผิดชอบบางอย่างตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบของเล่นหรือตุ๊กตาของตัวเองให้อยู่ในสภาพดี หรือรู้จักรับผิดชอบเก็บของเล่นทุกอย่างเข้าที่ก็ถือเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการและฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นและเอาแต่ใจตัวเองน้อยลงอีกด้วย

2. ทำให้บ้านเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปัน

คุณพ่อคุณแม่ลองทำให้บ้านของเรากลายเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันดูสิคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการที่คุณพ่อคุณแม่แบ่งหรือตักอาหารให้กัน ก็ทำให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติตาม

คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถยกตัวอย่างสถานการณ์ที่จะสอนลูกให้เข้าใจเรื่องการมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูล และการแบ่งปันได้ เช่น ปกติทุกเช้าคุณพ่อจะต้องเป็นคนเอาขยะออกไปทิ้งนอกบ้าน แต่ถ้าวันไหนคุณพ่อรีบไปจนลืมหรือไม่สามารถเอาขยะไปทิ้งได้ คุณแม่ก็จะเป็นคนช่วยเอาขยะไปทิ้งแทนให้ พร้อมทั้งอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเพราะต่อให้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันแล้ว แต่คนเราก็จำเป็นต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วยเช่นกัน

3. คำว่าขอโทษเป็นสิ่งที่ควรพูด

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจทำเรื่องผิดพลาดกับลูกไปบ้าง แต่เมื่อรู้สึกตัว การพูด ‘ขอโทษ’ กับลูก ก็เป็นการแสดงให้ลูกรู้ว่าเราเสียใจกับสิ่งที่ทำไม่ดี และนอกจากลูกจะได้เรียนรู้การรู้จักขอโทษแล้ว ลูกยังได้รู้จักการให้อภัย และกล้ายอมรับความผิดของตัวเองอีกด้วย

4. ชื่นชมลูกทุกครั้งเมื่อเขารู้จักแบ่งปันของให้คนอื่น

การชื่นชมลูกเมื่อเขาทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง ยังคงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเสมอ เช่น เมื่อเห็นว่าลูกแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บอกหรือออกคำสั่ง ก็สามารถชื่นชมลูกได้ เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในกับสิ่งที่ตนทำมากขึ้น

5. แชร์ความรู้สึกร่วมกัน

บางครั้งเมื่อลูกงอแง ต้องการยื้อแย่งของของคนอื่น ให้คุณพ่อคุณแม่ลองพูดคุยกับลูก ให้ลูกได้พูดความรู้สึกของตัวเองออกมา ก่อนสะท้อนกลับให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่ดีอย่างไร

และเช่นเดียวกันหากเขาทำอะไรที่ดี เช่นแบ่งปันของเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสะท้อนสิ่งที่เด็กทำออกมาให้เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นการเสริมสร้างให้เด็กได้รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

allprodad

parents

imom

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0