โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

5 ข้อ ชะลอสภาวะสมองเสื่อมผู้สูงวัย

สยามรัฐ

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 22.00 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 22.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
5 ข้อ ชะลอสภาวะสมองเสื่อมผู้สูงวัย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาการแสดงที่สำคัญที่พบได้ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การบกพร่องด้านความจำ เช่น ลืมวันนัดหมาย ทำของหายหาไม่เจอ หลงทางในสถานที่คุ้นเคย การบกพร่องด้านความสามารถในการคิดวางแผน เช่น ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือใหม่ๆ ลดลง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต

การบกพร่องด้านการสื่อสาร เช่น ความคล่องแคล่วในการพูดหรือการสื่อสารลดลง มีปัญหาในการคิดคำศัพท์ วลี หรือประโยคที่เหมาะสม การบกพร่องด้านพฤติกรรม เช่น มีความหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจเร็ว ขาดความยั้งคิด ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง อาจพบอาการเดินออกจากบ้านไปเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่การหลงทาง เป็นต้น

กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงหรือเริ่มมีอาการภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยชะลอความรุนแรง ในการเกิดภาวะสมองเสื่อมให้เกิดช้าลง สามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ ด้วยวิธีป้องกัน 5 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการรู้คิด เป็นการกระตุ้นให้ใช้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยฝึกการรับรู้ เวลา สถานที่ บุคคล โดยใช้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ประจำวันช่วยในการกระตุ้น เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และมีอุปกรณ์ช่วยบอกวันเวลา เช่น นาฬิกา ปฏิทิน เป็นต้น

2. ด้านความจำ จะเป็นการช่วยเพิ่มความจำให้กลับมาได้ในระดับเดิมมากที่สุด เช่น ฝึกจำหน้าคน การบอกชื่อคน ฝึกความจำด้วยการใช้สุภาษิต คำพังเพย ฝึกนับตัวเลข การเล่นเกมส์ เป็นต้น

3. ด้านทักษะ เพื่อรักษาระดับความรู้ความสามารถให้คงเดิมและเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้น โดยการเรียนรู้และฝึกทักษะด้วยวิธีการที่ง่ายๆ เช่น การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การเต้นรำ รำวง เป็นต้น

  1. ด้านอารมณ์จิตใจ เป็นการกระตุ้นความจำและอารมณ์ โดยใช้ประสบการณ์ชีวิตในอดีตและใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น รูปภาพ ดนตรี เสียงเพลง รวมทั้งการออกกำลังกาย จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

5. ด้านพฤติกรรม เป็นการค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมหรือตัวกระตุ้นเพื่อลดปัญหาเหล่านั้น เช่น การให้แรงจูงใจ การให้รางวัล การชื่นชม เป็นต้น การรักษาแบบนี้จะทำให้พฤติกรรมที่หายไปกลับคืนมา และลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น ก้าวร้าว ตะโกนเสียงดัง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบผู้สูงอายุที่มีอาการแสดงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมมาก ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0