โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน

aomMONEY

อัพเดต 18 เม.ย. 2562 เวลา 15.44 น. • เผยแพร่ 24 มี.ค. 2562 เวลา 14.33 น. • Dr. Nut
5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน
5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน

สวัสดีครับกลับมาเจอกันอีกครั้งกับผม หมอนัท คลินิกกองทุน เองครับ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ผมมักจะได้คำถามจากนักลงทุนที่ถามเข้ามาในเพจมากมาย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่เริ่มมีเงินเก็บสะสม และอยากเริ่มต้นลงทุนครับ ดังนั้น มักจะเป็นเรื่องของการเริ่มต้นการลงทุนในกองทุนรวม และคนที่เข้ามาถามคำถามนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

เมื่อมีคำถามเข้ามาเยอะแบบนี้ ผมคิดว่าการเริ่มต้นที่ถูกต้องย่อมมีความสำคัญ ดังนั้น หากใครที่เป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือว่าอาจจะเป็นมือเก๋าแต่อยากทบทวนแนวคิดการลงทุนในกองทุนรวมแล้วละก็ ตามผมมาครับ บทความนี้มีสิ่งที่หลายๆ คนถามหาอยู่แน่นอนครับ

ก่อนอื่นเรามาดูกันนะครับว่าจะลงทุนกับกองทุนนั้นต้องคิด และทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งผมคิดว่าถ้าทำเป็น 5 ขั้นตอนนักลงทุนก็น่าจะจำได้มากขึ้นครับ ใครที่เพิ่งเริ่มต้นทำตามนี้ได้เลยนะครับ

  • ซื้อกองทุนแบบไหนให้เหมาะกับเรา 

การลงทุนนั้นเหมือนกับการเดินทางไกล ต้องมีการเตรียมของให้พร้อมก่อน ไม่งั้นก็เหมือนกับการไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่นอนครับ และที่สำคัญต้องมีพาหนะที่เหมาะสมกับการเดินทางด้วย เพราะการเลือกพาหนะผิดจะทำให้เราถึงเป้าหมายช้า หรือบางครั้งก็อาจจะไม่มีทางไปถึงก็เป็นไปได้ครับ เหมือนกับการขี่จักรยานไปต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่การนั่งเครื่องบินจะทำให้ถึงเร็วกว่า

ซึ่งในอันดับแรกหากใครต้องการเดินทางในเส้นทางการลงทุนนี้ เราก็ต้องมีการตรวจเช็คตัวเองก่อนเริ่มลงทุนครับว่าเรามีเงินเหลือพอไหม เงินก้อนนี้ปลอดภาระใด ๆ รึเปล่า พร้อมจะลงทุนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการลงทุนพอสมควร เพราะว่าบางครั้งการลงทุนต้องอาศัยเวลาเป็นปี ๆ เพื่อให้การลงทุนนั้นถึงเป้าหมาย รวมถึงเราสามารถที่จะลงทุนรายเดือนได้หรือไม่ 

เนื่องจากการลงทุนเป็นประจำนอกจากจะลดความเสี่ยงแล้ว ก็จะทำให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นครับ หากเราไม่ได้เตรียมเงินไว้ ก็เหมือนกับการที่เรามีรถขับ แต่ไม่มีน้ำมัน ทำให้เราเดินทางไกลไม่ได้นั่นเองครับ

ถัดมาคือ นักลงทุนเองก็ต้องเข้าใจว่ากองทุนคืออะไร มีกี่ประเภท เนื่องจากแต่ละประเภทนั้น มีความสามารถในการทำให้เงินงอกเงยและมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต่างกันครับ เช่นกองทุนหุ้นก็จะเหมาะกับเป้าหมายระยะยาวมากกว่า 5-7 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี แต่ก็มีความเสี่ยงเยอะไปด้วยครับ ส่วนบางกองทุนความเสี่ยงต่ำมาก เหมาะกับการเก็บเงินในระยะสั้น หรือว่าเป็นที่เก็บเงินฉุกเฉิน ตัวอย่างก็เช่นกองทุนรวมตลาดเงิน และ กองทุนตราสารหนี้นั่นเองครับ

5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน
5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน

เมื่อเลือกกองทุนที่น่าจะเหมาะกับเป้าหมายเราได้แล้ว เราก็จะมาเลือกกองทุนที่ดีกันครับ ซึ่งส่วนใหญ่ผมแนะนำว่าให้เลือกจากระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จากนั้นไปดูที่นโยบายการลงทุนของกองทุนครับว่าเหมาะกับเราไหม และสุดท้ายนักลงทุนเองก็ควรที่จะพิจารณาค่าธรรมเนียมในการซื้อกองทุนด้วยนะครับ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ควรไม่แพงจนเกินไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ

คราวนี้ถ้าเราได้กองทุนที่ถูกเป้าหมายถูกใจ แล้ว มาดูกันต่อครับว่าจะเริ่มซื้อกองทุนได้อย่างไร

