โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

24 สิงหาคม 2549 ดาวพลูโตกลายเป็น “อดีต” ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 24 ส.ค. 2566 เวลา 04.06 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2566 เวลา 19.44 น.
ภาพปก-พลูโต
ดาวพลูโต (ภาพจาก pixabay.com - public domain)

24 สิงหาคม 2565 นี้ เป็นปีที่ 16 ที่“ดาวพลูโต” ถูกปลดออกจาก “ดาวเคราะห์” ในระบบสุริยะ แต่ก่อนอื่นเราควรมารู้จักดาวพลูโตกันก่อน

เพอร์ซีวาล โลเวลล์ นักดาราศาสตร์อเมริกันตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนที่ดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส ถูกรบกวนจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ซึ่งเขาสันนิษฐานว่า อาจเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ และพยายามค้นหาดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่นาน 11 ปี โดยไม่พบอะไร จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปใน พ.ศ. 2459

ใน พ.ศ. 2472 หอดูดาวโลเวลล์ ซึ่งโลเวลล์เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ได้ริเริ่มโครงการค้นหาดาวเคราะห์ลึกลับอีกครั้ง มีการจ้างเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาทำหน้าที่ค้นหาโดยเฉพาะ ไคลด์ ทอมบอก์ ใช้เวลาราวปีกว่ากับกล้องขนาด 33 เซนติเมตรและเครื่องวัดเทียบกะพริบ จนกระทั่งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 เขาก็ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ หอดูดาวได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่เก้าของระบบสุริยะในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบปีที่ 75 ของโลเวลล์พอดี

ส่วนชื่อ “พลูโต” มาจากการเสนอของเด็กสาวชาวอ็อกฟอร์ดคนหนึ่งชื่อ เวเนเทีย เบอร์เนย์ พลูโตเป็นชื่อเทพแห่งใต้พิภพของโรมันผู้ล่องหนได้ เหตุผลดีอีกข้อหนึ่งที่ชื่อนี้ได้รับเลือกก็คือ อักษรสองตัวแรกของชื่อพลูโตคือ พี-แอล ตรงกับอักษรนำของชื่อและสกุลของโลเวลล์ จึงเป็นการให้เกียรตินักดาราศาสตร์คนสำคัญคนนี้ด้วย

ดาวพลูโตมีบรรยากาศหนามากถึงกว่า 300 กิโลเมตร เทียบกับโลกแล้ว บรรยากาศของโลกหนาเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น, การหมุนรอบตัวเองของดาวพลูโตเอียงถึง 120 องศา (โลกเรามีแกนหมุนเอียง 23.5 องศา) นั่นหมายถึงดาวพลูโตหมุนสวนทางกับการโคจรในระบบสุริยะ มีเพียงดาวพลูโตและดาวยูเรนัสเท่านั้นที่หมุนแบบเอียงข้างแบบนี้ การที่ดาวพลูโตมีแกนเอียงมากเช่นนี้ เป็นหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีว่าดาวพลูโตเคยถูกพุ่งชนครั้งใหญ่มาก่อน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU General Assembly) ณ กรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก เดือนสิงหาคม ปี 2549 มีการหาข้อสรุปนิยามคำว่า “ดาวเคราะห์” ใหม่ ซึ่งทำให้ “ดาวพลูโต” สูญเสียสถานภาพการเป็นดาวเคราะห์ที่ดำเนินมา 76 ปี ขณะนี้ระบบสุริยะของเราจึงมีดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง

ก่อนการประชุมในปี 2549 กรรมการบริหารของไอเอยูได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการนิยามดาวเคราะห์ (Planet Definition Committee — PDC) เพื่อพิจารณาปัญหาความคลุมเครือนี้มานานเกือบสองปีแล้ว ซึ่งประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ คณะกรรมการได้บรรลุข้อสรุปและมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ในนิยามคำว่า “ดาวเคราะห์” โดยนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในคราวนี้เพื่อให้สมาชิกได้พิจารณา

หลักใหญ่ข้อแรกของข้อเสนอที่คณะกรรมการได้นำเข้าที่ประชุมกำหนดนิยามว่า “ดาวเคราะห์” คือ วัตถุท้องฟ้าที่มีมวลมากพอที่แรงโน้มถ่วงจะทำให้มันอยู่ในภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium) โคจรรอบดาวฤกษ์โดยที่ตัวมันเองไม่เป็นทั้งดาวฤกษ์และดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดวงอื่น สาเหตุที่คณะกรรมการกำหนดนิยามเช่นนี้ เนื่องจากต้องการใช้ธรรมชาติในแง่ของความโน้มถ่วงเป็นแกนหลัก จากนิยามนี้แปลความหมายได้ว่าวัตถุนั้นต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์, โคจรรอบดาวฤกษ์, และมีรูปร่างเกือบเป็นทรงกลม

