โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

3 คุณแม่ไฮโซตื่นเต้นไปกับลูกๆ หลังจัดคลาสเรียนออนไลน์ให้เร้าใจ!?

Manager Online

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 02.46 น. • MGR Online

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนวันเปิดเทอมจากช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงผุดไอเดียให้มีวิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือที่กำลังเป็นข่าวดังโครมครามอยู่ในโลกโซเชียลทุกวันนี้คือ “การเรียนการสอนออนไลน์” ซึ่ง Celeb Online จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปฟังวิธีการจัดตารางเรียนออนไลน์ของบรรดาคุณแม่คนดัง ว่าเขามีวิธีการจัดสรรเวลาให้ลูกๆ ในการเรียนออนไลน์กันอย่างไร และแต่ละคนจะมีวิธีรับมือกับคำถามที่ลูกๆ ไม่เข้าใจระหว่างการเรียนอย่างไร?

เริ่มที่ “แป้ง-สีวลี ตรีวิศวเวทย์” ภริยาของ ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ (บุตรของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ซีอีโอของ CK) ที่ผันตัวเองจากงานประจำมาทำหน้าที่เป็นคุณแม่ ดูแลลูกน้ำทั้ง 5 ที่อยู่ในวัยกำลังเรียน อย่าง น้ำวุ้น-วาลิกา, น้ำขิง-อคิราภ์, น้ำโขง-หงสา, น้ำคาน-นาฬา และ น้ำมนต์-นาคินทร์ โดยแม่แป้งเล่าว่า ในทุกวันนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยขึ้นจากเดิมอีกเป็นเท่าตัว แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ ที่ตัวเธอเองมีโอกาสได้อยู่กับลูกๆ และเรียนรู้ไปกับลูกๆ อันเป็นห้วงเวลาที่คนเป็นแม่มีความสุขที่สุดในชีวิต ที่ได้เห็นลูกๆ เติบโตไปพร้อมกันอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยตัวเธอเองก็มีวิธีจัดสรรตารางเรียนให้ลูกๆ ทั้ง 5 เรียนทางออนไลน์ได้อย่างลงตัว ในแต่ละสไตล์ที่ต่างกันแต่ละช่วงวัย

“แป้งไม่ได้จัดสรรเวลาอะไรที่เป็นทางการมาก เรามีลูก 5 คน คนโตอายุ 16 ปี คนรองอายุ 14 ปี ลูกทั้งสองคนนี้เขาจะจัดสรรเวลาได้เองอยู่แล้ว ประกอบกับ คุณครูเองก็สั่งการบ้านลูกผ่านทางออนไลน์ ซึ่งลูกๆ ก็ทำส่งคุณครูตามที่ส่ง แต่มีบางครั้งที่ลูกทำส่งไม่ทัน ทางคุณครูก็จะมีอีเมลมาที่เรา ว่าน้องยังไม่ได้ส่งการบ้านวิชานี้ เราก็จะถามลูกว่าทำไมยังไม่ส่งการบ้าน ซึ่งลูกก็จะบอกเราว่าทำไม่ทัน เราเองก็มีหน้าที่อธิบายกับลูกว่า ถ้าหนูทำงานที่คุณครูสั่งไม่ทัน ต้องสื่อสารบอกความจริงกับคุณครูว่าทำงานไม่ทัน

ส่วนลูกอีก 2 คน ที่กำลังเรียนอยู่ในระดับ Year 3 หรือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และYear 6 หรือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นั้น คุณแม่แป้งบอกว่า ต้องจัดสรรโต๊ะกินข้าวภายในบ้าน ให้กลายเป็นโต๊ะเรียนหนังสือออนไลน์ให้ลูกๆ ทั้ง 2 คน โดยเธอจะรับหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง คอยอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่ลูกๆ ฟังคุณครูสอนในออนไลน์แล้วไม่เข้าใจ