2. ขั้นตอนในการซื้อกองทุน

เมื่อเราเดินเข้าไปในธนาคาร เจ้าหน้าที่ ธนาคารแนะนำตัวเองหรือแสดงบัตร IC เพื่อให้ลูกค้าทราบว่ากำลังคุยกับพนักงานที่มีใบอนุญาต

จากนั้น ก็จะสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ จากเรา โดยส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกับข้อแรกคือ เราจะลงทุนเพราะอะไร เป้าหมายคืออะไร และรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เงินก้อนนี้เป็นเงินที่พร้อมลงทุน พร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากเงินฝากปกติหรือไม่ครับ โดยจะเป็นแบบประเมินที่เราเรียกว่า “Suitability Test” นั่นเองครับ เพื่อให้ ทราบระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

พอได้ข้อมูลเป้าหมาย และ ความเสี่ยงจากเรา เจ้าหน้าที่จะแนะนำกองทุนที่เหมาะกับเราตามคะแนนความเสี่ยงได้จากแบบประเมิน ซึ่งอาจจะเป็นกองทุนเดี่ยว ๆ บ้าง หรือบางครั้งก็มาเป็นพอร์ตการลงทุนเลยก็ได้ คือมีกองทุนหลาย ๆ กองจัดมาเป็นชุด “Happy Meal” ตามระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

คราวนี้หากเราสนใจกองทุน หรือ ชุด Happy Meal ที่เขาเสนอมา ทางเจ้าหน้าที่ก็จะให้เอกสาร Fund Factsheet (หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน) เพื่อให้เราอ่านรายละเอียดของกองทุนอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจครับ จังหวะนี้แหละครับที่นักลงทุนสามารถถามรายละเอียดกองทุน และ แนวคิดการลงทุนของกองทุนที่ทางเจ้าหน้าที่แนะนำมาได้ครับ

ยิ่งถามละเอียดเท่าไหร่ก็ยิ่งดีนะครับ เนื่องจากบางกองทุนมีแนวคิดการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางกองทุนไปลงทุนในหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีความมั่นคง แต่อาจจะเติบโตช้ากว่า อีกกองทุนที่เลือกหุ้นบริษัทขนาดเล็กที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงก็เป็นไปได้ แต่ว่ากองทุนหุ้นเล็กเองก็มีความเสี่ยง หรือความผันผวนที่สูงกว่าครับ อันนี้นักลงทุนเองต้องเป็นคนตัดสินใจจากข้อมูลใน Fund Fact Sheet และคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่เองนะคร้าบ

5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน
5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน

จากนั้นเราต้องเซ็นเอกสารต่าง ๆ ดังนี้ครับ 

1.แบบฟอร์ม “Suitability Test” (ตามที่ได้กล่าวข้างต้น)

2.ใบคำขอเปิดบัญชีกองทุน

3. แบบแจ้งสถานะความเป็นบุคคลอเมริกัน/ไม่เป็นอเมริกัน (FATCA) - บุคคลธรรมดา

4.ใบคำสั่งซื้อ

5.แบบแสดงคุณสมบัติการเป็นผู้ลงทุนประเภท “ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูง” และลงนามรับทราบความเสี่ยง สำหรับการทำรายการซื้อ และสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน เฉพาะกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น (ถ้ามี)

6.แบบฟอร์มสำหรับการทำรายการซื้อหน่วยลงทุนประเภทสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ถ้ามี)

7.แบบฟอร์มการประเมินความรู้ความสามารถในการลงทุน (knowledge assessment) สำหรับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน (ถ้ามี)

8.ใบคำขอออกสมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน (สำหรับ บลจ. LH Fund เท่านั้น)

กว่าจะกรอกเสร็จเล่นเอาเหนื่อยเลยใช่ไหมครับ แม้ว่าเอกสารจะเยอะไปหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความปลอดภัยของนักลงทุน และเพื่อให้ได้กองทุนที่เหมาะสมกับเรานะครับ

“แต่นักลงทุนครับ ซื้อกองทุนเสร็จก็อย่าเพิ่งเดินตัวปลิวออกมานะครับ”

3. ก่อนกลับเช็คเอกสารให้ครบถ้วน

สิ่งที่นักลงทุนจะได้ติดมือกลับมาจากการซื้อกองทุนที่เราเลือกมาแล้วเป็นอย่างดีก็คือ 

