โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

4 วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง คุณมีความเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม หรือไม่?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2561 เวลา 05.04 น.
4 วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง คุณมีความเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม หรือไม่?
มะเร็งเต้านม เป็นโรคอันดับต้นๆ ที่ผู้หญิงเป็นมาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จัก วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง ที่ถูกต้อง เพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้น

มะเร็งเต้านม เป็นอีกโรคที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเยอะมาก และเชื่อได้เลยว่าคงไม่มีผู้หยิงคนไหนอยากจะเป็น หรือแม้แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นอย่างแน่นอน ทางที่ดีคุณสาวๆ ต้องหมั่นตรวจเช็กด้วยการคลำ สำหรับผู้หยิงคนไหนที่ยังไม่เคยเช็กด้วยตนเองเลย และไม่รู้วิธีว่าต้องทำอย่างไร วันนี้ Health MThai มี วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง มาแชร์ให้ฟังกันค่ะ ลองเอาไปทำตามกันดูนะคะ เราจะได้ทราบความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้น และไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทัน

วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ตรวจความผิดปกติได้ง่าย สามารถทำเองได้ เดือนละ 1 ครั้ง สำหรับสตรีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยอาการที่เกิดจากมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบว่ามีก้อนที่เต้านม มีการดึงรั้งของผิวหนัง หรือมีลักษณะผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น มีเส้นเลือดเพิ่มขึ้น หรือมีผิวหนังบวม นอกจากนี้ยังพบมะเร็งที่ส่วนของท่อน้ำนม ซึ่งอาจจะพบว่ามีอาการหัวนมบุ๋มหรือยุบลง หรือมีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม แต่อย่างไรก็ตามอาการที่พบดังกล่าวอาจจะเป็นอาการจากโรคอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งควรจะมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยทำการตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงตั้งแต่มีประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือน หรือตรวจในช่วงที่รู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นเต้านมจะไม่ตึงตัวมาก จึงสามารถคลำก้อนได้ชัดเจน หรือคลำก้อนที่มีขนาดที่ยังเล็กได้โดยง่าย ส่วนผู้ที่เข้าสู่วัยทองซึ่งประจำเดือนหมดไปแล้ว หรือได้รับการผ่าตัดมดลูกไปแล้ว ให้กำหนดวันที่แน่นอนสำหรับการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนเพื่อการจดจำง่าย และให้ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือน เช่น วันที่ 1 ของเดือน หรือวันสุดท้ายของเดือน เป็นต้น

ขั้นตอนแรกของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

1. การสังเกตความผิดปกติด้วยการดูลักษณะภายนอกของเต้านมการดูโดยให้ยืนตรงมือแนบลำตัว สังเกตลักษณะของเต้านมว่ามีการเปลี่ยนแปลงของหัวนมหรือไม่ ลักษณะของผิวหนังมีรอยบุ๋ม มีก้อนนูน ผิวหนังบวม มีแผลหรือมีเส้นเลือดสีดำใต้ผิวหนังมากเพิ่มขึ้นที่ผิดปกติหรือไม่ การดูให้สังเกตเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่าแตกต่างผิดไปจากเดิมหรือไม่ด้วย ทำการหันตัวเล็กน้อยเพื่อสามารถมองเห็นด้านข้างของเต้านมทั้งสองข้างได้อย่างชัดเจน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและรอยบุ๋มเช่นเดียวกัน

2. ยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อสังเกตความผิดปกติของรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เนื่องจากในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อให้เกิดรอยบุ๋มได้ เอามือท้าวสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนังได้ง่ายขึ้น เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตดูที่เต้านมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การคลำที่เต้านม

3. การคลำ การตรวจเต้านมควรทำทั้งในท่านั่งและท่านอน สิ่งที่สำคัญของการตรวจ คือ การตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านม โดย*ใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง *บริเวณค่อนไปทางปลายนิ้วเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไวต่อการสัมผัส การคลำเต้านมจะต้องคลำให้ทั่วทั้งพื้นที่ของเต้านม ในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็กๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังทรวงอกเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้

4. สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลว หรือเลือดออกจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ การบีบบริเวณหัวนมควรทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรบีบเค้นบริเวณหัวนมอย่างรุนแรง เพราะหากมีความผิดปกติจะพบว่ามีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดโดยไม่ต้องบีบเค้น

ในท่านั่ง ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านม ส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยการห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกหย่อนลง เนื่องจากหากกล้ามเนื้อตึงเกินไปจะไม่สามารถคลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน จากนั้นทำการตรวจโดยการนอนบนที่นอนยกแขนหนุนศีรษะ ในท่านี้อาจจะใช้ผ้าขนหนูม้วน หรือใช้หมอนขนาดเล็กสอดรองที่บริเวณหลังและไหล่ข้างที่ต้องการตรวจ เพื่อทำให้บริเวณทรวงอกด้านนั้นแอ่นขึ้นมาเล็กน้อย จะสามารถคลำได้ชัดเจนดียิ่งขึ้น การคลำเต้านม จะใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็กๆ บริเวณเต้านมให้ทั่วทั้งเต้านม ในระดับความแรง 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย ระดับที่ลึกลงไป และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก โดยทิศทางในการคลำสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้

  • คลำในแนวก้นหอย โดยสามารถคลำได้ในทิศทางทั้งทวนเข็มนาฬิกา หรือตามเข็มนาฬิกาก็ได้
  • การคลำในแนวดิ่ง จากใต้เต้านมจนถึงกระดูก ไหปลาร้า คลำจากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้
  • คลำในแนวรูปลิ่ม ทิศทางเป็นเส้นตรงรัศมีในออกนอก หรือนอกเข้าในก็ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่มีเต้านมใหญ่หรือเนื้อเต้านมมาก แนะนำให้นอนตะแคงโดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านนั้นให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อเต้านมจะไปกองอยู่ที่บริเวณด้านข้างทำให้คลำได้ยาก ใช้วิธีคลำ ให้คลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ จากนั้นให้นอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นการตรวจที่จะเกิดประโยชน์อย่างมาก หากได้ทำการฝึกฝนเป็นประจำและสม่ำเสมอจนชำนาญ เพื่อให้ทราบสภาพของเต้านมตนเอง และเมื่อพบสิ่งผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงไปจะสามารถสังเกตได้โดยง่าย

สิ่งที่สำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี เดือนละ 1 ครั้ง และคลำไปให้ทั่วบริเวณเต้านมและรักแร้ ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ หรือสงสัยในสิ่งที่ตรวจพบว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจซ้ำหรือตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้การวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ท่านต่อไป

คลิป > สาวๆ ควรเช็ก อาการผิดปกติแบบไหน เสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านม

https://seeme.me/ch/health/kK33av

ที่มา : โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0