โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

4 กลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่นักลงทุน VI ต้องปรับหลัง COVID-19

aomMONEY

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 17.29 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 10.20 น. • กองบรรณาธิการ
4 กลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่นักลงทุน VI ต้องปรับหลัง COVID-19
4 กลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่นักลงทุน VI ต้องปรับหลัง COVID-19

ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เพื่อนๆ ที่เป็นนักลงทุนหุ้นสาย VI หลายคน เริ่มมีความกังวลกันใช่ไหมครับว่าภาพรวมของตลาดหลังจาก COVID-19 จะเป็นอย่างไร และต่อจากนี้เราต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการลงทุนอย่างไรบ้าง ? 

ในวันนี้ aomMONEY ขอนำบทสัมภาษณ์ จาก “คุณกวี ชูกิจเกษม” รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ในประเด็นหัวข้อพฤติกรรมของนักลงทุนระยะยาวมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนไปหลัง COVID - 19 จาก งาน aomMONEY Investment Conference 2020 มาสรุปให้เพื่อนๆ อ่านกันครับ

ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น อ่านกันได้เลย ^^ 

กวี ชูกิจเกษม
กวี ชูกิจเกษม

New Normal จะเกิดขึ้นไหมในตลาดหุ้น ?  

คุณกวี ชูกิจเกษม : อย่างแรกผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา มันแค่ History Repeats Itself  วิกฤตเศรษฐกิจมันจะมาตามวัฏจักร เราเป็นมนุษย์ มนุษย์ย่อมมีความกลัวเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อเวลาเกิดวิกฤตเหตุการณ์อะไรขึ้นมา แม้จริงๆ มันจะเคยเกิดเหตุการณ์คล้าบๆ แบบนี้ขึ้นมาก่อน มันก็มีความกลัวเกิดขึ้น ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน 

.

อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา ก็เป็นความกลัวของเราอย่างหนึ่ง ตอนนั้นประเทศไทยระบบการเงินจะล่ม เงินบาทแทบจะไม่มีมีค่า ดัชนีหุ้นก็ลงมาเหลือ  200 จุด หรืออย่างเหตุการณ์ในต่างประเทศอย่าง 9/11 ที่เกิดในปี 2544 เหตุการณ์ในวันนั้นทุกคนกลัวหมด ซึ่งเหตุการณ์นั้นคล้ายกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในรอบนี้ตรงที่เกิด New Normal ทำให้สายการบินต้องเปลี่ยนวิถีในการดำเนินธุรกิจ ผู้โดยสารต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการขึ้นเครื่องบินใหม่ 

.

เพราะฉะนั้นคำว่า New Normal มันมีมาตั้งนานแล้ว มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะแค่ครั้งนี้ สุดท้ายคำว่า New Normal มันจะกลายเป็นคำว่า New get used to it คือ ความเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้  เพียงแต่ว่าใครจะปรับตัวเข้ากับ New Normal ได้ดีกว่ากัน อย่างตอนวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่รอด ตอนซับไพรม์ก็มีนักลงทุนและธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่รอด ตอน 9-11 ก็มีนักธุรกิจและนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่รอด อย่างตอนที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ เราไม่รู้เลยว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไร จนวันนี้ทุกคนรู้ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่กับสึนามิอย่างไร นั่นคือ New Normal 

.

เช่นเดียวกัน ถ้าเราป้องกันไวรัส COVID-19 ได้ในระดับนึง ความกลัวก็จะค่อยๆ ลดลง เศรษฐกิจปรับตัวได้ ปีหน้าผมคิดว่าผลกระทบจาก COVID-19 จะลดลง ถึงแม้ว่า COVID มันจะยังไม่จบ ทุกอย่างจะปรับตัวเข้าสู่ New Normal ที่สุดท้ายแล้วเราจะ get used to it แล้วก็จะเคยชินไปกับมัน 

ภาพรวมของเศรษฐกิจดูไม่ค่อยดี แต่ตลาดหุ้นกลับขึ้นสวนทางกัน คุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ? 