  • Fund Factsheet (หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ กองทุนที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุน)
  • สำเนาใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน
  • ใบบันทึกรายการ
  • สมุดบัญชีแสดงสิทธิ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้เห็นสมุดบัญชีแบบนี้เราเท่าไหร่นัก เพราะว่ามักจะมาในรูปแบบของการแสดงรายการบน Application ของธนาคารบ้าง หรือ เราสามารถตรวจสอบได้ผ่านทางระบบ internet banking คร้าบ
  • แบบฟอร์มสำหรับการทำรายการซื้อหน่วยลงทุนประเภทสิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีลูกค้าลงทุน กองทุน LTF/RMF ซึ่งเอกสารนี้ค่อนข้างจะจำเป็นครับ เพราะว่าต้องไปเป็นหลักฐานกับทางสรรพกรในการลดหย่อนภาษีนั่นเองครับ (อันนี้ บลจ.จะส่งให้ที่บ้าน ไม่ได้ให้หลังซื้อเสร็จค่ะ) 

4. ซื้อกองทุนอย่างมีวินัย ลงทุนอย่างมีแบบแผน และตรวจสอบข้อมูลหลังการซื้อ

เมื่อเราเปิดบัญชีกองทุน และได้รับเอกสารครบแล้วก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจนะครับ ทั้งนี้เราเองก็ควรจะกลับมาวางแผน การลงทุนต่อว่า เราจะทำอย่างไรให้มีเงินลงทุนทุกเดือน หรือจะลงทุนต่อเดือนเพิ่มเติมเป็นเท่าไหร่ บางคนที่มีรายได้เพิ่มจากงานพิเศษเองก็สามารถที่จะลงทุนเพิ่มได้อีก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรักษาวินัยของเราให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น

แน่นอนว่าการลงทุนอย่างมีวินัยนอกจากจะช่วยให้เราถึงเป้าหมายแล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงระหว่างการลงทุนได้อีก เพราะว่าหากเราลงทุนเป็นประจำทุกเดือนได้ ราคาของหน่วยลงทุนนั้นจะไม่ผันผวนมาก เราเรียกวิธีนี้ว่า Dollar cost average หรือ DCA ครับ

แต่การทำเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ยากอะไร ไม่ต้องเดินทางไปซื้อกองทุนเองทุก ๆ เดือน เหมือนสมัยก่อนอีกแล้วครับ เพียงแค่กดซื้อผ่านระบบ mobile banking ของทางธนาคาร ก็สามารถซื้อกองทุนได้ทุก ๆ เดือนแล้วครับ ที่สำคัญทางระบบ mobile banking ก็จะมีการบันทึกข้อมูลหลังการซื้อได้อีกด้วย จะได้ทราบว่าเราซื้อไปแล้วเท่าไหร่ ขาดเหลือเท่าไหร่ที่ต้องลงทุนเพิ่ม หรือถ้าบ้านอยู่ใกล้ ๆ ก็สามารถตรวจสอบได้ที่ บลจ. หรือ ธนาคาร โดยตรงครับ ไปเยื่ยมเจ้าหน้าที่ที่สาขาได้นะครับ ซึ่งข้อดีคือมีคนคอยให้คำแนะนำการลงทุนด้วยนะครับ
 
 

5. หมั่นตรวจสอบแผนการลงทุน

สุดท้ายนักลงทุนเองเมื่อลงทุนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีแผนการลงทุนรายเดือนแล้ว ก็อย่าคิดว่าจะให้เงินทำงานไปเรื่อย ๆ อย่างเดียวนะครับ นักลงทุนเองก็ควรที่ต้องตรวจสอบแผนการลงทุนด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ 6 เดือนครับ ที่ต้องกลับมาดูสิว่าแผนการลงทุนนั้นเป็นไปตามแผนมากน้อยขนาดไหน กองทุนทำผลตอบแทนได้ดีไหม เหนือสิ่งอื่นใด นักลงทุนเองก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นด้วยนะครับ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์การลงทุน 

เพราะว่าบางครั้งผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็มาจากผลกระทบอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการบริหารกองทุนของ บลจ. ครับ แต่เป็นเพราะ สภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง และ แนวโน้มของธุรกิจที่เราได้ลงทุนไปครับ ซึ่งหากนักลงทุนมีความรู้ ผมเชื่อว่าจะทำให้การลงทุน ผิดพลาดน้อยลง ไม่ไปลงทุนในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงได้ครับ ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี และ สม่ำเสมอมากขึ้นครับ

5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน
5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อกองทุน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมคิดว่านักลงทุนหน้าใหม่ ๆ น่าจะได้ความรู้กันพอสมควร และ สามารถที่จะเข้าไปซื้อกองทุน หรือเปิดบัญชีกองทุนได้อย่างสบายใจกันแล้วใช่ไหมละครับ เหนือสิ่งอื่นใด อ่านบความแล้วก็อย่าแค่อ่านเฉย ๆ ครับ เป้าหมาย หรือความฝันของเราเริ่มต้นได้จากการลงมืือทำ ลงทุนจริง ดังนั้น เรามาลงทุนด้วยกันนะครับ แล้วพบกันนะครับ วันนี้ผมลาไปก่อน สวัสดีครับ

บทความนี้เป็น Advertorial

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0