โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

5ขั้นจัดการปัญหา อย่าปล่อยให้ ‘หนี้’ถึงทางตัน !

Money2Know

เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
5ขั้นจัดการปัญหา อย่าปล่อยให้ ‘หนี้’ถึงทางตัน !

ทุกคนในโลกนี้ล้วนเคยทำผิด ทุกคนในโลกนี้ล้วนเคยตัดสินใจพลาด ขึ้นอยู่กับว่าจะผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน และขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เคยผิดพลาดจะเรียนรู้บทเรียนชีวิตนั้นๆ อย่างไร และจะหาทาง “กลับมา” มีชีวิตที่เป็นปกติอีกครั้งได้หรือไม่

ความผิดพลาดที่ว่านี้ หมายรวมถึงทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องความรัก และเรื่องบริหารจัดการเงิน

ดิฉันเคยมีเพื่อนรักที่เรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่เด็ก คบหากันจนเรียนจบ แยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อนรักคนนี้มีครอบครัวที่ดีมาก คุณพ่อคุณแม่ทำงานมั่นคง สะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งให้ลูกสาวใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ แต่เพราะความที่เพื่อนดิฉันคิดว่าตัวเองไม่สวย และเป็น “คนกลางๆ” ในสังคม ไม่มีอะไรโดดเด่น พอถึงวันนึงมีผู้ชายไม่ดีๆ เข้ามาในชีวิต ก็รีบร้อนคว้าไว้ เพราะคิดว่า นี่คือโอกาสเดียวที่จะมีคนมารัก

แม้พ่อแม่ (รวมถึงเพื่อนฝูง) จะไม่เห็นด้วย แต่เธอก็ไม่ยอมฟังใครค่ะ ดิฉันเคยถามว่า ผู้ชายทำไม่ดีกับเราสารพัด ทำไมไม่ตัดใจเลิกไป จะรักอะไรขนาดนั้น เธอตอบว่า “เธอเสียดายเวลาที่คบหากันมายาวนานถึง 15ปี ไม่อยากเริ่มใหม่กับใครอีก”

จากปัญหาคู่ครองไม่เหมาะสม เป็นคนที่ไม่ดีพอสำหรับชีวิตเรา สุดท้ายเพื่อนของดิฉันประสบปัญหาทางการเงินหนักมาก จนในที่สุดก็ต้องออกห่างจากเพื่อนในกลุ่ม และเท่าที่ทราบมาล่าสุดก็น่าจะเลิกรากับผู้ชายที่เคยครั้งหนึ่งไม่ยอมเลิก เพราะ “เสียดายเวลาที่คบหากันมา” ไปเรียบร้อยแล้ว

ผ่านไปหลายปี ดิฉันไม่แน่ใจว่า เพื่อนของดิฉันคนนี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หรือยัง แต่ที่แน่ใจมากๆ ก็คือ เธอไม่สามารถกลับมาคบหากับเพื่อนเก่าได้อีกแล้ว เพราะตั้งแต่เธอมีปัญหาทางการเงินคราวนั้น เธอก็ตระเวณยืมเงินเพื่อนเก่าถ้วนหน้า และไม่ยอมใช้คืนให้ใครแม้แต่สตางค์เดียว

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงหลักคิดเรื่องการลงทุนในหุ้น ที่ “กฏเหล็ก” ประการหนึ่งที่นักลงทุนต้องท่องไว้คือ ‘เสียดาย’ดีกว่า ‘เสียใจ’ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นจะต้องท่องคำว่า“หยุดการขาดทุน” หรือ Stop Lossให้ขึ้นใจไว้เสมอ เพราะหุ้นบางตัว เราคิดว่าเราศึกษาดีพอแล้ว รู้หน้าก็แล้ว รู้ใจก็แล้ว แต่ก็มีโอกาสที่เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาจะปรับตัวลดลง และมีโอกาสที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นจะเปลี่ยน ดังนั้น เราต้องมีจุดตัดสินใจว่า“เราจะขาดทุนกับมันแค่นี้”ไม่ปล่อยให้ถลำลึกลงหมดตัว

อย่า “เสียดาย” เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้อง ‘เสียใจ’ซึ่งเจ็บปวดกว่า

ดิฉันว่า หลักคิดนี้ก็ใช้ได้กับ “ลูกหนี้”แตกต่างแค่ว่า คนที่เป็นลูกหนี้ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องมันบานปลายจนถึงทางตัน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น มันจะแก้ยาก และอาจจะเลยเถิดไปขั้นแก้ไขไม่ได้

