โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

4 ชาร์ตนี้กำหนดการตัดสินใจ Lockdown ประเทศ!

ไทยโพสต์

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

            4 ชาร์ตนี้คือข้อมูลและแนวโน้ม ที่จะกำหนดทางเลือกให้รัฐบาลไทยว่าจะต้องตัดสินใจเดินเส้นทางไหน เลือกระหว่างที่ทำอยู่ปัจจุบัน (จากเบาไปหาหนัก) หรือ Lockdown ประเทศอย่างจริงจังเพื่อสกัดไม่ให้ไวรัส Covid-19 แพร่กระจายรุนแรงหนักหน่วงไปกว่านี้

                กราฟแสดงเส้นไต่ขึ้นอย่างชันของอเมริกากับที่ "เบนออกข้าง" ของจีนอาจเป็นข้อมูลช่วยในการกำหนดเส้นทางของไทยในไม่กี่วันข้างหน้านี้

                อีกชาร์ตหนึ่งของคณะแพทย์ไทยที่ทำนาย "แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและจำนวนคาดการณ์" จาก 25  มีนาคมถึง 15 เมษายนปีนี้ ใน 3 กรณี

                กรณีที่หนึ่ง หากไม่มีมาตรการป้องกัน…จะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 คน

                กรณีที่สอง Social Distancing 50% จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635

                กรณีที่สาม Social Distancing 80% จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745

                อีกสองชาร์ตสะท้อนถึงทิศทางของอาเซียนกับไทย…และแนวโน้มการไต่ขึ้นของจำนวนผู้ป่วยของไทยเองถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา

                ในฐานะผู้มีอำนาจเด็ดขาดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขณะนี้ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องตัดสินใจว่าจะใช้ "ยาแรง" ขนาดไหนเพื่อให้ประเทศชาติรอดจากความเสียหายในระดับต่างๆ ตามที่นำเสนอโดยทีมงานรอบตัวท่าน ทั้งในคณะรัฐมนตรีและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

                ดูระดับโลกจะเห็นภาพชัดว่ายุทธศาสตร์ของจีนกับของสหรัฐฯ และอิตาลีไปกันคนละทาง

                ดูระดับอาเซียนไทยเราอยู่ในเส้นโค้งใกล้เคียงกับมาเลเซีย ขณะที่สิงคโปร์วิ่งไปอีกแนวทางหนึ่ง

                ดูจากสถิติวันต่อวันของประเทศต่างๆ น่าจะเห็นภาพว่าถ้าเรา "ค่อยทำค่อยไป" แนวโน้มจะเป็นแบบสหรัฐฯ และยุโรป

                หากเราจะเข้มข้นจริงจัง ต้องเดินแบบจีน, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

                ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้คือ Flatten the Curve หรือบีบให้เส้นโค้งในกราฟเบนออกไปทางข้างหรือให้  ไแบน" ลงไป

                การตัดสินใจของรัฐบาลไทยย่อมอยู่กับปัจจัยหลักที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ เช่น

                1.ศักยภาพของทรัพยากรทางการแพทย์ว่าจะรับได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์,  อุปกรณ์, งบประมาณ

                นั่นหมายความว่าจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีหมอ, พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพียงพอสำหรับตั้งรับที่ตัวเลขผู้ป่วยแค่ไหน

                เพราะแม้จะมีเตียงจำนวนหนึ่งหรืองบประมาณเพิ่มขึ้น หากบุคลากรรับได้ในจำนวนหนึ่งเท่านั้น ก็จะต้องเดินหน้า "กดเส้นกราฟให้แบน" ลงอย่างจริงจัง

                ลงท้ายอยู่ที่ "คน" และคุณภาพในการตัดสินใจของ "ผู้นำ"

                หากเราไม่เอาจริง อาจเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกับอิตาลีและสเปน ที่ถึงจุดหนึ่งหมอต้องตัดสินใจว่าจะเลือกรักษาเฉพาะคนไข้ประเภทไหน และอาจต้อง "ทิ้ง" คนกลุ่มไหน

                2.หากจะ "ปิดเมือง" หรือ "ปิดประเทศ" อย่างจริงจัง ต้องมีแผน Logistics ที่ทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการแจกจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนตามชุมชนต่างๆ…รวมไปถึงปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับให้คนป่วยหาหมอหรือขอความช่วยเหลือเร่งด่วน

                ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน จึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังเพื่อให้การ Lockdown เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

                3.พร้อมๆ กับการ Lockdown เพื่อควบคุมอัตราคนติดเชื้อให้อยู่ใน "ระดับที่ควบคุมได้" จะต้องมีฝ่ายปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ ที่จะต้องมีปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพให้ผ่านพ้นช่วงระหว่าง "ปิดประเทศ" และหลังจากนั้นอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีหรือนานกว่านั้น

                4.ต้องมีทีมงานเฉพาะด้านดูแลปัญหาเศรษฐกิจภาพรวมและเฉพาะด้าน เพื่อการประเมินสถานการณ์ด้านปากท้องและการฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดเวลา

                นี่เป็นเพียงเรื่องหลักๆ ที่ต้องทำเพื่อให้การ Lockdown 90-100% สามารถตอบโจทย์ที่กำลังต้องการให้ผู้นำตัดสินใจอย่างเร่งด่วนและชัดเจนจากนี้ไป

                ไม่มีสูตรไหนรับรองผล 100% แต่การรีรอ ค่อยเป็นค่อยไปอาจยิ่งทำให้โอกาสสำเร็จกลายเป็นความล้มเหลวที่น่าหวาดหวั่นก็ได้

                การบริหารความ "ไม่แน่นอน" อันตรายกว่าการบริการ "ความเสี่ยง" แน่นอน. 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0