โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

3 ค่ายมือถือรุมจวกกสทช.คลื่น 700 MHz แพงกว่าต่างชาติ

Manager Online

อัพเดต 22 พ.ค. 2562 เวลา 09.55 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 09.55 น. • MGR Online

3 โอเปอร์เรเตอร์ พร้อมใจร้องกสทช.ราคาคลื่น 700 MHz แพงกว่านานาประเทศ ทั้งๆที่ยังไม่จำเป็นต้องรีบลงทุน ชี้หากต้องการมีเงินเยียวยาทีวีดิจิทัลต้องลดราคา และสามารถคืนคลื่นได้หากไปต่อไม่ไหว ด้าน 'ฐากร' ยอมรับ ราคาแพงกว่า 7-10 % จริง เหตุเป็นการจัดสรร ไม่ใช่การประมูลที่ราคาจะสูงขึ้นจากราคาเริ่มต้น ยันตอบยากว่าจะลดราคาได้หรือไม่ ต้องให้คณะทำงานพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อตอบคำถามประชาชนและฝ่ายตรวจสอบ เร่งสรุปจบภายใน 30 พ.ค.นี้ มั่นใจ 70 % มีผู้สนใจทั้ง 3 ราย

วันนี้ (22 พ.ค. 2562) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ซึ่งมีตัวแทนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์ ) ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส , บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค รวมถึงภาคผู้ผลิตอุปกรณ์ เครือข่าย นักวิชาการ ประชาชน ให้ความสนใจ โดยโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าราคาการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHzใบอนุญาตละ10 MHz ในราคา 17,584 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงเกินไป

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเป็นโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งที่ยื่นขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แต่ไม่ควรมีเงื่อนไขให้เข้าร่วมการจัดสรรคลื่น 700 MHz เมื่อดูคำสั่ง ม. 44 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว พบว่า คำสั่งไม่ได้บอก ว่ากสทช. ต้องมัดมือชกบังคับโอเปอเรเตอร์ต้องซื้อคลื่น 700 MHz และราคาที่กสทช. กำหนดก็แพงกว่านานาชาติ

เมื่อดูราคาเฉลี่ยการจัดสรรในทวีปยุโรปแล้ว พบว่าราคาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ในเอเชียอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาของประเทศไทยอยู่ที่ 17,584 ล้านบาท ดีแทคจึงขอให้กสทช.ทบทวนราคาและระยะเวลาจัดสรรให้เหมาะสมกว่านี้ และต้องการให้กสทช.เปิดเผยวิธีการคำนวณราคาของคลื่นดังกล่าวด้วย

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทรู กล่าวว่าจุดประสงค์ของ ม. 44 คือต้องการให้นำเงินของโอเปอเรเตอร์ไปช่วยเยียวยาทีวีดิจิทัล ถ้าเป็นเช่นนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า กสทช.ควรคิดค่าเยียวยามาเลยว่าต้องใช้จำนวนเงินเท่าไหร่ จากนั้นก็นำมาหารให้โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 700 MHz ไป เพราะราคาที่กสทช.คิดนั้นไม่ได้คิดมาจากพื้นฐานของอีโค ซิสเต็มส์ ยังไม่มีโมเดลในการหารายได้ หรือ หายูสเคสที่จะรู้ว่าคลื่นจะทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้อย่างไร ขณะที่ปีหน้าก็ยังไม่ใช่เวลาที่คลื่น 700 MHz จะหารายได้ ต้องรออีก 3 ปี น่าจะเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้กสทช.จะนำประเทศไทยไปเทียบกับประเทศสวีเดนไม่ได้ เพราะประชากรมีรายได้ต่างกัน การที่กสทช.ต้องคิดแพงเพราะกลัวสังคมจะกล่าวหาว่าเอื้อเอกชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะหากม.44 ออกมาแล้ว ไม่มีใครเข้ารับการจัดสรรคลื่น ม. 44 ที่ออกมาก็เป็นมาตรการที่ออกมาเสียเปล่า ที่สำคัญคือคลื่น 700 MHz คลื่นเดียวไม่สามารถสร้าง 5G ได้ อยากให้กสทช.นำคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 3500 MHz มาประมูลก่อน