ข้อสอง แยกแยะความต่างกันระหว่างวัตถุอื่นที่เข้าข่ายข้อแรกออกจากดาวเคราะห์ 8 ดวง (ไม่รวมดาวพลูโต) ซึ่งมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เกือบเป็นวงกลมและโคจรอยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน อันจะทำให้ซีรีสซึ่งถือเป็น “ดาวเคราะห์น้อย” ในขณะนี้ ถูกยกขึ้นเป็นดาวเคราะห์ด้วย แต่อาจเรียกให้ต่างไปว่าดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์

ข้อสาม นอกจากกำหนดนิยามดาวเคราะห์แล้ว คณะกรรมการยังได้เสนอร่างมติกำหนดประเภทของวัตถุชนิดใหม่ในระบบสุริยะให้ที่ประชุมพิจารณาใช้อย่างเป็นทางการต่อไปโดยเรียกวัตถุประเภทใหม่นี้ว่าพลูตอน (pluton) มีดาวพลูโตเป็นวัตถุต้นแบบ ใช้กับวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบยาวนานกว่า 200 ปี

ข้อสี่ กำหนดให้วัตถุอื่นนอกเหนือจากข้อ 1-3 ถูกเรียกว่า “วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ” (Small Solar System Bodies) โดยยกเลิกศัพท์คำว่าดาวเคราะห์น้อย (minor planet)

ผลปรากฏว่าการหยั่งเสียงรอบแรก เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้นนี้ อันจะทำให้ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์เพิ่มเป็นอย่างน้อย 12 ดวง โดยวัตถุที่เข้ามาใหม่เพื่อชิงตำแหน่งดาวเคราะห์ ได้แก่ ซีรีส คารอน และ 2003 ยูบี 313

ซีรีส (Ceres) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบเป็นดวงแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 952 กิโลเมตร โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

คารอน (Charon) มีขนาด 1,205 กิโลเมตร เป็นวัตถุที่อยู่ในฐานะทั้งดวงจันทร์บริวารของดาวพลูโตและดาวเคราะห์สหายกับดาวพลูโต แม้ว่าดาวพลูโตจะใหญ่กว่าคารอน แต่นักดาราศาสตร์เรียกระบบพลูโต-คารอนว่าดาวเคราะห์คู่ (double planet) เนื่องจากมันดูเหมือนโคจรรอบกันและกันมากกว่าที่คารอนจะเป็นแค่ดาวบริวาร

2003 ยูบี 313 (2003 UB313) เป็นวัตถุที่เพิ่งค้นพบเมื่อปี 2546 แต่ประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการในปี 2548 มีขนาด 2,300-2,500 กิโลเมตรซึ่งใกล้เคียงหรือใหญ่กว่าดาวพลูโต

การประชุมในวันต่อๆ มาทำให้เกิดข้อเสนอใหม่โดยพุ่งประเด็นไปที่สถานภาพการเป็นดาวเคราะห์ของพลูโต ผลการโหวตในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม ปี 2549 ทำให้ดาวพลูโตถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) เช่นเดียวกับซีรีส

นิยามดาวเคราะห์ ตามข้อสรุปท้ายสุดแปลความหมายได้ว่า “ดาวเคราะห์” ในระบบสุริยะหมายถึงวัตถุที่ (1) โคจรรอบดวงอาทิตย์ (2) มีมวลมากพอที่ทำให้รูปร่างใกล้เคียงทรงกลม และ (3) ไม่มีวัตถุอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันและลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันอยู่ใกล้วงโคจร ส่วน “ดาวเคราะห์แคระ” หมายถึงวัตถุที่ (1) โคจรรอบดวงอาทิตย์ (2) มีมวลมากพอที่ทำให้รูปร่างใกล้เคียงทรงกลม (3) มีวัตถุอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันและลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันอยู่ใกล้วงโคจร และ (4) ไม่ใช่ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์

แม้ว่าปัจจุบันพลูโตจะถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์หลัก โดยลดชั้นลงเป็นดาวเคราะห์แคระ แต่ความจริงข้อหนึ่งก็คือมันยังเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การสำรวจอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

วรเชษฐ์ บุญปลอด. การประชุมกำหนดนิยาม ดาวเคราะห์, สมาคมดาราศาสตร์ไทย (http://thaiastro.nectec.or.th)

วิมุติ วสะหลายใหม่. “รู้จักพลูโต ก่อนจะไปถึงขอบฟ้า, สมาคมดาราศาสตร์ไทย (http://thaiastro.nectec.or.th)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0