โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

28 ล้านไร่เสี่ยงนํ้าท่วม อีสานหนักสุด-สทนช.ดึงทุกฝ่ายทำแผนรับมือ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 07.40 น.

 

สทนช.เปิดพื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วมซํ้าซากทั่วประเทศ 28 ล้านไร่ อีสานมากสุด 11.7 ล้านไร่ เตรียมระดมทุกหน่วยงานประชุมรับมือ 27 พ.ค.นี้ ขณะสถานการณ์ล่าสุดเขื่อนใหญ่-กลาง 177 แห่งวิกฤติ นํ้าไม่ถึง 30% ของความจุ แล้งปีหน้านํ้าไม่พอทำนา

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยปี 2562 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 จากเริ่มมีฝนตกชุกต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่เป็นประจำทุกปีจะมีปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากสภาพการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป เกิดการขยายตัวในเขตเมืองมีชุมชนเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือสทนช. จำเป็นที่จะต้องคลอดแผนป้อง กันนํ้าท่วมซํ้าซากและนํ้าหลากในปี 2562

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ(สทนช.) เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลงานวิจัยที่ทาง สทนช.ได้จ้างจัดทำขึ้นเพื่อใช้ทำแผนแม่บทแก้ปัญหาพื้นที่นํ้าท่วมซํ้าซากนั้น จากข้อมูลในปีนี้มีพื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วมทั้งประเทศ 28.11 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 5.13 ล้านไร่(กราฟิกประกอบ) อาทิ ลุ่มนํ้าอิง เชียงใหม่-ลำพูน,ลุ่มนํ้าปิงตอนล่าง, ลุ่มนํ้ายมตอนบน เป็นต้น ภาคกลาง  8.07 ล้านไร่ อาทิ ลุ่มนํ้าป่าสัก ลุ่มนํ้าเพชรบุรีและลุ่มนํ้าปราจีนบุรี รอบเมืองนครสวรรค์ กรุงเทพฯ เป็นต้น

 

 

 

 

       

 

 

ภาคตะวันออก 1.52 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วม อาทิ ลุ่มนํ้าบางปะกง-ลุ่มนํ้าปราจีนบุรี เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.75 ล้านไร่ อาทิ ลุ่มนํ้าโขงตอนบน, ลุ่มนํ้าห้วยหลวง, ลุ่มนํ้าชีตอนล่าง เป็นต้น และภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 1.26 ล้านไร่ อาทิ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ ธานี เป็นต้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนปี 2562 คาดจะใกล้เคียงกับปี 2550 มีอ่างเก็บนํ้าที่น่าเป็นห่วงคือ อ่างเก็บนํ้าศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีความจุ 79% ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝนค่าเฉลี่ยปีนี้เท่ากับปี 2550 จากฝนน้อย โดยเดือนพฤษภาคมจะมีปริมาณฝนตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 25% เดือนมิถุนายนใกล้เคียงค่าเฉลี่ย เดือนกรกฎาคม ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 25% รวม 3 เดือนตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 10% ขณะที่คาดจะมีพายุเข้าไทย 1-2 ลูกในปีนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

 

 

 

ส่วนสถานการณ์นํ้าในเขื่อนที่มีปริมาณนํ้าน้อยไม่ถึง 30% ของความจุ มี 177 แห่ง เสี่ยงวิกฤติขาดแคลนนํ้าทำนาในฤดูแล้งปีหน้าหากฝนปีนี้มาน้อยลง อย่างไรก็ดีในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าจะมีประชุมแผนรับมือการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์นํ้าในช่วงฤดูฝน พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง การให้ความช่วยเหลือ แนวทางการแจ้งเตือน จัดทำฐานข้อมูลแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมทั้งการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน

สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2562ปริมาตรน้ำในอ่างฯรวม  4.02 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 53% ของความจุ ปริมาตรน้ำใช้การได้ 1.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ปริมาตรน้ำเมื่อเทียบกับปี 2561 น้อยกว่า จำนวน 5,980 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 3.58 หมื่นล้านลูกบาศ์เมตร
 

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่จุดเฝ้าระวัง 56 จุด และจุดเสี่ยงอีก 14 จุด ซึ่งแผนการรับมือฝน และเร่งระบายน้ำ จะใช้สถานีเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนที่จะเข้าแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำจุด และปฏิบัติตามแผนระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ลอกท่อระบายน้ำ ทั้ง 6,400 กิโลเมตร และคูคลองอีก 1,682 คลองไว้พร้อมระบายน้ำแล้ว รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเฝ้าระวังและจุดเสี่ยง แต่ละพื้นที่ไว้แล้ว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3473 วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0