น้องลูกหนี้คนล่าสุดที่เพิ่งเจอกัน มีหนี้จากการใช้บัตรเงินสดที่เธอกู้มาเพื่อใช้คืนหนี้นอกระบบ เป็นการแก้ปัญหาแบบเอาน้ำมันไปราดกองไฟ เพราะถึงแม้บัตรเงินสดจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าหนี้นอกระบบ แต่ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการแก้ปัญหานี้

ปัญหามันเกิดจากการกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เล่นพนันบอล และอื่นๆ อีกมากมายที่เข้าข่ายเป็น “หนี้เสีย” ไม่ใช่ “หนี้ดี” ขณะที่เจ้าหนี้ก็โขกดอกเบี้ยสูงถึง 30% ต่อเดือน หรือ 360% ต่อปี กู้มา 50,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ15,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยแค่ 4เดือนยอดจ่ายก็เกินเงินต้นแล้ว พอไม่ไหวจริงๆ ก็คิดง่ายๆ ด้วยการกดเงินจากบัตรเงินสดไปปิดหนี้นอกระบบ

เคยเขียนไปในตอนที่แล้วว่า บัตรเงินสดนั้นคิดดอกเบี้ย 20-27%ต่อปี ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ แม้จะดูว่า “โหดน้อยกว่า” หนี้นอกระบบ แต่เมื่อกู้มาแล้วไม่เคยชำระคืน สถาบันการเงินผู้ให้กู้ก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกวนไป จนล่าสุดหนี้ 50,000 บาทนั้นพอกพูนกลายเป็นเกือบ 2 แสนบาทแล้ว ดิฉันแนะนำให้เจรจากับเจ้าหนี้ หรือหาทางติดต่อคลินิกแก้หนี้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่า แต่น้องลูกหนี้บอกว่า “ตอนนี้เรื่องไปถึงศาลแล้ว อยู่ระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี”

นี่ก็เป็นตัวอย่างของการปล่อยให้หนี้เดินไปถึงทางตัน!จนตัวเองต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมีคดีติดตัว แม้สุดท้ายจะประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ หรือถูกสั่งอายัดเงินเดือนบางส่วน แต่ “เครดิต” หรือ “ความน่าเชื่อถือ” ก็ไม่มีเหลือแล้ว ต่อไปจะกู้เงินลงทุนธุรกิจ ซื้อบ้าน ซื้อรถก็ยากหมด

หนทางที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองเดินไปทางตัน เริ่มแรกก็ต้องสำรวจตัวเองก่อนค่ะว่า “หนี้” ที่เราก่อไว้ เริ่มมีปัญหาบ้างหรือยัง เรายังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้หรือไม่ มันเริ่มติดขัดอะไรมั้ย ถ้ารู้สึกว่า อาการไม่ค่อยดี ขั้นที่สอง ก็ต้องหยุดก่อหนี้เพิ่มค่ะ เอาแค่จัดการกับหนี้เดิมให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้เงินต้นหรือดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ขั้นที่สาม ต้องสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าเรามีรายจ่ายไม่จำเป็นที่สามารถลดหรือตัดทอนลงได้มั้ย ทำพร้อมกันกับขั้นที่สี่ คือ หารายได้เสริม ลองค้นศักยภาพหรือความสามารถพิเศษที่เรามี ทำอาหาร ทำขนม เย็บผ้า ทำกล่องของขวัญดีไซน์สวยๆ หรือจัดต้นไม้ตกแต่งกระถางสวยๆ เป็นของฝาก ของที่ระลึก ได้หรือไม่ เพราะงานพวกนี้จัดสรรเวลาให้ดี ก็สามารถทำนอกเหนืองานประจำได้

และถ้าทำทั้งหมดแล้ว อาการ “หนี้” ยังทรงหรือทรุด ก็มาถึงขั้นสุดท้ายคือ อย่าหนีเจ้าหนี้ค่ะ อย่าหนี หรืออย่าเฉยๆ แต่ให้คุยกับเจ้าหนี้ เจรจาประนอมหนี้ หาทางออกที่เราก็อยู่ได้ และเขาก็ได้เงินคืน เพราะถ้าหนี จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และสุดท้ายเราอาจจะรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลย*   *

ลองดูนะคะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0