โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

4 วิธีปรับจูนกับผู้สูงวัยในบ้าน ให้เลี้ยงหลานไปในทิศทางเดียวกัน

HealthyLiving

อัพเดต 02 ส.ค. 2562 เวลา 05.10 น. • เผยแพร่ 01 ส.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
How-to-600x600 (1).jpg

หนทางสู่การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายสำหรับบ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะมีทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือเหล่าญาติๆ เจเนอเรชั่นสูงวัยที่คอยช่วยกันดูแลหลานตัวน้อยอยู่ แต่วิธีการเลี้ยงดูเด็กๆ ของคนต่างรุ่นต่างวัยซึ่งไม่ค่อยตรงกัน หรือไปกันคนละทิศคนละทาง ก็อาจทำให้เด็กสับสนและมีปัญหาได้เหมือนกัน

 ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเสียน้ำใจ แต่ก็ไม่อยากปล่อยปัญหานี้ต่อไปจนทำให้ลูกๆ หลานๆ ต้องเติบโตไปแบบสับสน เราจึงลองรวบรวม 4 วิธีปรับจูนการเลี้ยงเด็กๆ กับเหล่าผู้ใหญ่ในบ้านแบบนุ่มนวล สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ที่อยากให้ทุกคนทุกวัยในบ้านอยู่ด้วยกันแบบสุขสันต์และเฮลท์ตี้สุดๆ

 

1 ชวนคุยเปิดใจ ทำไมต้องทางเดียวกันสไตล์เลี้ยงลูกของคนรุ่นปู่ย่าตายาย มักเน้นการตอบสนองความต้องการของเด็กๆ เป็นหลัก (เช่นเดียวกับที่ท่านเลี้ยงดูเรามา) แต่พ่อแม่ยุคใหม่มักจะมีกฎส่วนตัวที่ชัดเจนกับเด็กๆ เพื่อรับมือกับโลกและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ดังนั้น วิธีแรกที่ควรทำคือ พ่อแม่ต้องหาเวลาเปิดใจเรื่องการเลี้ยงลูกกับท่านอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่บอกให้ท่านรู้ว่าเราวางกฎกับลูกในบางเรื่องไว้ยังไงบ้าง เช่น ให้กินขนมตอนไหน ให้เวลาอยู่หน้าจอนานแค่ไหน ฯลฯ แต่รวมไปถึงเจตนารมณ์ว่าอยากให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นคนแบบไหน อย่าปล่อยให้ค้างคาใจ การคุยกันอย่างใจเย็นเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องชี้ให้ท่านเห็นว่า ถ้าปู่ย่าตายายกับพ่อแม่เลี้ยงหลานแบบคนละทิศคนละทาง อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนสับสนในการตัดสินใจ หรืออาจจะสร้างนิสัยที่ไม่น่ารักได้ เช่น ถ้าขอของเล่นกับพ่อแม่ไม่ได้ ก็จะหันไปขอกับปู่ย่าตายายแทน ซึ่งในทางการแพทย์ เรื่องเล็กๆ แบบนี้อาจเลยเถิดไปมากกว่าแค่เสียนิสัย แต่ส่งผลให้เด็กน้อยเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตเวชในอนาคตได้เลยนะ

 

