โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

39 ปี การช่วยเหลือตัวประกันนักการทูต 52 คนในอิหร่าน กับเบื้องหลังของผู้ปิดทองหลังพระ

The MATTER

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 10.24 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 10.06 น. • Thinkers

วันที่ 20 มกราคมเป็นวันครบรอบ 39 ปีของการปล่อยตัวประกันนักการทูต 52 คนและเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาในอิหร่านซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันนานกว่า 444 วัน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1979 เมื่อกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงบุกเข้าไปยังพื้นที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในเตหะราน เมืองหลวงอิหร่าน พร้อมทั้งจับนักการทูตทั้งหมดไว้เป็นตัวประกัน

มูลเหตุเริ่มจากการปฏิวัติอิสลามที่ขับไล่พระเจ้าชาห์ออกจากราชบังลังก์ ปิดฉากระบอบกษัติรย์ในอิหร่าน ซึ่งพระเจ้าชาห์นั้นไซร้ ก็หนีไปสู่อ้อมอกของสหรัฐอเมริกาพร้อมขนทองคำในประเทศขึ้นเครื่องบินไปด้วย เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่อิหร่านอย่างยิ่ง มีการเรียกร้องให้ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับสู่ประเทศ และเมื่ออเมริกาปฏิเสธจะส่งตัวกลับ มันจึงนำไปสู่การชุนุมประท้วงและลงเอยด้วยการบุกสถานทูต จบลงที่เจ้าหน้าที่อเมริกาถูกจับเป็นตัวประกัน

ระหว่างนั้นทำเนียบขาวนำโดย ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ได้วางแผนส่งหน่วยรบเดลต้าไปช่วยตัวประกันทั้งหมดออกมา แต่ก็ประสบความล้มเหลว จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คาร์เตอร์แพ้เลือกตั้งให้กับประธาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ในเวลาต่อมา

ภายหลังการปล่อยตัวนักการทูตอเมริกัน สื่อมวลชนได้ขุดคุ้ยจนพบว่าประเทศที่มีบทบาทหลักจริงๆ ในการเจรจาคือ เยอรมันตะวันตก ซึ่งมีบทบาทอย่างมาก จนถึงขนาดที่ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้พูดออกมาต่อหน้าผู้นำเยอรมันตะวันตกหลังพบกับตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาว่า

“พวกคุณช่วยเราในแบบที่ผมไม่สามารถบอกให้ทั้งโลกรับรู้ได้”

อย่างไรก็ดีแม้สื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาจะชื่นชมเยอรมันตะวันตกเพียงใด รัฐบาลเยอรมันในตอนนั้นไม่ได้มีแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ปล่อยให้เรื่องมันเงียบเชียบไปอย่างง่ายดาย แม้จะมีการแอบฉลองความสำเร็จนี้เป็นข่าวลงสื่อเยอรมันนิดๆ ก็ตาม

ผ่านไปเกือบ 30 กว่าปี นักประวัติศาสตร์จึงได้ค้นพบความจริงว่าผู้ที่มีบทบาทในการเจรจาและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น คือนักการทูตเยอรมันตะวันตกที่มีชื่อว่า Gerhard Ritzel เอกอัครราชทูตเยอรมันตะวันตกประจำอิหร่านนั่นเอง

1.

Gerhard Ritzel เป็นลูกของนักการเมือง ในปี ค.ศ.1933 เมื่อนาซีครองอำนาจ ครอบครัวของ Ritzel ที่ตอนนั้นอายุเพียง 10 ขวบต้องลี้ภัยไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด Ritzel จึงได้เข้าทำงานหลากหลายหน่วยงานทั้งสหภาพยุโรป ภาคเอกชน กระทรวงต่างประเทศ ที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่เส้นทางการทูตกลายเป็นเส้นทางหลักของเขามากสุด โดย Ritzel เองถูกส่งไปหลายประเทศรอบโลก

ด้วยประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้เขาเป็นคนที่มีชั้นเชิงทางการทูตพอสมควรและด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกส่งไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเยอรมันตะวันตกประจำอิหร่านในปี ค.ศ.1977-1981 ทำให้เขาทันเห็นอิหร่าน 2 ระบอบ ช่วงแรกเป็นระบอบกษัตริย์ ขณะที่ช่วงหลังเป็นระบอบการปฏิวัติอิสลาม

ตัว Ritzel นั้นมีความสนิทสนมกับพระเจ้าชาห์เป็นอันมาก ก่อนการปฏิวัติ อิหร่านมีความสัมพันธ์เป็นแหล่งส่งออกน้ำมันให้กับเยอรมันตะวันตก ทางอิหร่านพยายามกดดันให้เยอรมันขายเรือดำน้ำและยุทโธปกรณ์สงคราม รวมถึงการช่วยก่อตั้งโรงงานผลิตนิวเคลียร์ด้วย แต่ยังไม่ทันได้ตกลงซื้อขายก็เกิดการปฏิวัติเสียก่อน