“แป้งจะให้ลูกๆ ตั้งไอแพดที่โต๊ะกินข้าว และเปิดเรียนตามตารางที่คุณครูกำหนดมา ซึ่งระหว่างนั้นเราก็จะนั่งอยู่ข้างๆ เขาสะสางงานต่างๆ ไปพลางๆ เมื่อลูกฟังคุณครูอธิบายไม่เข้าใจตรงไหน เขาก็จะถามเรา เราก็จะอธิบายให้ลูกฟัง แต่ถ้าเราอธิบายแล้วลูกก็ยังไม่เข้าใจ เราก็จะเปิดยูทูปหาสิ่งที่ลูกสงสัยแล้วเปิดให้เขาฟังจนเข้าใจ ซึ่งในแต่ละวันช่วงเวลา 14.30 น. เด็กๆ ต้องส่งการบ้านให้คุณครูที่โรงเรียนตรวจ แต่ก่อนส่งให้คุณครู ลูกๆ ก็จะต้องส่งให้แป้งตรวจทานความเรียบร้อยก่อน แต่ไม่ได้เป็นการตรวจว่าผิดหรือถูกนะคะ เป็นการตรวจทานความเรียบร้อยว่า ลูกเขียนหนังสือเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งช่วงเวลาบ่ายสองโมง เด็กก็จะกุลีกุจอส่งการบ้านมาให้เราตรวจ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากอีกเช่นกัน ที่เราได้เห็นลูกๆ มีความกระตือรือร้นในการส่งการบ้านคุณครู”

แต่ที่ถือว่าเป็นงานหินสุดๆ สำหรับคุณแม่แป้งคือ การสอนลูกคนสุดท้องน้องน้ำมนต์ ที่กำลังจะเข้าเรียนชั้นอนุบาลในปีการศึกษานี้ แต่เมื่อมาเจอเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ต้องหยุดอยู่ที่บ้าน เพื่อเรียนรู้ผ่านออนไลน์ ซึ่งเด็กวัยนี้เป็นวัยที่เราต้องทุ่มเทมากที่สุด เพราะยังไม่สามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิชาการได้ นอกจากการเสริมทักษะการเรียนรู้ไปพลางๆ

“ลูกคนเล็กนี้เราจะขอเวลาวันละ 1 ชั่วโมง ในการอยู่ในห้องกับลูกสองคนและเปิดไอแพดให้เขาฟังคุณครูสอนออนไลน์ ในช่วงแรกคุณครูก็จะเล่านิทานให้ฟัง และพอคุณครูเล่าจบเราก็จะให้ลูกเล่าให้ฟัง ซึ่งก็เล่าถูกบ้างไม่ถูกบ้างเพราะฟังไม่ทัน เราจึงส่งอีเมลไปหาคุณครูว่า อยากให้สแกนนิทานที่สอนลงในออนไลน์ด้วยเราจะได้เอามาให้ลูกดูภาพตามแล้วจินตนาการตาม ปรากฏว่าคุณครูสสแกนภาพลงมาในออนไลน์ ลูกสามารถเล่านิทานได้ถูกต้อง และจำแนกสัตว์แต่ละประเภทตามที่เห็นในภาพได้ จากนั้นเราก็ยกตัวอย่างสัตว์วันละตัวมาให้ลูกๆแต่งประโยคเกี่ยวกับสัตว์ประเภทนั้น ซึ่งลูกก็สามารถทำได้”

เมื่อถูกคำถามจี้ใจว่า การสอนออนไลน์นั้นเป็นการผลักภาระการสอนมาให้ผู้ปกครองหรือไม่ คุณแม่สุดสตรองบอกด้วยน้ำเสียงสดใสว่า ไม่มีใครต้องการให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ที่สำคัญ เป็นปัญหาที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น ตอนนี้ทุกภาคส่วนต่างต้องทำงานหนัก เราในฐานะที่เป็นคุณแม่ เป็นผู้ปกครองที่เป็นครูคนแรกของลูกอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอน เพื่อให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีอย่างรวดเร็ว

“ตัวแป้งเองอาจไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสชนิดนี้โดยตรง เพราะเราไม่ได้ทำงานประจำอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือการดูแลลูกๆ แต่เท่าที่เห็นสามีที่เป็นผู้บริหาร ต้องรับภาระความรับผิดชอบสูงมากๆ จากเหตุการณ์นี้ ซึ่งแป้งคิดว่าทางโรงเรียนเองเขาก็คงได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะยังคงต้องจ่ายเงินเดือนคุณครู และพนักงานคนอื่นๆ และแป้งก็หวังว่า เงินค่าเทอมที่เราจ่ายให้ลูกๆ ไปทางโรงเรียนจะจ่ายเงินเดือนคุณครูครบเช่นกัน ในสถานการณ์แบบนี้เราต้องคิดในทางบวกไว้ก่อนเสมอ เพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น เราทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะเราเองก็คือครูคนแรกในชีวิตของลูกอยู่แล้ว ทุกภาคส่วนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น เราจึงต้องทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุด พวกเราทุกคนต้องผ่านพ้นมันไปให้ได้” คุณแม่แป้ง เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ขณะที่ คุณแม่เอ็มซีคิวทองแห่งยุค “หนิง-ศรัยฉัตร จีระแพทย์” ที่ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน น้องเบลล่า-กุญช์จารี จีระแพทย์ วัย 12 ปี ก็ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านเช่นเดียวกัน ซึ่งแม่หนิงบอกว่า หน้าที่หลักของเธอคือการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยจัดตารางเรียนและกิจกรรมให้ลูกทำในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เบื่อที่ต้องนั่งเรียนหน้าคอมฯ ตลอดเวลา

