โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

Finnomena

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2561 เวลา 03.08 น. • PortRomeo

การทำธุรกิจนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายๆ บริษัทต้องพบเจอเหตุการณ์วุ่นวายจนชวนให้อยากยอมแพ้ บางบริษัทก็ล้มหายตายจากไป แต่บางบริษัทก็สามารถยืนหยัดต่อไปได้ด้วยกลยุทธ์ที่ผู้นำงัดออกมาสู้ วันนี้เรานำตัวอย่าง 5 กรณีศึกษาจากธุรกิจและสตาร์ตอัพต่างชาติที่น่าจะคุ้นตาคนไทยมาให้ลองศึกษากัน มาดูกันว่าพวกเขาหลุดพ้นจากปัญหาได้ยังไง เผื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานและการทำธุรกิจได้ค่ะ

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้
5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

1. Sparknotes: โดนด่าเพราะผลิตเนื้อหาไม่ทัน

ใครที่ชอบอ่านหนังสือ หรือเคยโดนคุณครูบังคับให้อ่านหนังสือแล้วสรุป อาจจะเคยได้ยินชื่อเว็บนี้ เพราะ Sparknotes เป็นเว็บที่สรุปหนังสือและสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ เหมาะกับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังหาข้อมูลไปเขียนเรียงความ หรือนักอ่านที่อยากเข้าใจเนื้อหาสำคัญของสื่อนั้นๆ ให้มากขึ้น

เป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกสบายขนาดนี้ แต่รู้มั้ยว่า Sparknotes เคยเจออีเมลด่าจากผู้ใช้ด้วยนะ โดย Sam Yagan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ได้เล่าให้ฟังว่าตอนที่เขาและเพื่อนเปิดตัวเว็บไซต์เป็นครั้งแรกสมัยที่ยังเรียน ป.ตรี กันอยู่ ฟีดแบ็กแรกที่ได้รับรู้คือผู้ใช้หัวเสียมาก เหตุเพียงเพราะเว็บไซต์ยังไม่มีข้อมูลของหนังสือที่กลุ่มผู้ใช้ต้องการ

Yagan บอกว่า “อีเมลที่ด่าว่าเราต้องมีสินค้าเพิ่ม คืออีเมลด่าที่ดีที่สุด” หลังจากนั้น บริษัทก็ได้จ้างคนเพิ่มเพื่อสร้างเนื้อหาเพิ่มเติม จนทุกวันนี้ Sparknotes ก็ได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในเว็บไซต์ที่สรุปสื่อการสอนได้ดีที่สุด ดังนั้น อย่าละเลยฟีดแบ็กจากลูกค้าละ

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้
5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

2. Evernote: เกือบถูกปิดตัวไปแล้วเพราะเงินหมด

นี่คือแอปฯ ที่คนรักการจดโน้ตหลายคนชอบใช้ แต่รู้มั้ยว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ Evernote เคยเกือบปิดบริษัทมาแล้ว เรื่องเกิดขึ้นเมื่อช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เมื่อนักลงทุนถอนเงินออกจาก Evernote ส่งผลให้บริษัทเหลือเงินสดที่สามารถใช้ได้เพียงแค่สามสัปดาห์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ Phil Libin ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO จึงปิดบริษัทและไล่พนักงานออกหมด

แต่แล้ว Evernote ก็ได้รับการช่วยเหลือด้านเงินลงทุนเป็นจำนวน $500,000 จากนักลงทุนชาวสวีเดนผู้ชื่นชอบแอปฯ Evernote เป็นการส่วนตัว นี่อาจจะดูเหมือนเป็นโชคช่วย แต่ถ้าแอปฯ Evernote ไม่ดีจริงก็อาจไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้แบบนี้ ดังนั้น การทุ่มเทพัฒนาสินค้าบริการให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ล่าสุด ในปี 2017 Evernote สามารถสร้างกระแสเงินสดเป็นบวก และมีจำนวนผู้ใช้งานที่จ่ายตังค์มากกว่า Slack แอปฯ ส่งข้อความยอดนิยมเสียอีก

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้
5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

3. Blogger: บริษัทจะเจ๊ง พนักงานหนี แต่กลับเข้าตา Google

Blogger คือแพลตฟอร์มการเขียนบล็อกที่ดังระดับหนึ่งในอดีต แต่ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มบล็อกแบบไม่มีการเก็บตังค์ ให้ใช้กันฟรีๆ บริษัทจึงไม่มีรายได้ ในปี 2000 บริษัทก็ล่มไปพร้อมๆ กับวิกฤติดอทคอม ทาง Evan Williams ผู้ก่อตั้งได้บอกกับพนักงานตามตรงว่าบริษัทกำลังจะเจ๊ง คงไม่มีเงินเดือนจ่ายให้แล้ว แน่นอนว่าไม่มีพนักงานคนไหนอยู่ต่อ

