โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

4 ซีอีโอมองเทรนด์ธุรกิจปี62 “ปีแห่งความท้าทาย”

Money2Know

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 11.08 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
4 ซีอีโอมองเทรนด์ธุรกิจปี62 “ปีแห่งความท้าทาย”

ในงานสัมมนา “THAILAND 2019” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรใน 4 ภาคธุรกิจชั้นนำ เปิดมุมมองทิศทางธุรกิจปีหน้า "ท่องเที่ยว-ค้าปลีก-พลังงาน-การเงิน" อะไรกำลังจะเกิดขึ้นและต้องปรับตัวอย่างไร โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังรุกคืบมาอย่างไม่หยุดยั้ง

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์

ท่องเที่ยวต้องขยันปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ 

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ของไทยไม่สามารถมองแค่ปี 2019 ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเติบโตไม่หยุด สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลง ในมุมของธุรกิจ ความต้องการของมนุษย์ ได้รับการตอบสนองในเทคโนโลยีที่เหมาะสม

เทรนด์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

1. โมเดลธุรกิจใหม่ ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง แต่อาจเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ตรงความต้องการของลูกค้ามากกว่า ทำให้เติบโตขึ้น ให้การเข้าถึง แทนการเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุน ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องนำกลับมาพิจารณา

2. เทคโนโลยี AI อาจยังไม่ได้นำมาใช้ในธูรกิจท่องเที่ยวมากนัก Machine Learning - Cogmitive Leraning ที่หุ่นยนต์จะเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่อย ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริการทำงานง่ายขึ้น แต่ยังไม่สามารถทดแทนคนได้ในเร็ว ๆ นี้

3. นักเดินทางจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกันในอดีต ปัจจุบันมีกลุ่ม Asian Middle Class Incomce, กลุ่มมิลเลเนียน เติบโตอย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีความต้องการเฉพาะตัว  ผู้ให้บริการต้องผสมผสานการบริการตามความต้องการใหม่ ๆ เพราะความสำเร็จในอดีตอาจไม่ตอบโจทย์ในอนาคตอีกต่อไป

4. Co-everything หมายถึงทุกสิ่งที่ในอนาคตจะมีการใช้ร่วมกันมากขึ้น ที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือ Co-working Space ซึ่งเป็นการแชร์สถานที่สำหรับทำงาน ทำให้ไม่ต้องลงทุนเรื่องอาคารสถานที่ และจะมีการแชร์สิ่งต่าง ๆ ร่วมมันมากขึ้นในอนาคต

5. แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบใหม่ ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มที่ไม่ได้แบ่งตามช่วงอายุ หรือเพศเท่านั้น แต่เป็นการเจาะลงไปในความต้องการระดับบุคคล (Personalization) 

6. โครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย สนามบินต้องขยายตัวทั้งสนามบินหลักและสนามบินในเมืองรองต่าง ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน

7. ระบบที่ทันสมัย คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้การท่องเที่ยวให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่นการเช็คอินผ่านเว็บไซต์ เพื่อลดการต่อคิวรอเช็คอินในสนามบิน ความร่วมมือของระบบวีซ่า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความประทับใจของนักท่องเที่ยว  

8. wellness เทรนด์การดูแลสุขภาพและใส่ใจสุขภาพ เป็นสิ่งที่ต้องโฟกัสและให้ความสนใจนำมาผสมผสานกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่สนใจเรื่องสุขภาพมาขึ้น

9. งานและแรงงาน ควรพิจารณาว่าการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญานั้นยังมีความจำเป็นอยู่จริงหรือไม่ เนื่องจากในภาคการท่องเที่ยวเน้นเรื่องทักษะที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แต่ต้องใช้การฝึกฝน

10. ความยั่งยืน ปัจจุบันเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสำคัญมาก โรงแรมหลายแห่งไม่ใช้พลาสติก มีแนวทางการจำกัดของเสียต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์ ทำให้ใช้ทรัพยากรอย่าคุ้มค่าที่สุด 