ขณะที่นายสุเทพ เตมานุวัตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา เอไอเอส กล่าวว่า คลื่น 700 MHz ยังไม่มียูสเคสที่จะสามารถสร้างรายได้ในทางธุรกิจได้จริง เหตุใดกสทช.ถึงประเมินมูลค่าได้ การคิดราคาครั้งนี้ควรต่างจากคลื่น 900 MHz ที่มีลูกค้าเดิมอยู่แล้ว และรับรู้ได้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ ได้อย่างไร นอกจากนี้ในแง่ของการลงทุน 5G อย่างที่ทราบกันคือ ไม่สามารถใช้คลื่น 700 MHz คลื่นเดียวในการสร้างได้ จำเป็นต้องมีคลื่นสูง กลาง ต่ำ และ กสทช.จะต้องเปิดประมูลอีก การลงทุนก็ต้องตามมาอีก และหากวันหนึ่งโอเปอเรเตอร์ไม่มีเงินลงทุน ไปต่อไม่ไหว จะขอเงื่อนไขคืนใบอนุญาตได้หรือไม่ เพราะหากได้คลื่นมาก่อนเวลาที่เหมาะสมก็ต้องนำคลื่น 700 MHz ไปใช้งาน 4G ซึ่งก็ไม่จำเป็นเพราะเอไอเอสก็มีบริการครอบคลุมเกือบหมดแล้ว

ทั้งนี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยกร่างประกาศให้มีความสมบูรณ์ โดยกสทช.ขอรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงร่างฯให้สมบูรณ์ โดยสิ่งใดที่สามารถนำไปแก้ไขได้จะนำไปดำเนินการ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติคงปรับปรุงแก้ไขให้ไม่ได้

ดังนั้นเรื่องของราคาการจัดสรรคลื่น 700 MHz นั้น ยังบอกไม่ได้ว่าจะลดราคาหรือไม่ลดราคา เพราะสิ่งที่คณะทำงานกำหนดคิดบนพื้นฐานการจัดสรรคลื่น ไม่ใช่การประมูล จึงจำเป็นต้องสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น 7-10 % แต่หากจะลดราคาก็ลดได้แค่ 7-10 % เท่านั้น ซึ่งคณะทำงานก็ต้องมีเหตุผลรองรับว่าเหตุใดถึงต้องลด เพราะ กสทช.ต้อง ทำงานเป็นกลาง ต้องรับฟังทั้งเอกชน ประชาชน และหน่วยงานที่ตรวจสอบด้วย

ส่วนประเด็นที่ให้กสทช.มีการจัดประมูลคลื่น 2600 MHz ก่อนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องทำตามกระบวนการประมูล เวลาไม่ทัน ที่จะประมูลก่อนการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องที่โอเปอเรเตอร์กังวลว่าการก้าวสู่ยุค 5G ต้องมีคลื่นในมือ 200 MHz ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 55 MHz และจะต้องลงทุนประมูลไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบนั้น กสทช. คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่ากังวล เพราะกสทช.มีแผนนำคลื่นย่าน 26-28 GHz มาประมูลอยู่แล้วซึ่งคลื่นนี้มีถึง 3,000 MHz สามารถเสริมให้โอเปอเรเตอร์ไปถึง 5G ได้อย่างแน่นอน

'ประเด็นเหล่านี้ เราต้องกลับไปให้คณะทำงานสรุปอีกครั้งหนึ่ง เรื่องทุกอย่างต้องจบภายใน 30 พ.ค.นี้ เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 หรือ 2 มิ.ย. ตอนนี้ผมมั่นใจ 70 % ว่าทั้ง 3 รายจะมารับการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งหลังจากนี้ผมต้องพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์อีกครั้งหนึ่ง' นายฐากร กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0