โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

3 อ ที่มักทำให้เราตัดสินใจผิดๆ

nuttaputch

อัพเดต 03 มิ.ย. 2563 เวลา 10.06 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 10.06 น. • nuttaputch.com

ในชีวิตของเรานั้น มีเรื่องราวมากมายให้ตัดสินใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะตัดสินใจให้ดีเพราะถ้าหากเลือกสิ่งที่ทำผิดแล้วก็จะส่งผลให้เราค่อนข้างมาก แถมบางครั้งก็อาจจะส่งผลกระทบกับชีวิตเราเลยก็ว่าได้

นั่นจึงไม่แปลกที่มีการพูดบ่อยๆ ว่าทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตหรือแม้แต่ในการทำงานก็คือการตัดสินใจนี่เอง ยิ่งถ้าทำงานในระดับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหาร ด้วยแล้วล่ะก็ การตัดสินใจก็ถือเป็นหนึ่งในงานหลักที่ต้องทำพร้อมกันการแบกรับความรับผิดชอบอะไรไว้มากมาย

 

แต่ถึงกระนั้นแล้ว ทำไมเราจึงมักตัดสินใจกันผิดๆ อยู่หลายครั้ง ทำไมในหลายสถานการณ์กลับเกิดการตัดสินใจที่ดูแล้วต้องถามว่า “คิดกันได้อย่างไร” “ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น” กันล่ะ?

เรื่องแบบนี้เองที่นำไปสู่การตั้งคำถามและสำรวจพฤติกรรมการตัดสินใจของคนว่าเกิดอะไรขึ้นจนทำให้เราตัดสินใจกันไปแบบนั้น ซึ่งเมื่อรวบรวมสาเหตุต่างๆ แล้ว เราก็มักจะพบ อ สามอย่างที่มักเป็นสาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจเราผิดเพี้ยนไป

อารมณ์

 

เรามักพูดกันบ่อยๆ ว่าเวลาตัดสินใจอะไรนั้นอย่าใช้อารมณ์ (ถ้าไม่รู้เท่าทัน) เพราะอารมณ์อาจจะทำให้เรามองข้อเท็จจริงบางอย่างผิดเพี้ยนไป เวลาเราอารมณ์ดีแล้วอะไรๆ มันก็ดูดีจนเราไม่ทันระวัง ปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ ขณะที่เวลาอารมณ์เสียก็จะหุนหัน รีบตัดสินใจจนทำให้มองข้ามหลายๆ เรื่องไปด้วยเช่นกัน

อันที่จริงแล้ว การใช้อารมณ์ประกอบการตัดสินใจ (บ้าง) ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ถ้าเราปล่อยให้อารมณ์นำทุกอย่างจนไม่มีเหตุผลก็จะกลายเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะมันจะกลายเป็นว่าการตัดสินใจนั้นทำไปเพื่อต้องการปลดปล่อยอารมณ์ บ้างก็สนองอารมณ์นั้นๆ ที่พอภายหลังอารมณ์หายไปก็อาจจะบ่นกันได้ว่า “ไม่น่าตัดสินใจแบบนั้นไปเลย”

ฉะนั้นแล้วเราก็ควรจะฝึกฝนในการรู้เ่ท่าทันอารมณ์ รู้ตัวว่าตอนนี้เรามีอารมณ์แบบไหนเพื่อให้ประเมินสถานการณ์ได้ว่าควรจะรีบตัดสินใจตอนนี้ไหม หรือควรจะรออีกสักพักให้อารมณ์ปรับตัวมาก่อนแล้วค่อยกลับมาตัดสินใจอีกรอบ เป็นต้น

อีโก้

 

ความมั่นใจตัวเองที่มากเกินไปก็สามารถกลายเป็นกำแพงใหญ่ที่ทำให้เรามองไม่เห็นความคิดอื่นๆ เอาได้ง่ายๆ ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจต่างๆ นั้นควรจะมองให้เห็นโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของตัวเราเองหรือความเห็นของผู้อื่น เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้คิด “รอบด้าน” กันแล้ว

แต่เอาเข้าจริงแล้ว การมีอีโก้ประเภทว่าชั้นเป็นผู้จัดการ เราเป็นคนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง มีการศึกษาสูง ฯลฯ ทำให้เกิดการยกตัวขึ้นเหนือคนอื่น บ้างก็ทึกทักเอาว่าความคิดของเราดีที่สุดเพราะเรามีประสบการณ์ เป็นผู้เช่ียวชาญโดยไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจตรงหน้า

ด้วยเหตุนี้ คนท่ีจะตัดสินใจอะไรก็ควรจะลดอีโก้ของตัวเองลงเพื่อฟังความเห็นหรือมองด้วยมุมมองอื่นๆ การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ หรืออาจจะคิดผิดก็ช่วยทำให้เราสามารถสร้างโอกาสและตัวเลือกอื่นๆ ในการตัดสินใจได้มากขึ้น และหลายๆ ครั้งมันก็ทำให้เรามีตัวเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยซ้ำ

อคติ

 

นอกจากเรื่องความมั่นใจในตัวเองแล้ว การมีทัศนคติต่อบางเรื่องหรือบางคนก็กลายเป็นอีกกำแพงใหญ่ที่ทำให้เรามองไม่เห็นความจริงตรงหน้าเช่นกัน ประเภทว่าถ้าคนนี้เสนอมาเราไม่ฟัง คนนั้นไม่เก่งเลยไม่สนใจ ฯลฯ ซึ่งนั่นเลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจโดยไม่ฟังความเห็นให้ถี่ถ้วน

จะว่าไปแล้ว อคตินี่มีส่วนมากๆ ที่ทำให้เรามองข้ามความเห็นหรือข้อมูลสำคัญๆ เพียงเพราะมันมากจากแหล่งที่เรามีอคติ เช่นมาจากเพจที่เราไม่ชอบ คนพูดเป็นคนที่เราไม่ถูกใจ ทำให้เราประเมินไปเสียว่าข้อมูลนั้นไม่ควรนำเอามาพิจารณา หรือถ้าเอาหนักๆ เลยก็คือการคิดว่าตัดสินใจแบบนี้จะทำให้คนที่เราอคติไว้ได้ประโยชน์ ได้หน้า ก็เลยเลือกทางเลือกอื่นแทนเสียอย่างนั้น

ในบรรดา 3 อ นั้น อคติเป็นสิ่งที่ปลดได้ไม่ง่ายนัก เพราะมันเกิดขึ้นจากพื้นฐานของการเกลียดหรือไม่ชอบอะไรบางอย่างในขณะที่สองข้อแรกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองเสียมากกว่า แต่นั่นก็ทำให้เราต้องให้ความสำคัญและหมั่นสำรวจตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเรากำลังตัดสินใจโดยมีอคติอะไรอยู่หรือไม่ และอคติดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจนี้มากน้อยแค่ไหน

 

——————————————

 

แน่นอนว่าการจะให้ 3 อ ดังกล่าวนั้นหายไปเลยเป็นเรื่องที่ได้ยาก แต่สิ่งแรกๆ ที่เราต้องทำกันให้ได้เสียก่อนก็คือการยอมรับว่าเราอาจจะข้อบกพร่องที่ใช้ 3 อย่างนี้เข้ามาในการตัดสินใจ ซึ่งเมื่อเรารู้เท่าทันตัวเองแล้วก็จะได้ปรับแก้ไขต่อไปได้นั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0