*สิ่งที่ทุกธุรกิจจะต้องมีในอนาคต คือ *

สะดวกสบาย จะต้องสร้างความสะดวกสบายแก่ลูกค้า
ประสบการณ์ สร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าให้ตรงตามความคาดหมายหรือเกินความคาดหมาย
มีคุณค่า คือทำให้ลูกค้าลูกสึกคุ้มค่า แม้จะมีราคาแพง แต่ต้องให้ผู้รับบริการรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป 

“เทคโนโลยีเราจับไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เชื่อว่าไทยเรามีดี ไม่ว่ากี่ร้อยปีก็ทำให้เรามุ่งไปข้างหน้าตามตัวตนของเรา” นางศุภจี กล่าว

รัฐควรสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ดังนี้

  • ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคือการเดินทางให้สะดวกและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐกำลังดำเนินการ ทั้งสนามบิน การเดินทางในเมือง ระบบรางไปนอกกรุงเทพจนถึง EEC 
  • เรื่องคน คือระบบการศึกษา ควรเน้นเรื่องภาคปฏิบัติ ให้คนที่มีศักยภาพในธุรกิจท่องเที่ยว ลด High education พิจารณา non degree มากขึ้น
  • ส่งเสริมกรท่องเที่ยวให้นักเดินทางอยู่นานขึ้น มากกว่า 2-3 วัน จะช่วยให้มีเม็ดเงินมากขึ้น
  • เรื่องความปลอดภัย เป็นนัยยะสำคัญของการท่องเที่ยวที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เรื่องกฎระเบียบ หลายโรงแรมยังไม่มีใบอนุญาตราว 60% เราจะทำอย่างไรที่ให้เข้าถึงใบอนุญาตได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • เพิ่มความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เรามีทรัพยากรที่ดีมากมาย หากเราไม่ตื่นตัวเรื่องนี้ สิ่งดีๆ จะหายไป
  • โปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เพื่อให้มีการกระจายรายได้ลงสู่เมืองอื่น ไม่ใช่กระจุกแค่เมืองหลวง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ธุรกิจพลังงานปรับตัวรับพลังงานรูปแบบใหม่

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน หลังปี 2019 เป็นต้นไปว่า ในอนาคตจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ในขณะความต้องการแก๊สธรรมชาติจะค่อย ๆ จะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานชนิดอื่นมากขึ้น เพื่อไม่ให้พึ่งพาแก๊สธรรมชาติน้อยลง  

อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานหลักของประเทศ ในขณะที่ปริมาณการผลิตในประเทศจะลดลง จำเป็นต้องนำเข้า LNG พลังน้ำ / ไฟฟ้าในประเทศมี 16% นำเข้า 84% , ถ่านหิน / ลิกไนต์ ในประเทศ 42% นำเข้า 58% , ก๊าซธรรมชาติ(ดิบ) ในประเทศมี 71% นำเข้า 29% , น้ำมันดิบ ในประเทศ 13% นำเข้า 87% ทั้งนี้ไม่รวมพลังงานหมุนเวียน

มองว่าเรื่องท้าทายของบริษัทต้องปรับตัวรองรับในสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ไปพร้อมกับความต้องการพลังงานรูปแบบใหม่ การลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบริษัทมีการลงทุนสำรวจพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ในอนาคตจะเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้า 3% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในโลก ที่มีอยู่ 1.1 พันล้านคัน (ข้อมูล ณ ปี 2015)

ส่วนในประเทศไทยยังมีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่น้อย จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.61) พบว่า มีรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกประเภทในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,435 คัน โดยแบ่งออกเป็นรถจักรยานยนต์ 1,131 คัน รถโดยสาร 85 คัน รถยนต์รับจ้าง 83 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 136 คัน จากจำนวนรถยนต์ทั้งหมด 39 ล้านคัน

"รถไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ เหมือนมือถือ จำนวนรถ EV ในไทยมีประมาณพันกว่าคัน เเต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเทรนด์ที่มาเเน่ เเต่จะมาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับเเบตเตอรี่ เเพงหรือไม่ ไฟฟ้าจะพอไหม พฤติกรรมจะเปลี่ยนถ้ารถ EV มา" นายชาญศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ยังกล่าวว่า ปตท. กำลังเริ่มทำ New S-Curve ในเรื่องใหม่ๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานงานกำลังถูก Disrupt ซึ่งมีการลงทุนกลุ่มธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง เช่นการลงทุนนำระบบ AI เข้ามาพัฒนาดูแลเรื่องของโรงแยกก๊าซซึ่งเป้าหมายจะขยายให้ได้ทั้งหมด 6 โรง 

การนำเทคโนโลยี ช่วยในการขุดเจาะ เชื่อมโยงด้านขนส่งทางท่อ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะที่กลางน้ำ ปลายน้ำบริษัทก็ยังต้องมุ่งพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคต่อไป  แต่ก็อยู่ภายใต้หลักคือมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้านพลังงานของประเทศ

นางชฎาทิพ จูตระกูล
นางชฎาทิพ จูตระกูล

ภาคค้าปลีก ต้องกล้าคิดใหม่ทำ

ด้าน นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มค้าปลีก ว่าจะต้องมองยาวไปถึง 20 ปีข้างหน้า และต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างของ ICONSIAM ที่เพิ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า  “โจทย์ของเราในการทำทำเลแม่น้ำเจ้าพระยา มันยากกว่า 13 ปีที่แล้วที่มีสยาม พารากอน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ คู่ค้า ผู้เช่า เราก็ต้องท้าทายมากกว่าเดิม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยใช้เวลาศึกษาข้อมูล 2-3 ปี เกี่ยวกับเทรนด์ทั่วโลก การนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับรสนิยมคนไทย” 

สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า ไอคอนสยาม เพราะตั้งใจจะสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นตัวเเทนของยุคเเละก้าวข้ามไปแข่งขันบนเวทีโลก เพื่อเสนอเอกลักษณ์ของไทย ให้มีความสง่างามอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อบอกว่าคนไทยทำได้ ไม่เป็นรองใคร

นางชฎาทิพ เล่าว่า บริษัทอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เช่น สยามเซ็นเตอร์อยู่มา 45 ปี ผ่านปฏิวัติรัฐประหารมากมาย อยู่ท่ามกลางสมรภูมิต่าง ๆ จากประสบการณ์ทำให้ทราบว่า“ธุรกิจรีเทล ไม่มีคำว่าดีที่สุด เก่งที่สุด ทุกวันนี้ผู้บริโภคก็เก่งมาก ต้องนำเสนอประสบการณ์ เหนือความคาดหมายแก่ลูกค้า”

สิ่งที่ต้องทำคือ “เลิกคิดคนเดียว และเลิกคิดว่าตัวเองเก่ง หาคนที่มีประสบการณ์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาคุยกันทำให้ได้ความคิดที่ดียิ่งขึ้น”

ไอคอนสยามกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

  • การลงทุนในภาคเอกชนที่มากที่สุดในประวัติการณ์ มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 350,000 อัตรา 
  • การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ มีสิ่งที่คนอื่นไม่มี เพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้
  • การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไทย สยามพารากอน 2016 ติดศูนย์การค้าในระดับ 7 ของศูนย์การค้าทั้งหมดของโลก และถูกกล่าวถึงเป็นอันดับ 11 ของอินสตาแกรมทั่วโลก ซึ่งสะท้อนว่า การทำธุรกิจค้าปลีกที่ผ่านมาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยมาโดยตลอด

พร้อมเปิดเผยแนวความคิดใหม่ ในการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน 3 ประการ โดยหยิบยกตัวอย่างของ ICONSIAM ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

The Combine Excellence : สร้างแนวความคิดใหม่ ในการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน เช่น ICONSAIM ที่ผ่านมาได้รวบรวมความเชี่ยวชาญของทุกคน ร่วมมือ และดึงศักยภาพของทุกง่ายออกมาใช้ทำให้เกิดเป็นงานออกแบบศิลปะ และวัฒนธรรม ที่มีคุณค่าได้

