โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"3 นักวิชาการ กม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ" วิเคราะห์เคสกู้ยืม อนค.ไม่ควรยุบพรรค

NATIONTV

เผยแพร่ 29 ก.พ. 2563 เวลา 06.59 น. • Nation TV
3 นักวิชาการ กม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ วิเคราะห์เคสกู้ยืม อนค.ไม่ควรยุบพรรค
3 นักวิชาการ กม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ วิเคราะห์เคสกู้ยืม อนค.ไม่ควรยุบพรรค

"อ.ปริญญา-ณรงค์ศักดิ์-เจษฎ์" ประสานเสียง เคสกู้เงิน อนค.หากตีความบริจาค ควรจบแค่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66 ต้องคดีอาญา ไม่ใช่ยุบพรรค ออกตัวเคารพศาลแต่เหตุผลมีข้อท้วงติง

ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา "ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ" เรื่อง วิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ , รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ , รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมแสดงความเห็น โดย "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้องสังเกตุถึงเหตุผลการวินิจฉัยยุบพรรค ประเด็นเงินกู้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค กับพรรคอนาคตใหม่ว่า ในทางกฎหมายพรรคการเมือง มีหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด เขียนไว้อย่างไรก็ทำตามนั้น ห้ามทำอะไรก็ห้ามตามนั้น แต่ถ้าเป็นส่วนที่ทำหรือไม่ทำก็ได้นั้น ก็จะคล้ายกับมาตรา 62 เพราะมีคำว่า "หาก" สำหรับเรื่องกู้เงินนั้นไม่มีห้ามแล้วจะผิดได้อย่างไร ซึ่งพรรคกานเมืองมีสิทธิและหน้าที่ ไม่ได้มีอำนาจ ดังนั้นถ้าไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทำในเรื่องใดก็ไม่อาจบอกได้ว่าผิดกฎหมาย ซึ่งความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนของพรรคการเมืองมีการตีความเป็นองค์กรของรัฐทำนองนั้นไปเลยซึ่งไปไกลเกิน

อย่างไรก็ดีหากตีความว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 25 ว่าการใดที่ไม่ได้ห้ามหรือกำกับไว้ในกฎหมายอื่น บุคคลมีสิทธิที่จะกระทำนั้นได้ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกู้เงินไม่ได้ห้าม แต่ถ้าได้อ่านส่วนที่เป็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการกูัเงินเป็นข้อที่ทำไม่ได้ ซึ่งคลุมเครือว่าแม้ไม่ได้ห้ามโดยชัดเจนแต่ก็ไม่รับรองว่าทำได้ ส่วนการกำหนดสัดส่วนดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เป็นตามปกติทางการค้า พูดง่ายๆ คือการคิดดอกเบี้ยต่ำ การยอมลดไม่คิดประโยชน์ที่จะพึงได้ เท่ากับการบริจาค โดยประเด็นการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องคิดดอกเบี้ยเท่าใด และการกู้ยืมเงินก็ไม่ได้แปลว่าเป็นการค้าเสมอไป ยกตัวอย่างเพื่อนหรือน้องชายมายืมเงินก็ไม่ใช่การค้าเสมอไป จะคิดดอกเบี้ยหรือไม่หรือจะคิดต่ำแค่ไหนก็ทำไปโดยประเด็นนี้เรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพของผู้กู้-ผู้ให้กู้โดยบริบูรณ์ ที่กฎหมายแพ่งบัญญัติไว้ว่าให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 เป็นกรณีที่ตกลงกันไว้ว่าจะให้มีดอกเบี้ยแต่ยังไม่ได้ตกลงว่าจะเท่าใดจึงค่อยใช้อัตราร้อยละ 7.5 แต่ถ้าตกลงคิดกันแล้วกำหนดไว้น้อยกว่าอัตรานี้ก็ทำได้ แล้วลองดูตรรกะที่นำเรื่องคิดดอกเบี้ยเงินกู้อัตราต่ำแล้วส่วนนั้นนับเป็นเงินบริจาคโดยนำมารวมกับเงินกู้เป็น 10 ล้านบาทแล้วจึงเอาเข้า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 66

โดยตนเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญว่าเรื่องการคิดดอกเบี้ยหรือไม่เป็นสิทธิตามที่ตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย การที่บอกว่าคิดดอกเบี้ยน้อยกว่าแล้วมานับรวมกันถือเป็นเงินบริจาคมาสู่การยุบพรรคนั้นไปไกลเกิน ขณะที่จะเข้ามาตรา 66 ต้องเป็นการบริจาค ดังนั้นการกู้จึงไม่เข้าอยู่แล้วเพราะมีการใช้เงินคืนก็ไม่เป็นการบริจาค การกู้ที่จะตีความว่าเป็นการบริจาคคงต้องเป็นการให้กู้แบบที่ไม่เอาคืน โดยข้อนี้ถือว่ามีผลมากเพราะแม้ว่าต่อให้มีการยอมรับได้เรื่องการคิดดอกเบี้ยต่ำไม่เป็นไปตามทางการค้าแล้วถือว่าเป็นเงินบริจาคได้ แต่โทษตามบทบัญญัติมาตรา 66 ก็ยังไม่มีโทษยุบพรรค โทษมีเพียงทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของระบบศาลอาญาเท่านั้น ไม่ถึงขั้นยุบพรรค โดยกฎหมายที่กำหนดไว้เช่นน้้นด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้มีการบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณาตามหลักอาญาว่าสันนฺิษฐานไว้ก่อนผู้ต้องหา/จำเลยไม่มีความผิด ต้องมีหลักฐานว่าเขาลดดอกเบี้ยเพราะต้องการอะไร ถ้าไม่มีหลักฐานอะไรก็แปลว่าไม่ผิด อย่างไรก็ดีเรื่องการคิดดอกเบี้ย ไม่มีปกติทางการค้า ที่จะเป็นหลักว่ามากกว่า-น้อยกว่าแล้วจะผิดปกติ เป็นเรื่องของ 2 ฝ่ายจะตกลงกัน คำถามต่อมาคือแล้วเรื่องนี้นำไปสู่การยุบพรรคได้อย่างไร ที่มีการโยงไปถึง มาตรา 72 ซึ่งคำวินิจฉัยอ้างว่าเมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน-ทรัพย์สิน-ประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 ที่นำไปสู่การยุบพรรคตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง หากผิดมาตรา 66 แล้วผิดมาตรา 72 โดยอัตโนมัติแล้วเหตุใดเขียนกฎหมายแยกมาตรากันซึ่งความผิดและบทลงโทษก็ไม่เหมือนกัน โดยองค์ปะกอบความผิดก็แตกต่างกัน ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ห้ามรับบริจาคตามมาตรา 72 นั้นจะต้องได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ผู้บริจาคได้เงินมาจากอาชญากรรมการฟอกเงิน ยาเสพติด การพนัน แล้วกรรมการบริหารพรรคควรจะรู้ที่มานั้น พูดง่ายๆ คือเงินที่ธนาธรนำมาให้กู้ต้องเป็นเงินได้มาโดยผิดกฎหมายจึงจะเข้ามาตรานี้ หากไม่ใช่ก็ไม่เข้ามาตรานี้ โดยจะเข้าแค่มาตรา 66 หากเป็นกรณีที่ตีความและถือว่าเงินที่คิดดอกเบี้ยต่ำนั้นเรียกได้ว่าเป็นเงินบริจาคแล้วอย่างมากก็จะผิดแค่มาตรา 66 ไม่ใช่มาตรา 72 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้เหตุผลเลยว่าจากมาตรา 66 ไปเป็นมาตรา 72 ได้อย่างไร เพียงแต่อัตโนมัติว่าเมื่อผิดมาตรา 66 ก็ผิดมาตรา 72 ด้วย ที่จริงตามหลักอาญาหากจะมองว่าผิดมาตรา 72 ได้นั้น จะต้องมีเจตนาพิเศษเพิ่มขึ้นมาในองค์ประกอบความผิด เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน และไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าเมื่อกู้กันจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด

ดังนั้นการกู้เงินจึงไม่ผิดกฎหมายถ้าไม่ได้ห้ามไว้ การจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกับผู้ให้กู้จึงจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนำมาสู่การยุบพรรคได้อย่างไร "การยุบพรรคไม่ได้กระทบต่อสิทธิกรรมการบริหารพรรค หรือตัวพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลโดยตรง แต่ยังกระทบต่อสมาชิกของพรรค และกระทบยิ่งกว่าคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ในวันเลือกตั้งได้ลงคะแนนให้ ดังนั้นถ้าจะยุบพรรคต้องเคร่งครัดตามกฎหมาย คือ ผิดชัดแจ้งชัดเจนถึงจะมีเหตุผลเพียงพอที่ยุบพรรคได้" ผศ.ดร.ปริญญากล่าวและว่า ตนยอมรับกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะถือเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญโดยสิ่งที่วิเคราะห๋ไม่ได้ประสงค์จะรื้อฟื้นคดีอะไรเพราะการวินิจฉัยเด็ดขาดที่สุดจบไปแล้วเพียงที่พูดมาเพื่อประโยชน์ทางวิชาการคดีต่อๆ ไป เรื่องนี้สำคัญเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคม จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง จะเชียร์หรือไม่เชียร์ลุงจะชอบพรรคนี้หรือไม่ชอบพรรคนั้น เราสามารถอยู่ร่วมสังคมได้ และ พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการนำเอาความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคมไปสู่การถกเถียงหาข้อยุติกันในสภา

ขณะที่ "รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตุว่า ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ตนมีประเด็นคำถาม ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 1.ข้อเท็จจริงประเด็นที่หนึ่ง ที่ศาลตั้งเป็นข้อพิรุธข้อสงสัยมองว่างบการเงินปี 2561 เป็นหนี้ 1,490,000 บาทแต่เหตุใดไปทำสัญญากู้เป็นเงินถึง 191.2 ล้านบาท ซึ่งตนอยากเรียนถามว่า เวลาที่ทำธุรกิจการค้า ถ้านิติบุคคลต้องการเสริมสภาพคล่อง โดยการขอวงเงินของเงินกู้ไว้เพื่อที่จะใช้ชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดในอนาคต ซึ่งน่าเสียดายที่ประเด็นนี้ศาลไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงถ้าหากได้ไต่สวนข้อเท็จจริงก็อาจจะรู้ได้ว่าจริงๆ พรรคอนาคตใหม่มีหนี้ที่ต้องชำระในเดือน ม.ค.,ก.พ.,มี.ค.เท่าใด แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏ โดยศาลถือเป็นข้อพิรุธทันที 2. ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า แล้วอะไรคือปกติทางการค้า ซึ่งมีทั้งอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 654 ประมวล กฎหมายแพ่ง เรียกดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือดอกเบี้ยตามหลักทั่วไปร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือดอกเบี้ยผิดนัด 7.5 ต่อปี หรือดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ตามกฎหมายปี 2550 เขียนว่าการบริจาค หมายความว่า ให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้พรรคการเมือง ซึ่งประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคกานเมือง พ.ศ.2550 เขียนไว้ว่าหมายความรวมถึงการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย นั่นคือกฎหมายเก่า หมายความว่าถ้าให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เงินต้นทั้งก้อนถือว่าเป็นการบริจาค แต่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้เขียนเช่นนั้น 3.ข้อพิรุธที่ศาลใช้ในการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 66 คือ แม้มีการชำระเงินคินหลายครั้ง แต่การชำระหนี้ครั้งแรก ม.ค.62 ชำระเงินสด 14 ล้านบาทหลังจากกู้เพียง 2 วัน ถือว่าผิดปกติจากที่กู้ไป 167 ล้านบาท เวลาที่ปกติคนประกอบการค้าที่จะต้องการบดภาระดอกเบี้ยแล้วมีความเป็นไปได้ว่าหากไม่ต้องการเสียดอกเบี้ยแพงดังนั้นเมื่อมีเงินอื่นเข้ามาหรือมีเงินเท่าใด ก็เอาเงินนั้นไปคืนเสียก่อน น่าเสียดายเช่นกันที่ศาลไม่ได้ไต่สวนความจริงนี้ จึงไม่พบเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีในเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากมีข้อสงสัยควรต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