เจ้าของอย่าง Williams รู้สึกท้อใจแต่ก็ยังมุ่งมั่นทำบริษัทต่อไป เขาไม่ยอมแพ้เพราะเชื่อมั่นในไอเดียธุรกิจของตัวเอง จนกระทั่งปี 2003 Google ได้เข้ามาซื้อ Blogger ส่วน Williams ก็เข้าทำงานใน Google ต่อ แพลตฟอร์ม Blogger ได้รับการพัฒนาโดย Google จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตอนนี้มีผู้สร้างบล็อกบน  Blogger มากมาย ส่วน Williams ก็ประสบความสำเร็จจากการร่วมก่อตั้ง Twitter และ Medium ในเวลาต่อมา เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าหากเรามั่นใจในจุดยืนของตัวเอง มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้
5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

4. JetBlue: อากาศไม่ดี เที่ยวบินถูกยกเลิก ผู้โดยสารโวย

อากาศที่ไม่เป็นใจนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินได้ JetBlue บริษัทสายการบินราคาถูกสัญชาติอเมริกันก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ ในวันวาเลนไทน์ปี 2007 เกิดเหตุการณ์พายุหิมะขึ้นในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ จึงทำให้เที่ยวบินถูกยกเลิก มีผู้โดยสารมากมายที่ถูกทิ้งและต้องติดอยู่ในสนามบิน ทาง David Neeleman ซีอีโอของ JetBlue ในตอนนั้น ยอมรับเลยว่านี่คือช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 7 ปีของ JetBlue

แน่นอนว่าบริษัทไม่อยู่เฉย ต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาดีงามเหมือนเดิม โดย Neeleman ได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนและออกปากว่าจะช่วยสนับสนุนเงินค่าชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีแผนฝึกพนักงานในบริษัทให้เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติมากขึ้น ความจริงใจและการแสดงให้ผู้คนเห็นว่าบริษัทจะนำบทเรียนไปพัฒนาตัวเอง ไม่อยู่นิ่งเฉย จะช่วยให้ผู้คนรู้สึกดีกับบริษัทมากขึ้น

5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้
5 บทเรียนจากธุรกิจที่เคยเผชิญปัญหา แต่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสำเร็จได้

5. Virgin Atlantic: เครื่องบินลำแรกพังตั้งแต่ก่อนออกบินจริงๆ

Richard Branson บอกว่าการเกิดขึ้นมาของ Virgin Atlantic ในปี 1984 ได้ส่งผลกระทบด้านการเงินต่อบริษัทอื่นๆ ในเครือ Virgin เขาตัดสินใจเช่าเครื่องบินลำแรกเพื่อลดความเสี่ยงเป็นเวลาหนึ่งปี แต่แล้ว ปัญหาก็เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบบิน เมื่อมีนกบินเข้าไปติดในเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์เสีย จึงต้องใช้เงินสดสำรองซื้อเครื่องบินใหม่ จากเหตุการณ์นี้ Branson ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าคุณจะเตรียมพร้อมแค่ไหน แต่ก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่าเราควรโฟกัสในสิ่งที่ทำ ตื่นตัวตลอดเวลา นึกถึงความสำเร็จเข้าไว้ และวางเป้าหมายเล็กๆ ระหว่างทาง

แน่นอนว่าปัญหาครั้งนั้นไม่สามารถหยุดยั้งบริษัทได้ เพราะทุกวันนี้ Virgin Atlantic ถือเป็นหนึ่งในบริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร โดย นอกจากนี้ สินค้าที่ปะยี่ห้อ Virgin ได้สร้างรายได้ทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า $23 พันล้านต่อปีโดยเฉลี่ย

หวังว่าเรื่องราวที่เรานำมาฝากกันในวันนี้จะช่วยจุดประกายไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกๆ คนที่กำลังมุ่งมั่งทำงานหรือสร้างธุรกิจกันนะ ยังมีอีกกรณีศึกษาจากหลายบริษัทเลย หากใครสนใจอ่านเพิ่มเติม ไปฝึกภาษาอังกฤษกันได้ที่

https://www.businessinsider.com/business-crises-successful-companies-2018-7

*อ้างอิงเพิ่มเติมจาก *

https://www.independent.co.uk/Business/indyventure/richard-branson-virgin-group-atlantic-records-biggest-business-risks-startup-entrepreneur

https://businessideaslab.com/blogger-history/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0