The Share Values model : ผนึกกำลังเพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น The next Global Destination เพื่อนำไปสู่ Share Economy ช่วยสร้างอาชีพ หรือขยายกิจการชุมชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อผสานประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นแนวความคิดในการทำธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการกระจายคุณค่าในลักษณะนี้จะทำให้มีเพื่อนร่วมคิด ร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งขึ้นได้

The Co-Creation : ใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของการเชิดชูความเป็นไทย สร้าง “เมืองสุขสยาม” ด้วยความร่วมมือทางความคิดกับทุกระดับ อาทิ ชุมชนเเม่บ้าน กระทรวงมหาดไทย ศิลปินท้องถิ่น ผสมผสานเป็นผลงาน และผลักดันผลงานสู่สายตาชาวโลกให้ Local Hero กลายเป็น Global Hero

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ

*ภาคการเงินต้องตามตลาดใกล้ชิด เศรษฐกิจปี 2019 ท้าทาย *

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2019 ค่อนข้างท้าทาย เศรษฐกิจปีหน้าจะโตช้าลงกว่าปีนี้ GDP จะโตช้ากว่า 4% แน่นอน หวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว การส่งออกเติบโต แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชน การเกินดุลเงินสะพัดที่ยังมีระดับที่สูงมา รวมถึงเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ประเทศไทยยังมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง

เรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ เสมือนเป็นการเดิมพันเพื่อผลักดันประเทศ คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของ EEC อาทิ การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อม 2 สนามบิน อู่ตะเภา และ สุวรรณภูมิ การเดินทางแค่ 45 นาที จะทำให้ศักยภาพเราในการรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ตอนนี้สนามบินอู่ตะเภารองรับนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน แต่จริงๆ นั้นสามารถรับได้ถึง 10-20 ล้านคน

คาดว่าครึ่งแรกของปีนี้ คนไทยจะให้ความสนใจกับเรื่องการเมือง เพราะถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ทุกคนสนใจเพราะไม่เกิดขึ้นนานกว่าครึ่งทศวรรษ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว

ในมุมมองของนักลงทุน ในช่วงต้นปีจะมีการรอติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเป็นใคร มีเสถียรภาพทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 จะเป็นการครึ่งหลังจะมีการประเมินกันว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามา จะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในทิศทางใดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถานการณ์ในประเทศคือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายนอก เช่น เรื่องสงครามทางการค้าสหรัฐกับจีน แม้ขณะนี้จะประเมินได้ว่าการขึ้นภาษีของจีน 40,000 ล้านเหรียญ เทียบเท่ากับ 0.2% ของจีดีพีของสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่รุนแรงแต่ต้องติดตามท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งยากต่อการคาดเดาต่อไป

ล่าสุด ท่าทีของสหรัฐฯ ยังคงแข็งกร้าว ต้องการให้จีนเสนอออกมาอย่างชัดเจนว่า จีนสามารถทำอะไรให้อเมริกาบ้าง ในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และลดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ

ซึ่งหากจีนต้องการตอบโต้สหรัฐมากกว่าที่คาดการณ์ หรือยืนยันเดินหน้านโยบาย “เมดอินไชน่า 2025” ความตั้งใจของจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นต่อ อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

โดยประเด็นที่หน้าติดตาม คือ ผู้นำสหรัฐฯและจีน มีแผนจะเจรจากันอีกครั้ง บนเวทีประชุมสุดยอด G-20 ที่กรุงบัวโนส ไอเรส ในวันที่ 30 พ.ย.นี้

ประเด็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า หรือมากกว่านั้น เหตุผลเพราะ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อนแรง โตเกินศักยภาพ ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าดอกเบี้ยนโยบบายของสหรัฐจะไปถึง 3% คำนวณตามสถิติที่เคยเกิดขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0