โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“เขย่าพอร์ต” ให้เข้าที่...รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ ‘แตกต่างกัน’ !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 08 ส.ค. 2566 เวลา 13.47 น. • เผยแพร่ 08 ต.ค. 2564 เวลา 15.52 น. • กฤษฎิ์ รัตนธีระธาดา

ระยะเวลาในปี 64 ก็ได้ผ่านไปกว่า 9 เดือน ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีหรือในไตรมาส 4/64 ทำให้นักลงทุนไม่น้อยก็อาจจะกำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดการเงินอยู่
หรือนักลงทุนที่มีการลงทุนในพอร์ตอยู่ ก็อาจจะอยากปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือมีความเสถียรภาพที่มากกว่า
ในวันนี้ทาง ‘Wealthy Thai’ จึงขอนำเสนอมุมมองการจัดพอร์ตการลงทุนที่น่าสนใจจากChief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์” ถึงภาพรวมเศรษฐกิจพร้อมด้วยสินทรัพย์ที่น่าสนใจที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมาแชร์ให้แก่ผู้อ่านในครั้งนี้

ชู “Quality Growth”…กลุ่มหุ้นที่มีภูมิต้านทาน ‘Bond Yield’ ขาขึ้นได้ดี

โดย “ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ”ผู้อำนวยการอาวุโส, Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของแต่ละประเทศยังคงมีความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันออกไป ด้วยการเข้าถึงของวัคซีนต้านไวรัส COVID-19ซึ่งจากความแตกต่างกันกำลังนำไปสู่การทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกัน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเริ่มมีความแตกต่างมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศใน “กลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว” เช่น สหรัฐฯ และ อังกฤษ ที่เริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงินอย่างแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering)รวมไปถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความพร้อมของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “ประเทศเกิดใหม่” ผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและความผันผวนของกระแสเงินทุน (fund flows) สำหรับนโยบายการคลัง การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมามีต้นทุนสูงสะท้อนจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นค่อนข้างเร็วในหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงที่แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวแต่น่าจะใช้เวลาพอสมควรในการชะลอลง

(ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ)

“อย่างไรก็ตาม คาดว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วในระยะข้างหน้าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย ‘อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (real yields)’ จะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้น ผลกระทบต่อ valuation หุ้นกลุ่ม ‘Quality growth’ อยู่ในระดับที่จัดการได้และยังได้รับแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤต COVID-19 (new normal in business trends) ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักของหุ้นกลุ่ม ‘Quality growth’ คือ ผลกระทบจากการขึ้นภาษี และการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risks)”
แต่คาดว่าการขึ้นภาษีของภาครัฐ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ อาจทำได้ไม่มากเท่ากับที่ประกาศไว้เนื่องจากการทำมาตรการโครงสร้างพื้นฐานอาจมีการลดขนาดให้เล็กลง สำหรับหุ้นกลุ่มอื่นๆ เชื่อว่าการมีหุ้นในกลุ่ม ‘Value’ ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการป้องกันความผันผวนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการขยับขึ้นเร็ว

“ตลาดพัฒนาแล้ว” แนะตลาดย่อ-ทยอยสะสม ‘หุ้นสหรัฐ-ยุโรป’…ด้าน ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ราคาถูก-น่าสนใจเช่นกัน

ในแง่การจัดสรรการลงทุนมีมุมมองว่า กลุ่ม “ประเทศตลาดพัฒนาแล้ว” มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี หรือ หดตัวน้อยในช่วงวิกฤติ ทำให้มีการฟื้นตัวของกำไรและความสามารถในการทำกำไรในระยะข้างหน้าของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่าตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งในบางจังหวะที่ตลาดย่อตัวหรือช่วงที่ภาวะตลาดผันผวนก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่ม ‘สหรัฐ’ และ ‘ยุโรป’ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม ‘Quality growth’ ที่ยังมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากนี้ ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ก็มีความน่าสนใจ จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ โดย P/E อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อย และยังถูกกว่า S&P 500 ที่ระดับ +1.5SD และ STOXX 600 ที่ระดับ +1SD โดย EPS growth ปี2565 มีแนวโน้มเติบโตได้ดีมากกว่าหรือเท่ากับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป”

“หุ้นจีน” มองเป็นกลาง-ลบเล็กน้อย…ส่วน “เวียดนาม” เด่นสุดในอาเซียน-“ไทย” มองลบเล็กน้อย

ส่วนการลงทุนใน “จีน” ยังคงมุมมองตลาดหุ้น ‘A-Share’ ที่เป็นกลาง จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน เช่น นโยบายยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานและนโยบายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (common prosperity) และคงมุมมองตลาดหุ้นจีน ‘H-Share’ ที่เชิงลบเล็กน้อยเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ค่อนข้างมาก

“ด้าน ‘ตลาดหุ้นอาเซียนเวียดนามยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจและผลประกอบการจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3 /64 แต่ตลาดหุ้นได้สะท้อนการรับรู้ไปบ้างแล้ว โดยในระยะข้างหน้าคาดว่าจะมีการฟื้นตัวได้ของภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงต่อสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้”
ส่วน ‘ตลาดหุ้นไทย’มองเป็นเชิงลบเล็กน้อย จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่เสี่ยงถูกปรับลดลง และความตึงตัวของ valuation เมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนอื่น ด้วยผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ เดลตาที่มีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปในระยะเวลาหนึ่ง

“น้ำมัน” มองเป็นกลางขึ้น…ส่วน “ทองคำ” มองลบเล็กน้อย

ทั้งนี้ “ราคาน้ำมัน” ปรับมุมมองเป็นกลางจากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง และแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น รวมถึงการหันมาใช้น้ำมันมากขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง “ทองคำ” ได้มีมุมมองเชิงลบเล็กน้อย เนื่องจากจะได้รับผลกระทบจากแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (real yields) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และสำหรับ Asian REITs” ที่การปิดเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้
“ภาพรวมการลงทุนอาจจะคล้ายเดิมหรือก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักสำหรับนักลงทุนหลายๆ คนที่มีการลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐฯ’ และ ‘หุ้นยุโรป’ เป็นหลักหรือเป็นคอร์พอร์ต แต่ปัจจัยที่ต้องตามอย่างนโยบายการเงินและการคลังที่อาจจะส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์สะดุดก็ถือเป็นปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสถาบันเตือนว่าต้องติดตามเป็นพิเศษ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0