2 สร้างทางเลือกแบบใหม่ๆ ให้ปู่ย่า

ไม่จำเป็นต้องโกรธหรือเบ้หน้าทุกครั้งที่เราไม่พอใจการตัดสินใจของท่าน บางครั้งพ่อแม่เองก็ต้องปล่อยวางบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างสงครามต่อหน้าเด็กๆ ซึ่งอาจทำให้บรรยากาศอบอุ่นในครอบครัวต้องพังทลายไปกันใหญ่ และอย่าลืมว่าผู้สูงวัยเองก็มีหัวใจ ท่านเองก็เป็นคนเลี้ยงดูเรามา ท่านย่อมต้องมีความเชื่อและแนวคิดในการเลี้ยงเด็กๆ ในแบบของท่านเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงปู่ย่าตายายไม่ใช่เรื่องที่สร้างได้ในวันเดียว ลองให้โอกาสและเวลาให้ท่านค่อยๆ ปรับตัวด้วยการสร้าง ‘ทางเลือก’ ใหม่ๆ ให้กับท่าน สมมติว่าปู่ย่าตายายอยากให้รางวัลหรือของขวัญกับหลานเหลือเกิน หลานรบอะไรก็อยากให้ไปหมด แทนที่พ่อแม่จะสั่งห้ามท่านแบบคอขาดบาดตาย ลองเริ่มจากการให้ท่านเปลี่ยนรางวัลจากของเล่นชิ้นโตๆ เป็นประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันแทน เช่น พาหลานไปสวนสัตว์ พาหลานไปว่ายน้ำ พาหลานไปกินข้าว ฯลฯ รางวัลที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงินแพงๆ น่าจะช่วยทำให้ปู่ย่าตายายและเด็กๆ เริ่มอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง และค่อยๆ เรียนรู้ว่าของเล่นราคาแพง อาจไม่ได้มีมูลค่าต่อใจเทียบเท่าประสบการณ์กับครอบครัวได้เลย 

 

3 ปรับกฎให้ยืดหยุ่นได้ ในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่ต้องยอมรับว่าพ่อแม่หลายคู่อาจไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกๆ มากเท่าปู่ย่าตายาย เพราะยังต้องออกไปไปทำงานหาเลี้ยงดูครอบครัวกันอยู่ นั่นแปลว่ากฎที่พ่อแม่สร้างขึ้นมาให้กับเด็กๆ อาจจะไม่ได้ ‘พอดี’ กับพวกเขามากที่สุดก็ได้ โดยเฉพาะในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน บางครั้งผู้เลี้ยงดูที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างปู่ย่าตายาย อาจจะรู้จักและเข้าใจหลานๆ ดีกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำไป เปิดใจให้กับวิธีเลี้ยงดูหลานของผู้สูงวัยบ้าง อาจไม่ถึงกับต้องยกเลิกกฎเกณฑ์ที่พ่อแม่ตั้งไว้ แต่ใช้วิธีลดระดับความเข้มข้นลงมาเป็นแบบที่จะโอเคกับเด็กๆ และปู่ย่า เช่น ให้เด็กๆ กินขนมบ้างก็ได้ แต่ขอให้เป็นขนมเพื่อสุขภาพนะ หรือยอมให้เล่นเกมต่อก็ได้ แต่มีข้อแม้ให้เด็กตัดสินใจว่าจะต้องหยุดเล่นก่อนกินข้าวอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถ้าหยุดเล่นช้า ก็จะได้กินข้าวช้าไปอีก เป็นต้น  

 

4 ยอมรับในบทบาทและพลังงานดีๆ ของปู่ย่า สำคัญที่สุด คือการตระหนักในบทบาทของคนรุ่นสูงวัย แง่ดีของการมีปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงหลาน ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะสบายขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ท่านจะเป็นบุคคลต้นแบบในบ้าน ที่ช่วยส่งต่อความฉลาดทางอารมณ์ ส่งต่อภูมิปัญญา แนวคิด หรือจิตวิญญาณที่ท่านสั่งสมมาให้กับหลานๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านี้ แม้แต่พ่อแม่เองก็อาจจะให้ไม่ได้ด้วยซ้ำ 

มีงานวิจัยว่า ปู่ย่าตายายมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กๆ วัย 0-3 ขวบ เพราะท่านมีเวลาและพลังงานล้นเหลือในฐานะของผู้ให้ความรัก นักเล่าเรื่อง ผู้ให้ของขวัญทั้งแบบจับต้องได้และไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นคนสำคัญที่พาเด็กๆ ไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ ถ้าพ่อแม่เองรู้ดีว่าการมีอยู่ของท่านนั้นดีต่อเด็กๆ และครอบครัวแค่ไหน เราเองก็ต้องใช้การสื่อสารอย่างเข้าใจ และเคารพในบทบาทของผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน

 

    

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0