คุณกวี ชูกิจเกษม : ไม่ เป็นไปไม่ได้ ผมมองว่าตลาดหุ้นยังไงก็ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ยังไงก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อะไรที่มันเพี้ยนไปจากตรงนั้น สุดท้ายแล้วมันจะวิ่งเข้าสู่สมดุลในที่สุด เราผ่านเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว Bubble ที่เกิดขึ้นใน Dot com ก็เคยผ่านมาแล้ว ที่บริษัทไม่มีกำไร ไม่รู้จะ  Valuation  อย่างไร ไม่รู้จะตัดสินใจพื้นฐานอย่างไร ก็เอารายได้แล้วกัน เอารายได้มาหารจำนวนหุ้น สุดท้าย Bubble ก็แตก เพราะมันไม่สามารถสวนทางไปได้ แล้วเราก็ไม่ได้เห็นแค่ครั้งนั้นครั้งเดียว เราเห็น Black Monday ,Subprime ราคาวิ่งขึ้นไป สุดท้ายแล้วมันก็เกินกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น และบางอุตสาหกรรมก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน 

.

ฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุน  VI  มองคือ มองเหมือนเดิม ต่อให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป เขาก็ยังคงมีคำถามอยู่ในใจเหมือนเดิมว่า ราคาหุ้นที่ขึ้นมาแพงแล้วหรือยัง ธุรกิจที่เขาจะซื้อ มันจะยั่งยืนอยู่ต่อไปจากนี้ได้อีกนานแค่ไหน ธุรกิจที่ร่วงลงไป มันจะสามารถกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติได้ไหม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่คุณต้องตั้งคำถาม ถ้าไม่ชัดเจน ก็จะเป็นแบบ Warren Buffett  ไม่ชัดเจน คือ ขายและถือเงินสดก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทิ้งตลาดหุ้น การถือเงินสด คือ การเอาตัวรอด แต่ใครจะไปรู้การที่เขาถือว่า Cash is king รอบนี้ เขาอาจจะผิดก็ได้ อย่าไปซีเรียส เพราะ Warren Buffett เขาก็ผิดมาหลายรอบ แต่สิ่งที่เขาดีก็คือ เขาปลอดภัยไว้ก่อน อย่างการเลือกขายสายการบิน 

.

ยังไงผมก็ยังเชื่อว่าสายการบินต้องมี คุณจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาโดยรถไฟฟ้า มันคงไม่ใช่ หรือคนนั่งรถแล้วก็ไปต่อเรือ มันก็ไม่ใช่อีก เพราะฉะนั้นยังไงเครื่องบินก็ต้องมา เครื่องบินเริ่มเปิดได้ เพียงแต่ Warren Buffett เขามองไม่ชัดว่าสายการบินข้างหน้ามันจะล้มละลายไหม เขาก็เลยเลือกขายเพื่อเก็บเงินสดก่อนที่มันจะไปเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ แล้วเขาต้องติดเงินอยู่ 2 ปี 

.

Warren Buffett เขาค่อนข้างที่จะชัดเจนมากว่า “เงินสดของฉันสำคัญที่สุด”  เพราะฉะนั้นตัวตลาดหุ้นที่ขึ้นมา ถ้ามันเป็นไปตามที่นักลงทุนคิด มันก็คงจะขึ้นต่อ แต่พวก VI จะไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ เขาจะตั้งคำถามเหมือนอย่างที่ผมตั้งคำถาม แต่ปีหน้าก็ต้องมาติดตามดูกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะทุกประเทศสร้างหนี้ไว้เยอะ 

.

ผมขอย้ำว่าการซื้อหุ้น เราซื้อที่ Valuation อย่าไปสนใจมากว่าเศรษฐกิจมันจะดีไม่ดี คือ ถ้าหุ้นของธุรกิจตัวไหนที่มันผ่านวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ แล้วกลับมาเป็น Normal ได้ สุดท้ายราคาหุ้นมันก็จะกลับขึ้นไปเอง 

ภาพรวมการลงทุนในครึ่งปีหลังต่อจากนี้? 