กระนั้นก็อย่างที่บอกว่า Ritzel เป็นนักการทูตมากชั้นเชิง

เขาไม่ได้สนิทสนมกับพระเจ้าชาห์ฝ่ายเดียว

ด้วยความที่มองสถานการณ์การเมืองในอิหร่านออก เพื่อผลประโยชน์ของประเทศเยอรมันตะวันตก เขาจึงไปสนิทสนมสร้างสายสัมพันธ์กับพวกมุสลิมหัวรุนแรงด้วย

การเข้านอกออกในพบปะพระเจ้าชาห์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น กระทำได้อย่างเปิดเผย แต่การไปพบพวกหัวรุนแรงนี้ จะไปพบง่าย ๆ ไม่ได้  ท่านทูตเล่าว่า ต้องไปที่หน้าโรงแรม จะมีรถมารับ และส่งเขาลงสักที่ในเตหะราน พร้อมกระดาษในมือเขียนว่า “รอตรงนี้ จะมีรถกระบะสีน้ำเงินมารับ” หลังจากนั้นจะต้องเปลี่ยนรถมากกว่า 1 ครั้ง ข้ามสนามหญ้า ปีนขึ้นชั้นบนของบ้าน กว่าจะได้พบกับแกนนำ ซึ่งในเวลาต่อมาคนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในอิหร่าน

เมื่อสายลมการเมืองแห่งอิหร่าเปลี่ยนแปลงไป เดือนมกราคม ค.ศ.1979 นั้นระบอบพระเจ้าชาห์ล่ม และเกิดระบอบใหม่ นักการทูตที่ดีก็ต้องปรับตัวตาม ขณะนั้นชาติตะวันตกกลัวว่าอิหร่านจะไปอิงแอบซบโซเวียต และจะทำให้ผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเสียหาย

ทางเยอรมันตะวันตกส่งสัญญาณว่าจะทำธุรกิจกับอิหร่านดังเดิม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ 2 ประเทศเป็นหลักไม่สนว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม แม้ทางเยอรมันเองจะมองว่า รัฐบาลใหม่ของอิหร่านไม่น่าจะอยู่รอดได้นานนัก

ทาง Ritzel เองนั้น เขามีมุมมองต่อ ยาตุลเลาห์ โคมัยนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านว่าไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอย่างที่คิด เขาชอบโคมัยนีเสียด้วยซ้ำ แถมยังบอกว่าเป็นคนมีมนุษยธรรมอีกด้วย เขาเน้นว่า ชาติตะวันตกควรจะขอบคุณโคมัยนีด้วยซ้ำที่อยู่ในอำนาจมาหลายสิบปี ก็เพราะตลอดเวลาที่โคมัยนีครองอำนาจ เยอรมันตะวันตกยังคงค้าขายเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอิหร่านต่อไป

2.

เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ตัวประกันขึ้น Ritzel เห็นว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เขาพบช่องว่าผู้คนที่อยู่รอบกายโคมัยนีนั้น คือคนหนุ่มที่เคยใช้ชีวิตในเยอรมันตะวันตกทั้งสิ้น เขาจึงเลือกสร้างสายสัมพันธ์กับ Sadeq Tabatabaei ซึ่งเรียนจบจากเยอรมันตะวันตก เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง แถมน้องสาวของเขาแต่งงานกับลูกชายของโคมัยนีด้วย

นั่นทำให้เขามีศักดิ์เป็นพี่เขยลูกของผู้นำสูงสุดด้วย

Sadeq Tabatabaei คือแหล่งข่าวที่รายงานเหตุการณ์จับตัวประกันนี้ให้แก่ Ritzel ตั้งแต่วันแรก ทำให้รัฐบาลเยอรมนีมีข้อมูลในเรื่องนี้และตัดสินใจว่าจะต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของเยอรมันในอิหร่าน นั่นก็คือรายได้จากการส่งออกสินค้า ท่ามกลางความกดดันของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศตะวันตกอื่นๆ

ผลงานการสร้างสายสัมพันธ์ของ Ritzel ออกดอกออกผล ทำให้เขากลายเป็นนักการทูตตะวันตกไม่กี่คนที่รัฐบาลอิหร่านเชื่อใจและรับฟังข้อเรียกร้อง เมื่อมีคำสั่งจากรัฐบาลเยอรมันตะวันตกว่าต้องการให้วิกฤตครั้งนี้จบสิ้นลงให้เร็วที่สุด

