โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

4 สัญญาณเตือนเสี่ยงเป็นโรค ต้อกระจก รู้เท่าทัน รีบป้องกันก่อนตาบอด

SpringNews

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • SpringNews
4 สัญญาณเตือนเสี่ยงเป็นโรค ต้อกระจก รู้เท่าทัน รีบป้องกันก่อนตาบอด

ดวงตาเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย การดูแลสุขภาพดวงตาให้ดีอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้สูญเสียการมองเห็น หรือพัฒนาสู่การเป็น ต้อกระจก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบาง และหากสูญเสียมันไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

โรคต้อกระจก เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะเลนส์ตาขุ่น มีอาการหลัก คือ ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด สายตาเลือนราง ซึ่งลักษณะการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้นมีหลายแบบ แต่ส่วนมากแล้วอาการต่างๆ จะค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี เมื่อมีอาการมากขึ้นจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

แพทย์หญิง พรรักษ์ ศรีพล แพทย์เฉพาะทางจักษุ ด้านการผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตา โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ แนะวิธีสังเกตอาการ และสัญญาณเตือนของโรคต้อกระจก รวมไปถึงแนวทางการรักษา โดย​สาเหตุของการเกิดต้อกระจก มาจากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกได้ง่าย รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ด้วย โดยกลุ่มที่มีโอกาสได้รับยากลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร ซึ่งอาจมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ การได้รับอุบัติเหตุทางตา และการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกทั้งสิ้น

ต้อกระจก
ต้อกระจก

4 สัญญาณเตือนของโรคต้อกระจก

  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นภาพมัวในที่ที่มีแสงจ้า
  • สายตาเปลี่ยนบ่อย ไปวัดแว่นทีไรไม่ชัดสักที

เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์ทันที แต่แม้จะไม่มีสัญญาณเตือน เราก็ควรที่จะตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อค้นหาภาวะผิดปกติของดวงตา

ภาวะแทรกซ้อน อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

ในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมานานแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน นั่นคือ ภาวะต้อหินจากต้อกระจกที่บวมเป่ง (Phacomorphic Glaucoma) เกิดจากเลนส์ตาสุกเต็มที่แล้วบวม จนปิดทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาระบายไม่ได้ ส่วผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาเฉียบพลัน ตาแดง เมื่อส่องไฟจะเห็นเลยว่า ตาดำจะขาวผิดปกติ หากปวดในกรณีนี้ไม่มียาที่สามารถระงับอาการปวดได้และถือว่าอันตรายมาก

ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา วิธีรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

โรคต้อกระจก มีวิธีการรักษาเพียงวิธีเดียว นั่นคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันทั่วโลก และเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การทำเฟโกอีมัลซิฟิเคชั่น (Phacoemulcification) ด้วยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาเก่าให้มีขนาดเล็กแล้วใส่เลนส์ตาใหม่เข้าไป ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมากเพียงแค่ 3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล นับเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10-30 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดและความยากของเคสด้วย

​ปัจจุบัน การรักษาโรคต้อกระจกทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งคนไข้ที่เข้ามารับการผ่าตัดโรคตาต้อกระจก ไม่เพียงแต่จะได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดขึ้นแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมในการทำบุญอย่างยิ่งใหญ่ ในโครงการปันโลกสดใส ภายใต้โครงการแพทย์ผู้ให้ ด้วยการเปิดโอกาสในการมองเห็นให้กับผู้ที่ขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาดวงตาอีก 1 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดใด เปรียบเสมือนการผ่าตัด 1 ได้เห็น 2

ต้อกระจก
ต้อกระจก

ชีวิตใหม่หลังผ่าตัด ต้อกระจก

​หลังจากได้รับการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ชัดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกไม่เพียงแต่ทำให้กลับมามองโลกสดใส แต่ยังเป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ที่ผิดปกติได้ รวมทั้งยังช่วยลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินอีกด้วย

ผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากไม่รับการผ่าตัดต้อกระจก

ตามัวลงเรื่อยๆ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่สามารถรักษาโรคในจอประสาทตาได้ เช่น ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก มีพังผืดที่จอประสาทตา เลือดออกในตาหรือเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา

ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดระหว่างและหลังการผ่าตัดต้อกระจก

โอกาสเกิดติดเชื้อในลูกตาได้ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ตามัวลง ดังนั้นผู้ป่วยที่ผ่าตัดตา มีความจำเป็นต้องดูแลตาให้สะอาดมากๆ และหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นและสกปรก

โอกาสเกิดเลนส์ร่วงเข้าไปในน้ำวุ้นตาได้ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ อาจเกิดจากตัวยึดเลนส์ไม่แข็งแรง เลนส์ต้อกระจกแข็งเกินไป หรือบางกรณีมีการเคลื่อนหน้าของผู้ป่วยขณะผ่าตัด (หากเกิดกรณีดังกล่าว มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดครั้งที่2)

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคต้อกระจก หรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ ได้ทั้ง 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร และสามารถติดตามสาระดีดีเกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊กPrincipal Healthcare Company

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0