คุณกวี ชูกิจเกษม : ครึ่งปีหลัง ผมมองว่าด้วยหุ้นที่ขึ้นมาเยอะแล้ว อาจจะขึ้นต่ออีกนิดนึง ตรงที่ผมเชื่อว่า สิ้นปีนี้เรื่อง COVID-19 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น การระบาดจะเริ่มชะลอลง แล้วถ้าเราโชคดีเจอวัคซีน มันก็น่าจะทำให้หุ้นสามารถที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง 

.

แต่ด้วยถ้าโลกเราเต็มไปด้วยหนี้มากมายขนาดนี้ ผมยังมองไม่ออกว่า รัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างไร เพราะว่าผ่าน COVID-19 รอบนี้ประชาชนเองก็มีศักยภาพในการใช้จ่ายก็จะลดลง  รัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะว่าเขาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยตัวของเขาเอง 

.

แม้กระทั่งประเทศไทยเราเอง หนี้รัฐบาลแทบจะชนเพดานแล้ว ไม่ต้องนับประเทศอื่นชนไปนานแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะกระตุ้นอย่างไร ที่ผ่านมาเขาก็พยายามกระตุ้นแล้ว แต่ยุโรปกระตุ้นไม่ขึ้น ญี่ปุ่นกระตุ้นไม่ขึ้น มีแค่จีนกระตุ้นขึ้น แต่ตอนนี้จีนกับอเมริกาที่กระตุ้นขึ้นก็เถียงกันแล้ว ทะเลาะกันแล้ว  ซึ่งการทะเลาะกันของจีนกับอเมริกา อาจจะเป็น New Normal ใหม่ก็ได้ในปีหน้า 

กลยุทธ์ในการลงทุนหุ้นหลังจาก COVID-19 นี้? 

คุณกวี ชูกิจเกษม : ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้น่าจะลำบาก นั่นหมายถึงว่าเราอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการ Stack Deflation ก็คือ เงินเฟ้อต่ำ เงินฝืด แต่ไม่มีการใช้จ่าย เพราะฉะนั้นกลยุทธ์จริงๆ ก็คือ 

.

1.เลือกบริษัทที่ Defensive เป็นบริษัทขนาดใหญ่

2.แล้วก็มีแบรนด์เนมที่ดี มี Reputation ของบริษัทที่ดี 

3.ผ่านวิกฤตมาหลายรอบแล้ว แล้วเขาก็ผ่านไปได้ 

4.คุณต้องมองว่าแล้วอีก 30 ปี บริษัทเขาจะอยู่รอดอย่างไร

.

อย่างเช่น ผมมองว่ากลุ่มที่อาจจะถูก Disrupt เช่น กลุ่มธนาคาร คุณจะเข้าไปลงทุนไหม เพราะว่ามันไม่ใช่จะโดนแย่งแค่ค่าธรรมเนียม ในอนาคตคุณอาจโดนแย่งเรื่องของสินเชื่อก็ได้ คุณอาจจะโดนแย่งลูกค้า ผมก็กลัว Facebook มาเปิด Facebook Shop อันนี้เอาไว้รองรับ Libra เลยนะ

.

Google  ก็มี  Google Pay  ของเขา ถ้ามีสกุลเงินของเขาขึ้นมาจะเป็นอย่างไร Alibaba  ก็มี Alipay เดี๋ยวนี้คุณสังเกตให้ดีว่า ทุก  Eco System ของเขาเขาจะไม่ได้ให้ดอกเบี้ยเรา เขาให้ไม่ได้ไม่เหมือนแบงค์ แล้วคุณเอาเงินไปใส่ Wallet เขา ปรากฏว่าคุณจะได้  Benefit คล้ายๆ ดอกเบี้ย เช่น คุณซื้อสินค้าผ่าน wallet เขาคุณจะได้ส่วนลด 10% มันเหมือนเราได้ดอกเบี้ย 10% หรือได้รับ Cash Back  5% นี่คือการดึงดูดคนเข้ามาใช้ ซึ่งแบงก์ทำไม่ได้ แต่ Social Banking หรือ Eco System พวกนี้เขาทำได้

.

