โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

3 บทเรียน และความท้าทาย การรับมือโควิด-19 บทพิสูจน์ระบบสาธารณสุขที่แท้จริง

ทันข่าว Today

อัพเดต 24 ก.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 24 ก.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • ทันข่าว Channel

Highlight

  • 3 เรื่องท้าทายที่ทำให้การระบาดของโควิด-19 ยากต่อการรับมือ
  • 3 บทเรียนสำคัญ จากการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19
ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข

“ในช่วงภาวะวิกฤต สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระแสของข้อมูลข่าวสารที่เข้ามามากมาย การหาแนวทางจัดการและรับมือสถานการณ์กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการประชุมหารือเพื่อปรับแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์กันอยู่ตลอดเวลา”
 
การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก (Pandemic) มันจึงถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการปัญหาของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง
3 เรื่องท้าทายที่ทำให้การระบาดของโควิด-19 ยากต่อการรับมือ คือ
1. การระบาดที่ยากจะคาดเดาบนความไม่แน่นอน (Unpredictable and Uncertainty) เราจะไม่ทราบได้เลยว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไร?

ประชาชนเองก็ไม่มั่นใจว่าติดเชื้อหรือไม่ หรือติดมาอย่างไร?
และแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง? จึงทำให้ยากต่อการควบคุม

2. ผลกระทบในวงกว้าง คือ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นแล้วจะขยายตัวอย่างทวีคูณ ซึ่งสถานการณ์และผลกระทบในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เท่ากัน การจะกำหนดมาตรการควบคุมให้เหมือนกันหมดทั้งประเทศก็คงจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก
สิ่งสำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงเฉพาะแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะกำหนดระดับมาตรการในการควบคุมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่
3. ความสับสนอลหม่าน จากกระแสของข้อมูลข่าวสารที่เข้ามามากมาย หลากหลายช่องทาง นำไปสู่ความวิตกกังวล และสร้างการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุในบางครั้ง

ยิ่งเกิดความสับสนอลหม่านมากเท่าไร ก็จะยิ่งยากต่อการควบคุม ดังนั้น การที่จะสื่อสารหรือประกาศใช้มาตรการใด ๆ ออกไปก็จะต้องมีความชัดเจน

3 บทเรียนสำคัญ จากการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19

บทเรียนที่ 1 :
การระบาดของโควิด-19 นั้น แตกต่างไปจากโรคระบาดอื่น ๆ ที่เคยมีมา ผู้ติดเชื้อมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการภายใน 5-14 วันหลังได้รับเชื้อ จนถึงขั้นรุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และโอกาสในการแพร่เชื้อในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก

สะท้อนว่า ไม่มีมาตรการหรือวิธีการใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกประเทศ แต่แนวทางวิธีการรับมือจะต้องเป็นไปในลักษณะเฉพาะตัว ขึ้นกับบริบทและช่วงเวลาของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
บทเรียนที่ 2 :

ไม่มีแนวทางหรือวิธีการใด ที่ “ถูก” หรือ “ผิด” โดยสมบูรณ์
มีแต่จะช่วยทำให้สถานการณ์ “ดีขึ้น” หรือ “แย่ลง”

ดังนั้นการนำเอามาตรการ หรือแนวทางการรับมือแบบไหนมาปรับใช้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อไปยังระบบอื่น ๆ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลากหลายมิติ ทำให้ต้องสร้างจุดสมดุลของมาตรการร่วมกัน และจะต้องเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
บทเรียนที่ 3 :

การสื่อสารที่ชัดเจนและโปร่งใส คือ “หัวใจสำคัญของความร่วมมือของประชาชน”

ไม่ว่านโยบายหรือมาตรการนั้นจะครอบคลุม และรัดกุมแค่ไหน แต่ก็สามารถล้มเหลวได้ หากประชาชนไม่เข้าใจ และไม่ให้ความร่วมมือ จึงเป็นที่มาของ ศบค. ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นศูนย์กลางการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และแม่นยำไปยังประชาชน”
ในช่วงที่กรุงเทพมหานครมีการประกาศปิดเมือง โดยไม่มีมาตรการป้องกันการเดินทางออกนอกเมืองหลวง ทำให้ประชาชนจำนวนมากอพยพกลับภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการแพร่ระบาดไปในทุกพื้นที่ในช่วงเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาแต่มุมมองด้านสาธารณสุขจนลืมให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านสังคมและเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนเองไม่ประมาท ตะหนึงถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาด และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยสามารถหยุดยั้งอัตราเร่งของจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ได้ (Flattening the Curve)
หากลองมองย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตของการระบาด ถ้าเรามีมุมมองการบริหารจัดการโดยให้ความสำคัญกับ “ระบบเศรษฐกิจ” เป็นศูนย์กลางของปัญหาเพียงมิติเดียว โดยเข้าใจปัญหาการระบาดว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้เอง และปล่อยให้กิจกรรมดำเนินไปตามปกติ ตอนนี้ประเทศไทยก็คงจะมีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนเกินขีดความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์ แต่การมีบทบาทของคณะที่ปรึกษาฯและกลไกการคิดวิเคราะห์ด้วยระบบบูรณาการในทุก ๆ มิติ ทำให้เรามีแนวทางบริหารจัดการโดยให้ศูนย์กลางของปัญหาอยู่ที่ “ระบบสาธารณสุข” โดยมีมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อที่จะชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ภายใต้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มี ในขณะเดียวกันก็ออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากมาตรการด้านสาธารณสุขในภายหลัง
ส่วนนี้เองที่เป็นจุดแข็งสำคัญในการประสานความร่วมมือในการคิดและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว รอบด้าน และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้การบริหารราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การทำงานด้วยระบบช่วยกันแบบบูรณาการ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์
ตลอดช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบลง มาตรการต่าง ๆ มากมายถูกนำมาทดลองและปรับใช้ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก มีหลายตัวอย่างความสำเร็จที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และหลายบทเรียนให้เรียนรู้ ป้องกัน และไม่ประมาท
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เรายังต้องมีการประเมินผลการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตลอดเวลา … ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0