ด้าน "รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก" อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในกรณีของเงินกู้พรรคอนาคตใหม่นั้น หากถามตนในฐานะที่พอจะรับรู้ที่มาที่ไปของกฎหมายอยู่บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ที่ให้กู้เงินกัน มาตรา 62 ไม่ได้เปิดช่องดังนั้นเมื่อไปกู้เงิน ก็คือไม่สามารถทำได้ สำหรับตนนั้นความหมายองค์กรมหาชนในส่วนของพรรคการเมือง ไม่ได้ความหมายว่าเป็นองค์กรของรัฐแต่เป็นลักษณะที่พรรคการเมืองอาจริเริ่มจากเอกชนแต่เมื่อจัดตั้งแล้วเป็นองค์กรมหาชน จึงไม่สามารถมีเงินกู้ได้ตามมาตร 62 ดังน้ั้นการใช้เงินกู้ก็ทำไม่ได้ จึงต้องคืนเงินนั้นไปแต่จะคืนด้วยวิธีใดก็ต้องไม่ให้เป็นรายจ่ายพรรคไม่ใช่นั้นจะกลายเป็นมีรายจ่ายที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ทำได้ไว้ ดังนั้นเมื่อมีไว้ไม่ได้ตามกฎหมายต้องระวังไว้ ซึ่งหากยังมีอยู่ก็เป็นมาตรา 72 ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นส่วนตัวคิดว่าก็ควรหยุดแค่มาตรา 66 เพราะเงินประโยชน์อื่นใดรับไม่ได้ ซึ่งการกู้กันเองก็เสมือนเป็นการบริจาค โดยถ้าไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ต้องวินิจฉัยว่าศาลใดเพื่อให้ดำเนินการต่อไป แต่เหตุใดศาลจึงไปถึงมาตรา 72 ยุบพรรค ก็อาจเพราะเมื่อวินิจฉัยว่าผิดมาตรา 72 แล้วจะไม่สั่งยุบพรรคได้หรือไม่ ไม่ตัดสิทธิการเมืองก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าผิดมาตรา 72 แล้วต้องเป็นไปตามมาตรา 92 สุดท้ายความด้วยความเคารพ ก็บ่อยครั้งศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยตีความและตัดสินหลายๆ กรณีความรัดกุมในการเขียนคำวินิจฉัย ข้อความคิดทางกฎหมายยังทำให้เป็นที่ถกเถียงกันได้ค่อนข้างมาก และท้ายที่สุดด้วยความเห็นใจศาลรัฐธรรมนูญบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฯ ยังมีช่องว่าง มีประเด็นที่ทวงติงกันได้ ส่วนคำถามที่ว่าในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากมีข้อผิดพลาดแล้วศาลจะต้องรับผิดชอบอย้างไรหรือไม่ 

"รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก" อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในทางวิชาการว่า ในส่วนของการตีความหมายนักกฎหมายก็ยังสามารถมองเห็นแตกต่างกันได้ ดังนั้นหากจะบอกว่าผิดหรือไม่คงตอบยาก แต่ถ้าจะมองในเรื่องมาตราฐานจริยธรรมเรื่องการทำหน้าที่ที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ก็อีกเรื่องหนึ่งและกฎหมายเรื่องการถอดถอนถ้าจะพิสูจน์ได้ โดย "ผศ.ดร.ปริญญา" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้มองถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ก็ควรให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งความยุติธรรมนอกจากจะทำให้เกิดแล้วต้องทำให้เห็นด้วย Justice  be done it must also be seen

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0