โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

5 เหตุผล ควรบันทึกการซื้อขายหุ้น

Wealth Me Up

เผยแพร่ 07 มิ.ย. 2563 เวลา 02.00 น. • Wealth Me Up

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

จำได้หรือไม่… ซื้อหุ้นมาในราคาเท่าไหร่? ได้ปันผลมาแล้วมากน้อยแค่ไหน? เสียค่าคอมมิชชั่นคุ้มกับต้นทุนหรือไม่? ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพียงคุณ จด…จด…จด… สะกดรอยตามพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของตนเอง

 

แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบจด บ้างก็ว่าไม่จำเป็น บ้างก็ว่าละเอียดถี่ยิบเกินไป แถมบางคน ยังมองว่าจะสร้างความยุ่งยากให้ชีวิตไปทำไม โบรกเกอร์ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ใช้ ขอบอกว่า… จดเถอะ!!! จะจดลงสมุด จะบันทึกในโปรแกรม Excel หรือจะใช้เครื่องมือของโบรกเกอร์ ก็สามารถทำได้ตามที่สบายใจ ขอแค่จดบันทึกเก็บไว้เป็นพอ และนี่คือ 5 เหตุผลที่นักลงทุนควรจดบันทึกการซื้อขายหุ้น

 

ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานจากโบรกเกอร์

 

ทุกครั้งที่มีการซื้อขายหุ้น นักลงทุนจะได้รับ รายงานการซื้อขายประจำวัน และ รายงานหลักทรัพย์คงเหลือประจำเดือน จากโบรกเกอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนใบเสร็จรับเงินว่า ได้ซื้อหรือขายหุ้นไปกี่หุ้น ที่ราคาเท่าไหร่ เสียค่าธรรมเนียมทั้งหมดเท่าไร และสรุปยอดหุ้นคงเหลือในแต่ละเดือน

 

หน้าที่ของนักลงทุน คือ ตรวจสอบยอดซื้อขายว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ และสรุปแล้วได้กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายตลอดเดือนนั้นเท่าไหร่ หากพบข้อมูลไม่ถูกต้อง ควรแจ้งให้โบรกเกอร์ทราบทันที ภายในระยะเวลาที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้

 

สะกดรอยตามพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของตนเอง

 

ทุกครั้งที่จดบันทึกการซื้อขายหุ้น จะสะท้อนให้เห็น พฤติกรรมการลงทุนของตนเองว่า แท้จริงแล้วสไตล์การลงทุนที่ผ่านมาเหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งใจไว้หรือไม่

 

ตัวอย่างเช่น แรกเริ่มตั้งใจว่า ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อให้มีเงินปันผลไว้ใช้ยามเกษียณ แต่ทนไม่ไหวต้องขายทุกครั้งที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นแรง แล้วลืมเอาเงินกำไรที่ได้รับกลับมาลงทุนต่อ ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งอาจทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายได้ นักลงทุนจึงต้องทบทวนตนเองอีกครั้งว่า ควรจะปรับพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นใหม่หรือไม่

 

บันทึกประวัติศาสตร์ราคาหุ้นในพอร์ต

 

ทุกครั้งที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นเดิมเพิ่มหรือขายหุ้นที่มีอยู่ในพอร์ต บันทึกการซื้อขายหุ้นจะช่วย เปรียบเทียบให้เห็นว่า ราคาตลาด ณ เวลานั้น เหมาะสมที่จะซื้อ/ขายหรือยัง เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันในอดีต หากอยากเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อาจนำราคาหุ้นที่ซื้อไว้แต่ละช่วงมา Plot เป็น Graph ก็ได้ไม่ว่ากัน

 

สิ่งสำคัญ คือ เมื่อคิดว่าได้ราคาที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องไม่ลืมวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบราคาหุ้น และเปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจากบทวิเคราะห์ ของโบรกเกอร์ต่างๆ ประกอบการตัดสินใจทุกครั้ง

 

ติดตามวัดผลการลงทุน

 

นอกจากบันทึกการซื้อขายหุ้นจะทำหน้าที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ราคาหุ้นในพอร์ตแล้ว ยังใช้ในการวัดผลการลงทุนของคุณได้ด้วย การกลับมาทบทวนบันทึกการซื้อขายหุ้น ทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จะทำให้รู้ถึง ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนรวมของพอร์ตหุ้น (Total Portfolio Return) เปรียบเทียบเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ เช่น

 

  • ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET Total Return Index : SET TRI)
  • ดัชนีผลตอบแทนรวม SET50 (SET50 Total Return Index : SET50 TRI)
  • ดัชนีผลตอบแทนรวมรายอุตสาหกรรม (Industry Total Return Index : Industry TRI ) ฯลฯ

 

อย่าลืม!!! ย้อนกลับมาเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยว่า ผลตอบแทนที่ได้เป็นไปตามอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไว้หรือไม่

 

ปรับพอร์ตลงทุนได้ทันสถานการณ์

 

สุดท้าย… หากพบโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นในช่วงตลาดขาขึ้น ก็ควรพิจารณา ปรับพอร์ตลงทุน โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีให้สอดคล้อง กับสถานการณ์

 

แต่หากผลตอบแทนไม่เป็นตามที่คาดหวัง ก็อาจปรับลดสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ หรืออาจเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการลงทุนในช่วงที่หุ้นพื้นฐานดี มีราคาถูก เพราะนอกจากนักลงทุนจะมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนแล้ว ยังอาจช่วยลดต้นทุนการถือครองหุ้น ที่มีอยู่เดิมได้ด้วย

 

ทราบเหตุผลต่างๆ นานาที่นักลงทุนควรจดบันทึกการซื้อขายหุ้นกันไปแล้ว ก็อย่าลืมไปจด.. จด… จด บันทึกการซื้อขายหุ้นของตนเองดูบ้าง หมั่นเสริมสร้างวินัยในการลงทุนที่จะนำพาคุณไปสู่เส้นทางเศรษฐีหุ้นในอนาคต

 

 

#WealthMeUp

 

ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=decode_manage_invest_35&innerMenuId=20

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0