เขาจึงเดินเกมส์ทางการทูตสุดฤทธิ์ในทันที

แม้จะใช้เวลานานถึง 444 วันก็ตามที

ขั้นแรกเขาเป็นคนเจรจากับทางอิหร่านให้มีการส่งเจ้าหน้าที่กาชาดไปเยี่ยมดูแลความเป็นอยู่ของเหล่าตัวประกัน โดยที่ตัวเขาเองยังคอยจัดหาหนังสือพิมพ์ให้กับเจ้าหน้าที่ทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันอ่านอีกด้วย

ด้วยบทบาทนี้เองทำให้พอถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1980 สหรัฐอเมริกาที่ล้มเหลวกับการช่วยเหลือตัวประกัน จึงลองหันไปติดต่อ Ritzel ดูพร้อมทั้งได้นัดแนะให้ไปพบกันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยทำทีว่าไปร่วมงานฉลองการรำลึกสิ้นสุดการยึดครองของชาติสัมพันธมิตรในออสเตรีย

โดยที่นั่นจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันร่วมเดินทางไปด้วย และมีรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริการออยู่พร้อมคุยตัวต่อตัวกับ Ritzel ซึ่งเมื่อทาง Sadeq Tabatabaei ทราบเรื่อง เขาก็พร้อมช่วยเหลือด้วย

การเจรจาพูดคุยกันในตอนแรกทำให้ทุกคนทราบว่า สาเหตุที่อิหร่านไม่ยอมปล่อยตัวประกันเสียที ก็เพราะกลัวขั้วอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะในกองทัพทำการรัฐประหาร นั่นทำให้วงเจรจารู้ว่าอำนาจของผู้ปกครองในอิหร่านช่างเประบางและไม่มั่นคงยิ่งนัก ทั้งนี้ทางอิหร่านได้ร้องขอให้อเมริกาถอนการยึดเงิน 12 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินของอิหร่านที่อยู่ในธนาคารอเมริกัน รวมถึงขอทรัพย์สินที่พระเจ้าชาห์ขนไปคืน

เงื่อนไขนี้ได้รับการตอบรับจากทางอเมริกาผ่านทาง Ritzel โดยเขาเองได้นำคำพูดทางอเมริกันไปบอกอิหร่านว่า ประธานาธิบดีคาร์เตอร์กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

ไม่เพียงเท่านั้น ตัว Ritzel เองยังต้องเดินทางไปพบโคมัยนีซึ่งตอนนั้นกำลังประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอยู่นอกเมืองหลวง ต้องรอถึง 3 วัน โคมัยนีจึงมาพบ ท่านทูตจึงได้ยื่นขอเสนอเรื่องการปล่อยตัวประกัน ซึ่งโคมัยนีได้ตอบว่า

“ก็คิดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน”

การเจรจาดำเนินเรื่อยมา ด้วยความเชื่อใจกันของอิหร่านต่อรัฐบาลเยอรมัน ในเวลาต่อมา Tabatabaei เองก็ได้เป็นตัวแทนอิหร่านไปพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอเมริกาที่เยอรมนี โดยตัวแทนอิหร่านขอร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี อยู่ร่วมการเจรจาด้วย ครั้งแรกที่พบกัน ทางรัฐมนตรีช่วยอเมริกาถึงกับแปลกใจในตัวของ Tabatabaei ที่แต่งตัวดูดีแบบตะวันตก จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นตัวแทนของโคมัยนีได้

การเจรจาครั้งนี้ ทางสหรัฐอเมริกาชี้แจงว่า พวกเขาไม่ได้ควบคุมกองทุนของพระเจ้าชาห์ซึ่งตอนนั้นตายไปแล้ว และอเมริกาต้องการค่าชดเชยจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการยึดทรัพย์สินอิหร่านในสหรัฐ อย่างไรก็ดีทางผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ยื่นข้อเสนอว่า อเมริกาสัญญาว่าจะไม่มีการบุกโจมตีอิหร่าน พร้อมจะคืนทองคำซึ่งมีมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์และทรัพย์สินอื่นๆ ให้ผ่านทางธนาคารกลางของเยอรมัน

การเจรจานั้นมันไม่จบในวันเดียว มีการตั้งเงื่อนไขกันไปมาหลายรอบ แถมต้องทำเป็นความลับ เรื่องนี้ถึงขนาดประธานาธิบดีคาร์เตอร์ยังเคยเขียนลงไดอารี่ว่า บางทีเขาอาจถึงขั้นต้องติดต่อกับโคมัยนีโดยตรง ส่วนทาง Tabatabaei ก็พูดคุยกับRitzel แทบทุกวัน ท่ามกลางการรักษาความลับไม่ให้ใครทราบโดยเด็ดขาด