อันนี้ ผมยกตัวอย่างให้ดูว่าถ้าเราเห็นไม่ชัด เราก็อย่าเพิ่งลงทุน อย่ากงธุรกิจพลังงาน คุณเห็นชัดไหมว่าราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร คุณคิดว่าน้ำมันจะมีคนใช้ต่อไปในอนาคตไหม เหมือนตอน Banpu ที่ถ่านหินไม่มีคนใช้ วันนี้เราก็ต้องระวัง นี่แค่เป็นไอเดียผมนะครับ เพราะว่าบางคนเขาก็อาจจะมองกันคนละแบบ เพราะฉะนั้นแต่ละคนมีมุมคิดของตัวเอง ขอให้คิดด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดได้ด้วยตัวเอง เวลามันเกิดอะไรขึ้นคุณจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นด้วยตัวเอง 

บทเรียนและคำแนะนำถึงนักลงทุนทุกท่าน 

คุณกวี ชูกิจเกษม :  

1.วิกฤตมันมาแน่ แค่มาเมื่อไหร่ คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา

แม้ว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม การลงทุนโดยการกระจายความเสี่ยง การลงทุนโดยไม่ไปมุ่งอยู่กับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันนี้คือบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องเรียนรู้  แม้กระทั่ง VI ที่จะลงทุนหุ้นทั้งหมด ก็ต้องเป็นหุ้นหลายตัว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องรู้จักการที่เราจะต้องบริหารความเสี่ยง

2.คุณต้องมีวินัย

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นวิกฤต สิ่งที่คุณต้องทำ คือ อย่าเอาความกลัวเข้ามาเปลี่ยนชีวิต ทำให้คุณไม่กล้าที่จะลงทุน ฉะนั้นคุณต้องมีวินัยในยามที่เกิดวิกฤต เพราะทุกวิกฤตมันเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกัน ทุกวิกฤตก็ผ่านไปได้ เพราะฉะนั้นเวลาเกิดวิกฤตแล้วหุ้นลงมาแรงๆ เป็นโอกาสที่ดี มันเป็นวินัยที่คุณจะต้องทำ 

3.คุณต้องอดทน

เวลาเจอวิกฤตแบบนี้ สิ่งแรกที่คุณต้องทำ คือ อดทน เมื่อมันออกจากปัญหานี้ไม่ได้คุณก็ต้องอดทน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ สุดท้ายที่จะต้องเรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้ก็คือ วิกฤตครั้งนี้สอนให้รู้ว่า การให้สำคัญกว่าการรับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีส่วนเกินของชีวิต และที่สำคัญยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งได้รับมากขึ้นเท่านั้น อันนี้ก็คือบทเรียนที่ได้จากวิกฤต  COVID-19 รอบนี้ 

และนี่คือบทความสรุปบทสัมภาษณ์ จาก “คุณกวี ชูกิจเกษม” รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จาก งาน aomMONEY Investment Conference 2020 เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ทีมงาน aomMONEY หวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้กับเพื่อนได้นำไปปรับใช้ด้านการลงทุนกันได้อย่างเหมาะสมนะครับ

ขอให้ทุกคนอดทนและสู้ไปด้วยกันครับ  

บ.ก.aomMONEY

และถ้าเพื่อนๆ คนไหนอยากชม VDO สัมภาษณ์เวอร์ชั่นเต็ม ของ “คุณกวี ชูกิจเกษม” รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จาก งาน aomMONEY Investment Conference 2020 สามารถคลิกชมได้ที่ VDO ด้านล่างนะครับ 

พฤติกรรมของนักลงทุนระยะยาวมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนไปหลัง COVID - 19

โดย คุณกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

https://youtu.be/W3yfWte9sbo

.

.

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

📌 Website : www.aomMONEY.com

📌 Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

📌 กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

.

.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0