โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

5 อำเภอ กาญจนบุรีประกาศ "เฝ้าระวัง" หมูติดโรคอหิวาต์แอฟริกา

Thai PBS

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 05.54 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 05.54 น. • Thai PBS
5 อำเภอ กาญจนบุรีประกาศ

วันนี้ (10 ต.ค.2562) นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี แจ้งกรณีที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และกรมปศุสัตว์ได้รายงานการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ส่งผลให้ จ.กาญจนบุรี ที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามีความเสี่ยงสูงมากขึ้น หากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดการแพร่ระบาดเข้ามาใน จ.กาญจนบุรี จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสุกร

ทั้งนี้ จ.กาญจนบุรี จึงออกประกาศโดยใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและปฏิบัติงานควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ โดยส่วนท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ใน อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และด่านมะขามเตี้ย เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่า

และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์สุกรและหมูป่า เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคสัตว์ระบาด พ.ศ.2558

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกร หากเกิดโรคจะทำให้สัตว์ตายเป็นจำนวนมากและยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษา แต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน โดยมีระยะฟักตัวของโรค 5 - 15 วัน และสามารถพบสุกรป่วยได้ทุกกลุ่มและทุกช่วงอายุ

อาการของโรคในสุกร 

  • ตายเฉียบพลัน
  • มีไข้สูง
  • ผิวหนังแดง
  • มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำโดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง
  • มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงของการตั้งท้อง

เลี่ยง 4 ข้อเสี่ยงติดต่อโรคระหว่างสุกรสู่สุกร

  • การสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสุกรป่วย
  • การหายใจเอาเชื้อเข้าไป
  • การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • การโดนเห็บที่มีเชื้อกัด

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้สุกรป่วย

  • ปรับระบบการเลี้ยงสุกรให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพตามมาตรฐาน GFM/GAP
  • งดใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกร หากจำเป็นต้องใช้ควรนำเศษอาหารไปต้มให้สุกก่อน
  • ติดตามข่าวสารการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิ
  •  หากไปดูงานหรือทำงานที่ฟาร์มในประเทศที่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด ให้มีระยะเวลาพักก่อนเข้าฟาร์มอย่างน้อย 5 วัน
  • สังเกตอาการสุกรที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ

พบสุกรตายเฉียบพลัน ทำอย่างไร 

  • ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรออกจากฟาร์ม
  • ห้ามผ่าชันสูตรซากเองในฟาร์ม
  • แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือ ติดต่อ 06-3225-6888

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0