เมื่อมาถึงเดือนตุลาคม 3 เดือนก่อนการปล่อยตัว ทางเยอรมันออกแรงยืนยันกับอิหร่านเองว่า พวกเขาจะเป็นคนการันตีว่าอเมริกาจะทำตามข้อเสนอ นั่นก็คือการคืนทรัพย์สินบางส่วนให้กับอิหร่าน พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ส่งกองทัพบุก

อย่างไรก็ดีระหว่างนั้น ทางอิหร่านเองได้ยุติการเจรจาลงไป เพราะวันที่ 4 พฤศจิกายนเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โคมัยนีไม่ต้องการให้คาร์เตอร์เอาเรื่องการปล่อยตัวประกันเป็นแรงสนับสนุนจากประชาชนในช่วงก่อนเลือกตั้ง ดังนั้นจึงยุติการเจรจา

แน่นอนสุดท้ายคาร์เตอร์แพ้เลือกตั้ง ตัวประกันก็ยังถูกกักขังอยู่ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน Tabatabaei ก็แจ้งมาว่าเขาอาจถูกจับ และต้องการให้ Ritzel ทำลายเอกสารเกี่ยวกับตัวเขาให้หมด ซึ่งเรื่องราวตรงนี้มีการสันนิษฐานว่ามีขั้วอำนาจในอิหร่านที่ต่อต้านการปล่อยตัวประกันนี้และพร้อมจะทำรัฐประหารต่อต้าน จนทำให้การเจรจาต้องชะงักไป

โชคดีที่อิหร่าน เยอรมันและอเมริกาสามารถทำให้การเจรจาในเดือนพฤศจิกายนเกิดขึ้นได้

จนสุดท้ายทางอัลจีเรียก็ได้เข้ามามีบทบาทในการนำพาตัวประกันอเมริกันออกจากอิหร่าน เมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1981 ตัวประกันทั้งหมดจึงได้ขึ้นเครื่องไปลงที่อัลจีเรียแล้วถึงค่อยบินไปเยอรมันเพื่อตรวจร่างกาย ก่อนที่ทั้งหมดจะได้พบประธานาธิบดีคาร์เตอร์ซึ่งทำงานในฐานะประมุขฝ่ายบริหารวันสุดท้ายพอดี

การเจรจามายาวนานจึงจบลงด้วยอิสรภาพของตัวประกันทั้งหมด ท่ามกลางความโล่งอกของทุกฝ่าย นับเป็นชัยชนะสำคัญแห่งสันติภาพที่ทุกประเทศร่วมมือกันอย่างลับๆ โดยวางบทบาทฐานะศัตรูไว้นอกห้องเจรจา

ภายหลังเหตุการณ์นี้ ผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจาต่างปิดปากเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนรายใด ได้แต่ปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ พวกเขาเพียงแต่กลับไปทำงานของตัวเองเท่านั้น

ทาง Ritzel เองได้โลดแล่นในเส้นทางการเมือง เป็นโฆษกให้กับนายกรัฐมนตรี ก่อนกลับสู่เส้นทางการทูตไปเป็นเอกอัครราชทูตเยอรมันที่สวีเดน จนเกษียณตัวเองแล้วอยู่อย่างเงียบ ๆ ก่อนจะเสียชีวิตในปี ค.ศ.2000 ที่ผ่านมา ขณะที่ Tabatabaei ก็ทำงานทางการเมืองต่อไป ก่อนจะเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.2015 ด้วยโรคมะเร็งปอดที่เยอรมนี ศพถูกนำกลับไปฝังไว้ที่อิหร่าน

ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่จะมีการค้นพบบทบาทเบื้องหลังของพวกเขาในการเจรจาที่ทำให้ 52 ตัวประกันได้รับการปล่อยตัว

นี่สินะ ที่เขาเรียกว่า 'การปิดทองหลังพระ' อย่างแท้จริง ไม่โอ้อวด แค่ปิดทองแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตปกติของตัวเอง

บทสรุป

ด้วยบทบาทการเจรจาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจากทางอเมริกา เยอรมันตะวันตก และอิหร่านเอง ทำให้สุดท้ายตัวประกันทั้ง 52 คนจึงได้กลับสู่บ้านเกิด ไปพบคนรัก ญาติมิตร เพื่อนสนิทอีกครั้ง พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์อีกครา

39 ปีครบรอบเหตุการณ์นี้ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่า การเขียนถึงและยกย่องคุณงามความดีของผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกคนในการเจรจาครั้งนั้น

พวกเขาทุกคนคือผู้ที่ทำให้รู้ว่า บทบาททางการทูตสามารถนำชัยชนะแห่งสันติภาพมาสู่โลกใบนี้ได้ดียิ่งกว่าคมกระสุนใด ๆน่าเสียดายที่ทุกวันนี้ พวกเรากลับเลือกคมกระสุนให้นำชัยสันติภาพมากกว่าการเจรจา

โลกจึงกลายเป็นแบบนี้

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0