โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

3 จุดต้องจัดการให้ดีสำหรับ ครัวไทย ในรั้วบ้าน

MThai.com

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 09.56 น.
3 จุดต้องจัดการให้ดีสำหรับ ครัวไทย ในรั้วบ้าน
ทำอย่างไรให้ครัวไทยอยู่ในบ้านของเราได้อย่างสันติกับทั้งคนปรุงและคนชิม

อาหารไทยตัดขาดจากชีวิตคนไทยไม่ได้ แต่ด้วยวิธีการประกอบอาหารที่ต้องใช้ไฟแรงสูง บวกกับเครื่องปรุงร้อนแรง ทำให้หลายบ้านต้องยก ครัวไทย ออกมาไว้นอกบ้าน แต่พอต้องยกออกมาตั้งนอกบ้านก็ต้องเจอกับปัญหาอีกร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะห่างจากรั้วบ้านและเพื่อนบ้าน โครงสร้างที่ต้องต่อเติมเพิ่มค่าใช้จ่าย ก็ทำเอาปวดหัวเหมือนกัน

เราเลยขอชวนคุณมาดูว่า ทำอย่างไรให้ครัวไทยอยู่ในบ้านของเราได้อย่างสันติกับทั้งคนปรุงและคนชิม

3 จุดต้องจัดการให้ดีสำหรับบ้านที่มี ครัวไทย

ระบายกลิ่น
ระบายกลิ่น

1. ระบายกลิ่น ระบายอากาศ
อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกว่า เรื่องกลิ่นเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของครัวไทย ห้องครัวจึงควรมีหน้าต่างสำหรับระบายกลิ่นและอากาศ ทำงานไปพร้อมกับเครื่องดูดควันสำหรับครัวไทยโดยเฉพาะ ซึ่งมีประสิทธิภาพและกำลังความแรงของการดูดกลิ่นฉุนได้สูงกว่า

อีกส่วนที่จะช่วยในการระบายอากาศนั่นคือแสงแดด เพราะเป็นผู้ฆ่าเชื้อโดยธรรมชาติชั้นดีที่ทำให้ห้องครัวปลอดจากกลิ่นทั้งจากอาหารและกลิ่นอับชื้น เนื่องจากครัวเป็นส่วนที่ต้องเปียกอยู่ตลอดเวลา ทิศทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน้าต่างห้องครัวจึงเป็นทิศตะวันตก เพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามาได้ในช่วงบ่าย พร้อมระบายกลิ่นออกนอกบ้านในเวลาเดียวกัน

พื้นผิวภายในครัว
พื้นผิวภายในครัว

2.พื้นผิวภายในครัว
ไม่ว่าจะเป็นครัวแบบไหน เรื่องสำคัญคือพื้นผิวที่ต้องทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อสุขอนามัยของทั้งคนกินและคนทำ พื้นผิวของครัวทุกส่วนควรทำความสะอาดง่าย กระเบื้องจึงเป็นวัสดุที่แนะนำสำหรับทุกจุดภายในครัวไทยอีกส่วนสำคัญของพื้นผิว คือพื้น ควรเลือกพื้นกระเบื้องแบบไม่ลื่น ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อนจะดีที่สุด

ส่วนของเคาน์เตอร์ แนะนำเป็นเคาน์เตอร์ปูนจะดีที่สุด เพราะรองรับแรงกระแทกจากการทำอาหารแบบไทยได้ดีที่สุด ทั้งการตำ การโขลก การสับ อาจใช้การก่ออิฐเทคอนกรีตแบบที่นิยมในยุคก่อน หรือวัสดุสมัยใหม่อย่างอิฐมวลเบา และแผ่นคอนกรีตมวลเบาสำเร็จรูปสำหรับก่อเป็นเคาน์เตอร์ได้เช่นกัน โดยปิดผิวหน้าท็อปเคาน์เตอร์ด้วยกระเบื้อง หรือหินแกรนิต

ถังดักไขมัน
ถังดักไขมัน

3. กำจัดสิ่งปฏิกูล
หลังการทำอาหาร นอกจากคราบสกปรกที่ควรเช็ดออกทุกครั้งหลังใช้งาน ยังมีเรื่องของของเสียอย่างเศษวัตถุดิบ หรือน้ำเสียจากการล้างและทำความสะอาด ซึ่งจัดเป็นน้ำเสียประเภทน้ำโสโครก ที่จำเป็นต้องทำการดักไขมันก่อนส่งออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการติดตั้งถังดักไขมันแบบสำเร็จรูป ซึ่งมีทั้งแบบฝังไว้ในพื้นดินนอกบ้าน และประกอบต่อกับท่อใต้ซิงค์น้ำได้เลย ในถังประกอบด้วยตะแกรงสำหรับดักเศษอาหารชิ้นใหญ่ และส่วนดักไขมันที่เป็นตัวปัญหาทั้งเรื่องการหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็น หากสะสมกันมากเข้าก็ทำให้ท่ออุดตันไปอีก ถังดักไขมันมีให้เลือกทั้งแบบลอยตัว ตั้งได้เลยใต้อ่างล้างจาน หรือแบบฝังดิน ซึ่งขนาดของถัง (ลิตร) ที่สัมพันธ์กับปริมาณการใช้งานนั้น สามารถปรึกษากับทางผู้จำหน่าย ซึ่งจะมีตารางคำนวณแบบสำเร็จรูป

ที่สำคัญขณะใช้งาน อย่าลืมทำความสะอาดถังดักไขมัน สัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดกลิ่นรบกวน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน

ทำความสะอาด
ทำความสะอาด

อย่าลืมให้ความสำคัญกับห้องครัวมากๆ ทั้งก่อนและหลังใช้งาน เพื่อความสุขและสุขอนามัยที่ดีของทั้งครอบครัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0