โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 วิธีให้ลูกใช้อินเทอร์เน็ตได้ อย่างปลอดภัย

Mood of the Motherhood

อัพเดต 23 ส.ค. 2562 เวลา 12.21 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2562 เวลา 12.19 น. • Features

ในยุคที่เด็กๆ สามารถใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับหาความรู้ ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องยากที่คุณพ่อคุณแม่จะปฏิเสธและปิดกั้นไม่ให้ลูกได้มีโอกาสเปิดโลกกว้างผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ 

แต่ในอีกด้าน การปล่อยให้เด็กๆ ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ ก่อนวัยอันควรก็อาจนำมาซึ่งอันตรายที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึง

เราลองรวบรวม 5 วิธี ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดียได้ปลอดภัยมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่เองก็สบายใจมากขึ้น

1. ใช้แอปพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ช่วยดูแล

Life360: Find Family & Friend (Android และ iOS) เป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถแสดงตำแหน่งที่อยู่ของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างแม่นย่ำ มีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อลูกออกจากบ้าน ไปถึงโรงเรียน หรือไปสถานที่อื่น และหากเกิดอันตรายกับลูก ลูกสามารถใช้ระบบขอความช่วยเหลือ (Alert) ผ่านแอปฯ ได้ และสามารถเรียกดูประวัติการเดินทางย้อนหลังได้อีกด้วย

MamaBear Family Safety แอปพลิเคชั่นช่วยให้พ่อแม่สามารถติดตามกิจกรรมสังคมออนไลน์ จัดการการใช้แอปพลิเคชั่น และยังแจ้งเตือนให้พ่อแม่รู้รายชื่อผู้ติดต่อที่ลูกเพิ่มเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ ใช้คำต้องห้าม หรืออัปโหลดภาพถ่ายและแท็กรูปภาพในโซเชียลมีเดีย

Messenger Kids (Android และ iOS) ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือแอปพลิเคชั่น Messenger ที่ใช้ติดต่อพูดคุยระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่สร้างขึ้นเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี  โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้บัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองสร้างบัญชี Messenger Kids ให้กับลูก และสามารถอนุมัติรายชื่อหรือลบรายชื่อผู้ติดต่อที่ไม่ต้องการแทนลูกได้ และตรวจสอบการสนทนาได้

YouTube Kids ก็คือยูทูบที่คัดสรรสำหรับให้ความบันเทิงและความรู้กับเด็กโดยเฉพาะ

Google Family Link เป็นแอปพลิเคชั่นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบการใช้งานแอปพลิเคชั่นของลูกได้ เช่น ใช้แอปฯ อะไร เป็นเวลาเท่าไร หากพบความผิดปกติก็สามารถจำกัดระยะเวลาหรือล็อกอุปกรณ์ของลูกได้ รวมถึงสามารถคัดกรองคำค้นหาในเบราว์เซอร์ Google Chrome หรือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ไม่เหมาะสมใน Play Store ได้อีกด้วย

แอปพลิเคชั่นนี้ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เมื่อลูกอายุครบ 13 ปี จะมีการแจ้งเตือนและถามว่าคุณพ่อคุณแม่จะควบคุมการใช้งานต่อไปหรือไม่

mSpy เป็นซอฟต์แวร์สำหรับสอดแนมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในอุปกรณ์ต่างๆ สามารถ ติดตามประวัติการเข้าเว็บ ค้นหารูปภาพและวิดีโอ อีเมล ข้อความจากบทสนทนา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างแอปพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ที่สามารถเป็นตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกให้เป็นไปอย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรใช้งานอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติและเคารพสิทธิส่วนบุคคลของลูกนะคะ

2. แชร์แอกเคานต์ร่วมกันกับลูก

ระบบปฏิบัติการ ทั้ง iOS และ Android มีให้บริการฟีเจอร์สำหรับแชร์แอปพลิเคชั่น เกมส์ ภาพยนตร์ หรือหนังสือ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และยังสามารถควบคุมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นหรือเกมที่ต้องเสียเงินซื้อ เพราะจะต้องได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าครอบครัวที่กำหนดไว้ในระบบเสียก่อน

3. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโซเชียลมีเดียของลูก

คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบและตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในแอปพลิเคชั่นต่างๆให้ลูกก่อนการใช้งาน เช่น ปิดการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่จำเป็น หรือตั้งค่าความปลอดภัย เช่น การยืนยันตัวตนสองชั้น (ใส่รหัสหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์กับรหัสที่ส่งผ่าน SMS) หรือเปลี่ยนพาสเวิร์ดทันทีที่รู้ว่าแอกเคานต์โดนแฮก

แอปพลิเคชั่นสำหรับแชตและพูดคุยต่างๆ ไม่ควรตั้งค่าเปิดเป็น เพิ่มเพื่อนอัตโนมัติ (Auto-add friend) และอนุญาตให้ผู้อื่นเพิ่มเป็นเพื่อน (Allow other to add me) เพื่อให้ลูกสามารถคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาอยู่ในเฟรนด์ลิสต์ก่อนทุกครั้ง

4. คุณพ่อคุณแม่ควรรู้รหัสปลดล็อกเครื่องหรือแอปพลิเคชั่นที่สำคัญ

คุณพ่อคุณแม่ควรทำข้อตกลงกับลูก และอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้รหัสปลดล็อกเครื่องและแอปพลิเคชั่นที่สำคัญ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลในโทรศัพท์ของลูก คุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถทำได้ทันที

5. กดติดตาม (follow) และแอดเฟรนด์ลูกในโซเชียลมีเดีย

คุณพ่อคุณแม่ควรบอกหรือตกลงกับลูกว่า คุณจะทำการติดตามหรือแอดเฟรนด์เขาในช่องทางต่างๆ ไม่ใช่เพื่อเป็นการสอดส่องหรือจับผิดลูก แต่เป็นการติดตามดูความเคลื่อนไหวของลูกด้วยความเป็นห่วง และคุณพ่อคุณแม่จะไม่โพสต์หรือคอมเมนต์ในลักษณะที่จะทำให้ลูกอับอาย รวมถึงจะให้เคารพในการใช้โซเชียลมีเดียของลูกด้วย

อ้างอิง

โครงการความรู้สู่พ่อแม่และครูครั้งที่ 12 “เด็กสมาธิสั้นกับสังคมออนไลน์”

คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์

Appdisqus

Iphonemod

Thairath

it24hrs

Google Play 

Apple

Dailygizmo

families.google

Si.mahidol

Businessinsider

Thepotential

Support.google

Appdisqus

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0