“เราโชคดีตรงที่ว่า ลูกโตแล้วเขาสามารถรับผิดชอบตัวเองในเรื่องการเรียนได้ แต่เราก็จะต้องคอยถามเขาในแต่ละวันว่า เรียนวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง คุณครูสอนเรื่องอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าเรียนคนเดียว หรือบางทีเราก็จะเข้าไปส่องเวลาที่ลูกเรียนออนไลน์กับคุณครู ว่าลูกเข้าห้องเรียนตามเวลาที่คุณครูกำหนดไว้หรือไม่ แต่หน้าที่หลักของเราคือ การจัดตารางแล้วแปะไว้ที่ห้องลูก ว่าวันนี้ต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง หยุดพักรับประทานอาหาร ทำกิจกรรมส่วนตัว และต้องไปเรียนเต้นตอนกี่โมง น้องเบลล่ายังต้องเรียนคอร์สเต้นรำอยู่ เพราะต้องสอบเต้นเป็นประจำทุกปี เราก็ต้องพยายามช่วยลูกจัดสรรเวลาตรงนี้ให้ได้”

ตลอด 2 เดือนที่น้องเบลล่าต้องเรียนหนังสือออนไลน์อยู่ที่บ้าน แม่หนิงบอกว่า เหตุการณ์นี้ได้ให้ประสบการณ์ในชีวิตของทุกคนหลายอย่างเช่นกัน โดยเฉพาะ การที่ได้เรียนรู้ว่าทำไมนักเรียนถึงต้องไปโรงเรียน

“ตอนแรกๆ ที่น้องเบลล่าเรียนออนไลน์ก็มีติดขัดอยู่บ้าง เพราะเป็นการเรียนทางเดียว โดยคุณครูก็จะอัดเทปแล้วสอนผ่านออนไลน์ ไม่มีการตอบโต้กัน ซึ่งบางเรื่องราวเด็กก็อาจมีข้อสงสัย แต่จากนั้นโรงเรียนมีแอปซูมมีตติ้ง คือให้คุณครูและเด็กสื่อสารเห็นหน้ากันระหว่างเรียนออนไลน์ ซึ่งเท่าที่สังเกต น้องเบลล่าก็ดูสนุกกับการเรียนมากขึ้น เพราะเขาได้เห็นหน้าเพื่อนๆ เห็นหน้าคุณครู ทุกคนมีปฏิสัมพันธ์กัน ทำให้การเรียนดูสนุกขึ้น ดังนั้นเหตุการณ์นี้ทำให้น้องเบลล่าเข้าใจได้ว่า ทำไมเราต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เพราะเขาจะได้เจอเพื่อนๆแลกเปลี่ยนความรู้กัน หรือได้เจอคุณครู เมื่อมีคำถามที่สงสัย สามารถซักถามได้ทันที” แม่หนิงแจกแจง

ปิดท้ายที่คุณแม่ลูกสอง “กี๋-วิสทา กุญชร ณ อยุธยา” ที่มีลูกรัก อย่าง น้องเอรา วัย 10 ปี และน้องไอยรินทร์วัย 8 ขวบ อยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ ดังนั้น ช่วงนี้คุณแม่กี๋จึงต้องจัดตารางเรียนออนไลน์ให้ลูกๆ ด้วยตัวเองทุกอย่าง

“ในแต่ละวันเราจะจัดตารางเรียนออนไลน์ให้ลูกๆ เพียงวันละ 50 นาทีเท่านั้น เพราะกี๋คิดว่าการที่ให้เด็กวัยนี้นั่งหน้าจอนานๆ เขาอาจจะเบื่อหรือไม่มีสมาธิในการเรียนเลยก็ได้ และวิชาที่เราให้เขาเรียนผ่านออนไลน์คือ วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาดนตรีเท่านั้น นอกนั้นในช่วงบ่ายเราก็จะให้เด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมกับคุณพ่อ ซึ่งคุณช้างน้อย (สามี) เขาก็จะจัดกิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก และปลูกพืชผักสวนครัว โดยให้เด็กๆ ได้ทดลองทำปุ๋ยหมักและปลูกผักไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในบ้านแล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะในการใช้ชีวิตให้กีบเด็กๆ อีกด้วย” คุณแม่คนเก่งอธิบายปิดท้าย

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0